ก้อนกดหยุดเลือด

ลักษณะนวัตกรรม                            เป็นผลงาน วิธีการ กระบวนการใหม่ หรือ องค์ความรู้ใหม่

 

ประเภทของนวัตกรรม                    นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์(Production Innovation)

 

ชื่อเจ้าของนวัตกรรม                      นางเปมิกา  ดอนสระน้อย และ  เจ้าหน้าที่หน่วยเปลี่ยนไตและไตเทียม

 

ชื่อหน่วยงาน / สังกัด                     หน่วยเปลี่ยนไตและไตเทียม งานการพยาบาลผู้ป่วยอายุรศาสตร์

 

ที่มาของการทำนวัตกรรม

                    จากสถิติการกดเลือดหยุดยากหลังจากถอดเข็ม AVF ,AVG เมื่อเสร็จสิ้นการทำ Hemodialysis ของหน่วยเปลี่ยนไตและไตเทียมพบว่า ยังมีอัตราการหยุดยากของหลอดเลือดสูงอยู่ร้อยละ 30 และ 45 ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุของการกดเลือดหยุดยากพบว่า เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือด (access stenosis)  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้การกดเลือดหยุดยากได้แก่ เจ้าหน้าที่ขาดความชำนาญโดยเฉพาะพยาบาลที่เข้ามาปฏิบัติงานใหม่ในหน่วยงาน และจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการใช้กดเลือดซึ่งใช้แผ่นผ้าก็อสปราศจากเชื้อโดยผู้ใช้ ต้องพับแผ่นผ้าก๊อสเป็นก้อนกลม ๆ ก่อนใช้กดเลือดทุกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะพับแผ่นผ้าก๊อสด้วยมือเพียงข้างเดียวทำให้ขนาดและความแน่นของก้อนผ้าก๊อสที่พับด้วยมือข้างเดียวหลวมไม่เหมาะสมในการกดทำให้มีเลือดไหลออกมากขึ้น และทำให้เป็นสาเหตุสำคัญของเลือดกดหยุดยาก

 

หลักการและแนวคิด

                      ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีความจำเป็นต้องมีทางนำเลือด (vascular access) ออกจากร่างกายเพื่อนำเลือดไปฟอกผ่านตัวกรองไตเทียม ทางนำเลือดแบ่งเป็นสองชนิดคือถาวร และชั่วคราว ทางนำเลือดถาวรมีอยู่ สองชนิดคือชนิดที่ใช้เส้นเลือดของผู้ป่วยเอง Arteriole venous fistula :AVF และ ชนิดที่ใช้หลอดเลือดเทียม (arteriole venous graft :AVG)

                      ขณะเริ่มฟอกเลือดจะมีการแทงเข็ม (AVF needle) เข้าไปใน vascular access และหลังเสร็จสิ้นกระบวนการฟอกเลือดจะต้องถอดเข็มออกซึ่งจะมีเลือดพุ่งออกมาด้วยแรงดันที่ค่อนข้างมากตามอัตราการไหลของเลือด (access flow: AVF มี access 600 ml/min ,AVG มี access flow 800 ml/min) เพราะฉะนั้นต้องมีการกดหยุดเลือดด้วยผ้าก๊อสสะอาดปราศจากเชื้อเพื่อให้เลือดหยุดไหล ตามแนวทางปฏิบัติของชมรมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย AVF ต้องกดนาน 10 นาที และ AVG ต้องกดนาน 15 นาที กดด้วยแรงปานกลางให้มีความรู้สึกว่ามีเลือดไหลผ่านและกดโดยที่ไม่มีเลือดไหลออกมาจากรอยเข็ม ปัญหาจากการกดที่ใช้แรงมากเกินไปอาจทำให้เกิดการสูญเสียของ vascular ได้ การกดที่ใช้แรงน้อยเกินไปทำให้เลือดไม่หยุดไหลซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยสูญเสียเลือดซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้ป่วยซีดลงได้อีก

                       หน่วยเปลี่ยนไตและไตเทียมจึงได้คิดนวัตกรรมก้อนกดหยุดเลือดสำหรับกดรอยเข็ม AVF needle หลังจากถอดเข็ม  โดยจะพับผ้าก๊อสห่อสำลีไว้ข้างในและม้วนเป็นก้อนกลม ๆ ปิดด้วยพลาสเตอร์ขนาดเล็กเพื่อยึดให้เป็นก้อนกดหยุดเลือดสำเร็จรูป และใส่ไว้ในชุดอุปกรณ์สำหรับการใช้กดหยุดเลือดจำนวน 3 ก้อน (สำรองไว้ 1 ก้อนกรณีต้องเปลี่ยนจะได้ไม่ต้องพับก็อสด้วยมือเพียงข้างเดียว) ก่อนที่จะส่งนึ่งตามปกติ

 

วัตถุประสงค์

          1. เพื่อให้สะดวกในการใช้ในการกดหยุดห้ามเลือดจากรอยแทงเข็ม AVF
          2. ลดระยะเวลาในการกดหยุดห้ามเลือด

 

 วันที่เริ่มต้นทำนวัตกรรม                            1 พฤษภาคม 2557

 

ระยะเวลาการดำเนินการ                          1 สัปดาห์

 

ขั้นตอนการดำเนินงาน

          1. พบปัญหาเลือดกดหยุดยากทำให้ผู้ป่วยสูญเสียเลือดเนื่องจากการกดที่ไม่มีประสิทธิภาพ
          2. ประดิษฐ์ก้อนกดหยุดเลือดสำเร็จรูป เพื่อสะดวกในการใช้งาน และช่วยให้กดหยุดเลือดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
          3. วิธีประดิษฐ์ก้อนกดหยุดเลือด

a.วางผ้าก๊อสไว้กับพื้นโต๊ะ วางสำลีบนผ้าก๊อสตรงมุมใกล้ตัวจากนั้นพันผ้าก๊อสไปจนถึงครึ่งแผ่นแล้วพับมุมด้านซ้ายหรือขวาขึ้นทับบนก้อนสำลี เก็บชายผ้าก๊อสให้อยู่บนก้อนสำลีให้หมด แล้วพันก็อสที่เหลือจนหมด เก็บชายให้เรียบร้อย และแปะด้วยพลาสเตอร์กันหลุด

                 

 

b.การพันแน่นเกินไปจะทำให้ก้อนแข็งยากต่อการใช้งานเพราะจะทำให้กดไม่ลงตรงตำแหน่งรอยเข็มที่ต้องการจะหยุดเลือด

c.การพันหลวมเกินไปก็ทำให้ไม่มีแรงดัน pressureในการกด และมีเลือดซึมออกมาที่ก้อนกด

d.การพันควรให้พอดีไม่แน่นหรือหลวมเกินไปพยายามตกแต่งด้านหนึ่งของก้อนก๊อสให้มีเป็นลักษณะป้าน ๆ เพื่อง่ายแก่การวางบนผิวหนังผู้ป่วย

e.การติดพลาสเตอร์ไม่ควรใหญ่เกินไปเพราะจะทำให้เสียพื้นที่ของก้อนกดควรติดให้เล็กที่สุดที่จะทำให้ก้อนกดคงรูปอยู่ได้

f.ควรใส่ก้อนกดอย่างน้อย 3 ก้อนในชุดอุปกรณ์กดเลือดกรณีมีการกดหยุดยากมาก ๆ และมีการเปลี่ยนก้อนกด

 

วิธีการดำเนินงาน / วิธีการใช้งานสำหรับนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์

                       วิธีใช้งานก้อนกดหยุดเลือด หลังจากเปิดชุดอุปกรณ์กดหยุดเลือดที่ปราศจากเชื้อเตรียมไว้ ใส่ถุงมือปราศจากเชื้อที่อยู่ในชุดอุปกรณ์ เตรียมก้อนกดไว้ในมือหนึ่งข้าง อีกมือหนึ่งถอดเข็มรอจังหวะให้เข็มพ้นผิวหนังผู้ป่วยออกมาให้ใช้ก้อนกด กดไปตรงรอยเข็มโดยหันด้านป้านลงสัมผัสผิวหนังผู้ป่วยเพื่อเพิ่มพื้นที่สัมผัสจะได้ไม่เลื่อนจากตำแหน่งที่ต้องการกด จากนั้นกดด้วยแรงปานกลางให้มีความรู้สึกว่ามีเลือดไหลผ่านและไม่มีเลือดไหลซึมออกมาที่ก้อนกด แต่ถ้ายังมีเลือดซึมออกมาที่ก้อนกดปริมาณมากสามารถใช้ก้อนกดเลือดที่เหลืออีกอันใช้เปลี่ยนกดได้

 

ตัวชี้วัดผลสำเร็จของนวัตกรรมและผลลัพธ์

 

การขยายผลของนวัตกรรม                        มีการใช้ / ประยุกต์ใช้เฉพาะหน่วยงาน

 

สรุปผลการดำเนินการ

          1. ปัญหา/ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการ
          • เนื่องจากการศึกษาเป็นการทดลองเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ไช้ในการกด ซึ่งต้องมีการเตรียมวัสดุไว้ก่อนคือก้อนกด ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากรที่ทำการเตรียมชุดกด
          • เทคนิคการประดิษฐ์นวัตกรรมก้อนกดให้มีด้านป้าน และความแน่นของก้อนกดต้องมีความพอดี ซึ่งในการประดิษฐ์อาจต้องอาศัยเทคนิคและเอาใจใส่ในการประดิษฐให้ได้ก้อนกดตามต้องการและสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          1. กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขี้น
          • จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าของการกดหยุดของเลือดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ใช่ขึ้นอยู่กับก้อนกดเลือดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะปัจจัยต่าง ๆ ก็มีผลต่อการหยุดของเลือดทั้งปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเองที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดขณะฟอกเลือด ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง และ vascular access มีภาวะตีบตัน ปัจจัยทางด้านเจ้าหน้าที่พยาบาลที่กด ที่ใช้แรงในการกดไม่สม่ำเสมอ กดไม่ตรงตำแหน่ง และเทคนิคการกดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลดังนั้นในการวัดผลการกดเลือดหยุดเร็วหรือช้าจึงมีปัจจัยแวดล้อมที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกมาก
          1. แผนการที่จะพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
          • ก้อนกดหยุดเลือดเป็นนวัตกรรมที่ประดิษฐ์เพื่อเป็นวัสดุที่ใช้ในการกดหยุดเลือดจากรอยเข็ม AVF อาจไม่ใช่เป็นปัจจัยหลัก หรือเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะทำให้เลือดหยุดเพราะมีปัจจัยแวดล้อมอีกหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการหยุดของเลือด ซึ่งก็เป็นโอกาสในคราวต่อไปที่จะมีการพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหยุดของเลือดเพื่อให้มีการหยุดของเลือดและที่สำคัญเพื่อเป็นการรักษายืดอายุการใช้งาน vascular ของผู้ป่วยให้ได้ยาวนานที่สุด