การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารยา Norepinephrine ในผู้ป่วยที่มีภาวะ Septic shock

ตามหลักการบริหารยากลุ่มเสี่ยงสูงของหอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 2

 

 

ประเภทผลงานนวัตกรรม :                นวัตกรรมความปลอดภัยผู้ป่วย (Patient Safety Innovation )

 

สรุปผลงานโดยย่อ  :

                           การสร้างแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและจัดทำเครื่องมือช่วยในการปฏิบัตินั้น สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ สามารถลดภาวะ Prolong shock ได้จริง ผู้ป่วยปลอดภัย และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

 

เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ : 

            1. เพื่อลดอัตราการเกิดภาวะ Prolong shock
            2. เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน จากการบริหารยา Norepinephrine
            3. เพื่อสร้างแนวปฏิบัติในการบริหารยา Norepinephrine ในผู้ป่วยที่มีภาวะ Septic shock

 

แนวคิดการพัฒนานวัตกรรม :

                          จากข้อมูลในปีพ.ศ.2561 พบผู้ป่วยที่เกิดภาวะ Septic shock 58 ราย/ปี เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 30.56 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้งหมด และพบว่าร้อยละ 73.33 เกิดภาวะ Prolong shock ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำมากกว่าปกติ คือ ค่า MAP < 65 มิลลิเมตรปรอท  เป็นระยะเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมง ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดและออกซิเจนและทำให้สูญเสียหน้าที่  จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ Prolong shock ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแนวปฏิบัติในการบริหารยากระตุ้นความดันโลหิต  (Norepinephrine) ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการรักษาที่สำคัญของผู้ป่วยที่มีภาวะ Shock ทำให้ขาดการประเมิน และติดตามสัญญาณชีพที่เหมาะสม การปรับระดับยาไม่ต่อเนื่อง และไม่สัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ของยา มีผลทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยถึงเกณฑ์ตามเป้าหมายที่กำหนดล่าช้า รวมทั้งพบภาวะแทรกซ้อน ที่เกิดจากการบริหารยาที่ไม่เหมาะสมคือมีการเริ่มให้ยาในขนาดสูงจนทำให้หลอดเลือดหดตัวรุนแรงจนเกิดภาวะ Tissue necrosis  และเกิด Extravasation   จากประเด็นปัญหาดังกล่าวทางหอผู้ป่วย จึงได้พัฒนาแนวปฏิบัติในการบริหารยา Norepinephrine และจัดทำเครื่องมือสนับสนุนเพื่อให้บุคลากรปฏิบัติตามแนวปฏิบัติได้ง่ายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็วและปลอดภัย

 

กิจกรรม/กระบวนการพัฒนานวัตกรรม: (P-D-C-A) P :

                        ทำการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ ปัญหา  ประเมินความรู้ความเข้าใจของบุคลากรทางการพยาบาล  จัดทำการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารยา  Norepinephrine   จัดทำแนวปฏิบัติ จัดทำ ใบ Norepinephrine  record เพื่อใช้บันทึกรายละเอียดระหว่างการให้ยา  D : สื่อสารทำความเข้าใจ และกำหนดให้บุคลากรทางการพยาบาล ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่กำหนด C: ทำการ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติ  นำผลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยใช้การทำ knowledge management  เป็นระยะและ        A : ได้มีการปรับเปลี่ยนใบ Norepinephrine  Record  ใหม่ โดยเพิ่มรายละเอียดทั้งวิธีการผสม  การติดตามสัญญาณชีพ และวิธีการประเมินภาวะแทรกซ้อน  ทำให้ง่ายและมีประสิทธิภาพต่อการนำไปใช้ได้มากยิ่งขึ้น

การประเมินผลการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง/สิ่งประดิษฐ์:

                     จากผลการวิเคราะห์ปัญหาและติดตามผลอย่างต่อเนื่องแล้วได้มีการพัฒนาใบ Norepinephrine Record ใหม่เป็น version 2 โดยเพิ่มรายละเอียดทั้งวิธีการผสม การติดตามสัญญาณชีพ และการประเมินภาวะแทรกซ้อน ทำให้ง่ายและมีประสิทธิภาพต่อการนำไปใช้ได้มากยิ่งขึ้น จนสามารถลดเวลาในการปรับยาตั้งแต่เริ่มให้ยาจนความดันถึงเกณฑ์ปกติได้เร็วขึ้นจากเดิมใช้เวลาเฉลี่ยที่ 96 นาทีเหลือเพียง 25นาที ซึ่งทำให้ลดภาวะ Prolong shock ได้ จากเดิมเกิดร้อยละ 73.33 ลดลงเหลือร้อยละ 22.22 และพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ทุกรายไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับยา

 

สรุปบทเรียนที่ได้รับ:

                   ได้เห็นบทบาทของพยาบาล ในการใช้องค์ความรู้ คิดและวิเคราะห์สาเหตุ ของปัญหาจากงานประจำ นำไปสู่การแก้ไข โดยการพัฒนาแนวทางการบริหารยาที่มีความชัดเจนและมีการสร้างใบ Norepinephrine Record ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาระบบงาน และการสร้างนวัตกรรมภายในหอผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยให้มากที่สุด นอกจากนี้การนำค่านิยมขององค์กร และการยึดหลักจริยธรรมมาใช้ในการพัฒนางานรวมทั้งการศึกษาหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทันสมัยมาใช้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัยได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ และการให้ทีมมีส่วนร่วมในการพัฒนางาน ร่วมกับมีการนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การพัฒนางานนั้นมีความยั่งยืน และเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้อย่างสูงสุด