อโรมาเทราพี (Aroma Therapy)

ประเภทผลงานนวัตกรรม               นวัตกรรมด้านการบริการ (Service Innovation )

 

สรุปผลงานโดยย่อ

              หอผู้ป่วยเคมีบำบัดให้การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งเคมีบำบัดหลายชนิดทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผู้ป่วย เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย เป็นต้น อาการเหล่านี้จะเป็นมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของยา ความแข็งแรงของร่างกาย และความพร้อมด้านจิตใจของผู้ป่วย เมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด มักก่อให้เกิดความไม่สุขสบาย หรือบางครั้งผู้ป่วยอาจมีความทุกข์ทรมาน การใช้สมุนไพรใกล้ตัวเป็นทางเลือกหนึ่งที่หอผู้ป่วยเคมีบำบัดนำมาใช้เพื่อลดอาการรบกวนและความไม่สุขสบายของผู้ป่วย

 

เป้าหมาย/วัตถุประสงค์

        1. เพื่อบรรเทาอาการรบกวนของผู้ป่วย
        2. เพื่อเพิ่มความสดชื่นแก่สิ่งแวดล้อมในหน่วยงาน

 

แนวคิดการพัฒนานวัตกรรม

        1. ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มักเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากผลข้างเคียงของยา มีการศึกษาพบว่าการใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดภาวะไม่สุขสบายต่างๆ ของผู้ป่วย ซึ่งสมุนไพรสามารถหาได้ง่าย
        2. มะกรูดเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม สารเคมีที่พบได้ในผลมะกรูดคือน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียด คลายความวิตกกังวล ทำให้จิตใจสงบนิ่ง และช่วยส่งเสริมการนอนหลับ นอกจากนี้กลิ่นของมะกรูดเป็นกลิ่นที่ยุงและแมลงส่วนใหญ่ไม่ชอบ
        3. สาเหตุของการคลื่นไส้จากยาเคมีบำบัด เกิดจากยาเคมีบำบัดไปทำให้ทางเดินอาหารอักเสบ และไปกระตุ้นสารประสาทตัวหนึ่งออกมาในทางเดินอาหารทำให้มีการบีบตัว ซึ่งขิงมีสารโปลิโอเรซิน ที่จะไปยับยั้งตัวสารนี้ให้มีฤทธิ์อ่อน ตัวที่จะออกฤทธิ์คือน้ำมันหอมระเหยของขิง ที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้ ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจะสกัดได้โดยผ่านความร้อน การต้มก็จะมีกลิ่นออก ดังนั้นจะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้

 

กิจกรรม/กระบวนการพัฒนานวัตกรรม

        1. รูปแบบของกิจกรรม/กระบวนการ

              – ปรับสิ่งแวดล้อมให้สดชื่นด้วยสมุนไพรมะกรูด

              – ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ของผู้ป่วย ด้วยน้ำขิงต้ม

        1. ขั้นตอนการจัดกิจกรรม /การพัฒนา /ใช้นวัตกรรม

          มะกรูด

             – นำผลมะกรูดสดมาหั่นเป็นแว่น ใส่ในภาชนะ นำไปวางตามที่ต่างๆ เช่น ในห้องน้ำ อ่างล้างมือ

             – นำมะกรูดมาเปลี่ยนใหม่ เมื่อของเดิมเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

น้ำขิงต้ม

            – นำขิงสดมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นแว่น นำไปต้มในกระติกน้ำร้อน ต้มให้ร้อน 24 ชม.

            – เปลี่ยนขิงใหม่ทุกวันจันทร์

        1. ระยะเวลาดำเนินการ ปัจจุบันมีใช้อยู่

 

การประเมินผลการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง/สิ่งประดิษฐ์

        1. ผู้รับบริการพึงพอใจระดับมากที่สุด-มาก
        2. ช่วยลดอาการคลื่นไส้/ อาเจียนได้

 

สรุปบทเรียนที่ได้รับ

        1. การใช้ประโยชน์ของสมุนไพรจะได้ผลในผู้ป่วยที่มีอายุวัยกลางคนขึ้นไป
        2. ผู้ป่วยวัยรุ่น ควรได้รับการกระตุ้นจากญาติใกล้ชิด เนื่องจากไม่มีผลเสีย และเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย มีผลการศึกษาสนับสนุนว่ามีประโยชน์