ประวัติความเป็นมา

ประวัติ

ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2545 โดยกลุ่มของแพทย์ประสาทวิทยาและหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดย รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่างเป็นผู้อำนวยการศูนย์คนแรก โดยเล็งเห็นว่าผู้ป่วยประสาทวิทยา เป็นผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน และต้องอาศัยการให้การวินิจฉัยและการรักษาทางระบบประสาทแบบสหสาขา และมีวิสัยทัศน์ว่า การเป็นศูนย์ที่มีความเป็นเลิศทางประสาทวิทยานั้น ต้องมีจุดประสงค์ที่แตกต่างไปจากภาควิชา ที่ทำเรื่องการเรียนการสอนเป็นหลัก จึงได้ตั้งคณะกรรมการจากภาควิชาที่เกี่ยวข้องโดยมีจุดประสงค์ (mission) เพื่อให้มีการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการแบบองค์รวม และเบ็ดเสร็จ (one stop service) โดยมีคณาจารย์จากภาควิชาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาประสาทศัลยศาสตร์ หน่วยประสาทรังสีวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ภาควิชาจักษุวิทยา ภาควิชาโสต ศอ นาสิก ภาควิชาสรีรวิทยา และภาควิชาพยาธิวิทยา โดยได้มีความร่วมมือในการทำแผนการดำเนินงานด้วยพันธกิจในการให้บริการการรักษาผู้ป่วยและเป็นศูนย์การส่งต่อสำหรับผู้ป่วยด้านประสาทวิทยาทางภาคเหนือ เป็นศูนย์การเรียนรู้และการเรียนการสอนให้แก่ นักศึกษาแพทย์ แพทย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และเป็นศูนย์การทำวิจัยเพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้านประสาทวิทยา โดยในเบื้องต้นได้จัดตั้งหน่วยย่อย ได้แก่ epilepsy and sleep disorder unit, movement disorder unit, neuromuscular unit และ stroke unit

                                                               

                                                                   ภาพโลโก้ของศูนย์โรคสมองภาพเหนือ เรียงลำดับจากเก่าไปหาใหม่

 

กำเนิดงานประชุมวิชาการศูนย์โรคสมองภาคเหนือ (The Northern Neuroscience Center Conference, NNCC)

การประชุมวิชาการเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และความก้าวหน้าทางวิชาการที่มีประสิทธิภาพ ศูนย์โรคสมองภาคเหนือจึงได้ริเริ่มให้มีการจัดงานประชุมวิชาการประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นการประชุมวิชาการนานาชาติขึ้นเมื่อ  พ.ศ. 2546 ในหัวข้อชื่อเรื่อง Asian and OCeanian Symposium on Clinical Neurophysiology ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จากนั้นได้มีการจัดงานประชุมวิชาการประจำปีอย่างต่อเนื่องดังนี้ Asia and Oceanian Symposium on Clinical Neurophysiology ที่ ร.ร.โลตัสปางสวนแก้ว (ครั้งที่ 1), Update in CNS infection (ครั้งที่ 2), Pitfall in pain management (ครั้งที่ 3), Added value of ICT and Multimedia in neurological practice (ครั้งที่ 4), Complimentary and Integrative medicine in neurology (ครั้งที่ 5), Quest for excellence the 50th anniversary academic conference-NNC (ครั้งที่ 6), Neurology treasure (ครั้งที่ 7), The Big 5 in Neurology (ครั้งที่ 8), 9 steps toward excellent neurology (ครั้งที่ 9), Neurology for all (ครั้งที่ 10), Alice in Neurology land (ครั้งที่ 11)

 ในการประชุมประจำปี ครั้งที่ 9 ในปี พ.ศ. 2555 ได้เริ่มจัดปฐกถาเกียรติยศแด่ รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง (Siwaporn Oration Lecture) โดยได้รับเกียรติจาก อดีตนายกสมาคมประสาทวิทยา 2 ท่าน ได้แก่ ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา และ นพ.สมศักดิ์ ลัพธิกุลธรรม บรรยายในครั้งนั้นและจัดเป็นประจำทุก ๆ ปี 

 

ความร่วมมือกับต่างประเทศและการเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมนานาชาติ

ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ มีความร่วมมือและการจัดกิจกรรมวิชาการร่วมกับต่างประเทศ หลายครั้ง เนื่องด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีความสวยงาม มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และมีศักยภาพในการจัดการประชุมที่ทันสมัย ทำให้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์โรคสมองภาคเหนือ เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติหลายครั้ง โดยการประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่ผ่านมาได้แก่ Asian and Oceanian Symposium on Clinical Neurophysiology (AOCN) (พ.ศ. 2548), 2nd Asia Pacific Conference Against Stroke (2nd APCAS), Pitfall in Pain Management (พ.ศ. 2549), Basic Movement Disorder Course for Developing Country (พ.ศ. 2556), 5th Asian Regional Conference for Headache(5th ARCH) (พ.ศ. 2558)

                      

Asian Regional Conference for Headache (2015)                                                Deep Brain Stimulation Workshop (2016)

 

นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรรับเชิญที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร.พ. รามาธิบดี), ศ.นพ. กัมมันตร์ พันธุมจินดา (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), ผศ.นพ. พินิจ ลิ้มสุคนท์, Professor Niall Quin (Institute of Neurology, London), Ravichankra (India), Professor Nobuhiro Yuki (Japan) เป็นต้น

 

การก่อตั้งหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (stroke unit)

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นมา ได้มีจุดเปลี่ยนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยการให้ยา rt-PA ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน มีโอกาสฟื้นจากอาการอ่อนแรง หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (stroke unit) ร.พ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ด้วยความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ก่อตั้งคือ รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง (ดำรงค์ตำแหน่งประธานศูนย์โรคสมองภาคเหนือ) และคุณวรวรรณ ทองสง (ฝ่ายพยาบาล) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการผลักดันหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันให้เกิดขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันและได้มีการพัฒนาเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันกับโรงพยาบาลเครือข่ายในภาคเหนือ จนได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย 

 

ในปัจจุบัน ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ เป็นศูนย์ที่มีการพัฒนาการให้บริการรักษา การทำวิจัยและการเรียนการสอน และมีการพัฒนาระบบเครือข่าย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการก้าวสู่ความเป็นเลิศในด้านวิชาการและการให้บริการต่อไป

 

 

ติดต่อเรา

ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชั้น 9 อาคารศรีพัฒน์
โทร : 0-5394-5899 โทรสาร : 0-5321-9322
อีเมล์ : nncenter@gmail.com

You are here: Home เกี่ยวกับเรา ประวัติความเป็นมา