ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก

 

 

 

 

  นักวิจัยเภสัช มช. เผยผลวิจัย เรื่องความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด พบ วัยรุ่นใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินกันอย่างแพร่หลาย มีการใช้บ่อยครั้งและมีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง เสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจส่งผลให้ตกเลือดและแท้งเป็นอันตรายได้ แนะสถานศึกษาสร้างความรู้เพศศึกษาและการใช้ยาคุมกำเนิดที่ถูกต้อง เตือนวัยรุ่นละเลิกความเสี่ยงจากพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีความพร้อม รวมทั้งเรียกร้องร้านขายยาเป็นจุดบริการให้ความรู้ก่อนตัดสินใจใช้ยา

     ภญ.รศ.ชบาไพร โพธิ์สุยะ นักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาคุมฉุกเฉินมีน้อยมาก ในขณะที่พฤติกรรมความเสี่ยงของวัยรุ่นในการมีเพศสัมพันธ์ หรือภัยทางเพศเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้เด็กวัยรุ่นหันมาใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน โดยขาดความเข้าใจ ทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก และความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่น่าเป็นห่วงคือ มีการใช้แทนยาคุมกำเนิดตามปกติ ทั้งๆที่ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินน้อยกว่า และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้

     “การคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน เป็นการป้องกันการตั้งครรภ์เฉพาะฉุกเฉินเช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้การป้องกันวิธีอื่นมาก่อน ใช้ถุงยางอนามัยแล้วแต่ไม่แน่ใจว่ารั่วหรือแตก ลืมกินยาแบบประจำวันติดต่อกันสองวัน ใส่ห่วงอนามัยแต่ห่วงหลุด มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไม่ปลอดภัย กรณีถูกข่มขืน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองว่าการกินยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็น วิธีที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ในทุกปีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ยังคงเกิดขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านระบบสุขภาพและสังคม"

     "สำหรับในประเทศไทย มีแนวโน้มการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกในการซื้อ การพกพา วิธีการกินไม่ยุ่งยากเหมือนยาคุมทั่วไป แต่ยาเม็ดคุมกำเนิดมีประโยชน์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้นไม่สามารถ ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้”

     ทั้งนี้ นักวิจัย ได้ทำการศึกษากลุ่มร้านยาในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเพิ่มขึ้น และมีการใช้อย่างไม่เหมาะสมในกลุ่มวัยรุ่น และปัญหาการทำแท้งส่วนใหญ่เกิดจากวัยรุ่นและหนุ่มสาว ที่มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หรือไม่มีความพร้อมในการมีบุตร

     กลไกการออกฤทธิ์ของเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ชนิด levonorgertrel หรือชนิดฮอร์โมนระหว่าง estrogen และ progestogen จะออกฤทธิ์ต่อสภาพแวดล้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก มีผลต่อภาวะฮอร์โมน และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะที่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ อีกทั้งประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ายาคุมปกติและยิ่งเสี่ยงหากใช้บ่อยครั้ง

 

ทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่มีความเสี่ยง คือกลุ่มที่ค่อนข้างอิสระ หรือกลุ่มที่มีแนวโน้ม sexually active พบว่า การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมักไม่มีความพร้อม จึงอาจทำให้ต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนินฉุกเฉิน ซึ่งมีความเสี่ยงเนื่องจากวัยรุ่นยังขาดความเข้าใจที่ถูกวิธี

     “ยา เม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพสูงก็ต่อเมื่อ มีการนำมาใช้ตามข้อบ่งใช้ที่กำหนดไว้ และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นบ่อยคือ การมีรอบระดูผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน แต่หากใช้บ่อยและต่อเนื่อง มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ ไม่ เพียงแต่การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่ถูกต้องเท่านั้น หากผลการศึกษายังพบว่า แม้จะมีการใช้ถุงยางอนามัยถึงร้อยละ 75.1 แต่ยังพบว่าวิธีการคุมกำเนิดที่รองลงมา คือ การหลั่งภายนอก ซึ่งมีเปอร์เซ็นสูงถึงร้อยละ 35.5 นับเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงทั้งการตั้งครรภ์และการติดโรค”

 

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

 

 

บทความยอดนิยม

ประกาศและข่าวล่าสุด

Contact Us

  •    งานการพยาบาลผู้ป่วยสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
  •    โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  •    คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  •    โทร : 053-945827