งานการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดและพักฟื้น, Powered by Joomla!
สมรรถนะหลักสำหรับพยาบาลระดับบริหาร PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย เลิศฤทธิ์ วุฒิตันติพงศ์ [งานการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดและพักฟื้น]   
วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2011 เวลา 09:46 น.

สมรรถนะหลักของพยาบาลระดับบริหาร

สมรรถนะที่1 ด้านการบริหารจัดการระบบบริการ (Clinical service system management) หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและทักษะในการวางแผนและกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบตามลำดับความสำคัญ การจัดการด้านงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ ในการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่คำนึงถึงความคุ้มค่า คุ้มทุน (cost benefit) รวมทั้งการมอบหมาย กำหนดตัวบุคคลผู้รับผิดชอบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามผลการทำงานของทีมงาน ตลอดจนดูแลให้ระบบบริการที่รับผิดชอบมีคุณภาพตามที่กำหนด

สมรรถนะที่ 2 ด้านบริการ (Customer-focused service) หมายถึง พฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและทักษะในการจัดบริการพยาบาลและให้บริการพยาบาลที่ได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงกลุ่ม/ประเภทของผู้ใช้บริการเป็นหลัก ด้วยการค้นหาและวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมทั้งการจัดบริการเพื่อสนองตอบต่อความต้องการและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว

สมรรถนะที่ 3 ด้านการติดต่อสื่อสารและการประสานงาน (Communication) หมายถึิ์ง พฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลในการที่แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและทักษะในการติดต่อกับบุคคลอื่น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น บรรลุผลสัมฤทธิ์ของงาน

สมรรถนะที่ 4 ด้านความรู้และทักษะ (Knowledge and skill development) หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความขวนขวาย สนใจใฝ่รู้เพื่อสั่งสม พัฒนาศักยภาพ ความรู้ความสามารถของตนในการปฏิบัติงาน ด้วยการศึกษาค้นหาความรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพัฒนา ปรับปรุง ประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ากับการปฏิบัติงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ สามารถชี้แจงให้คำแนะนำแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอน และแนวทางในการแก้ไขปัญหา เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา

สมรรถนะที่ 5 ด้านการวิจัย(Scholarly activities and research management) หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและทักษะในการใช้องค์ความรู้ตามหลักการและทฤษฎีการพยาบาล ริเ่ริ่มค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ มีความใฝ่รู้ มีทักษะแสวงหาความรู้ พัฒนาบทบาทของตนด้านวิชาการและวิจัยด้วยการทำวิจัย รวมถึงการสนับสนุนให้มีการทำวิจัย การจัดทำแนวทางปฏิบัติโดยให้ข้อมูลหลักฐาน (evidence based practice) และการจัดทำผลงานทางวิชาการภายในหน่วยงาน

สมรรถนะที่ 6 ด้านการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ (Management information system:MIS) หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศภายในหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการบริหารงาน การจัดบริการของหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์กรและทันต่อการเปลี่ยนแปลง

สมรรถนะที่ 7 ด้านการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ (Analytic thinking and decision making) หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและทักษะในการประเมินสถานการณ์และข้อมูลต่างๆ เข้าใจที่มา สาเหตุ และผลกระทบที่เกิดขึ้นของข้อมูลหรือสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงบุคคล เวลา สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งกำหนดแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนพิจารณาแนวทางเลือกที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ

สมรรถนะที่ 8 ด้านการวางแผน (Strategic-focused management) หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความเข้าใจในกลยุทธ์ขององค์กรและสามารถประยุกต์ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ของหน่วยที่รับผิดชอบได้ โดยความสามารถในการประยุกต์นี้รวมถึงความสามารถในการคาดการณ์ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพในอนาคต ตลอดจนผลกระทบของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดทั้งในและต่างประเทศ

สมรรถนะที่ 9 ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Human resource management) หมายถึง พฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและทักษะการจัดการด้านบุคลากรของหน่วยงานให้มีความพร้อมและเพียงพอต่อการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดอัตรากำลังของหน่วยงาน การสรรหา คัดเลือก การประเมินทักษะและการวางแผนความก้าวหน้าในสายอาชีพ

สมรรถนะที่ 10 ภาวะผู้นำ (Leadership) หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารทางการพยาบาลที่แสดงออกถึงความตั้งใจหรือความสามารถในการเป็นผู้นำของกลุ่มคน กล้าตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ โดยสามารถหาข้อมูลและเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุน กล้ารับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ รวมถึงการกำหนดทิศทาง วิสัยทัศน์ เป้าหมาย วิธีการทำงาน ตลอดจนความสามารถในการโน้มน้าวชักจูงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือทีมงานปฏิบัติตามหรือมีความคิดเห็นคล้อยตาม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น เต็มประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 มิถุนายน 2013 เวลา 08:28 น.