อุปกรณ์ช่วยวัดความดันในช่องท้อง

ชื่อผู้ประดิษฐ์   นายชัยชาญ      อุดหนุน     ผู้ช่วยพยาบาล รุ่น 21

สถานที่ทำงาน           หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมทั่วไป     งานการพยาบาลผู้ป่วยศัลยศาสตร์

ปีที่เริ่มใช้ 2549

หลักการและเหตุผล

            ภาวะความดันในช่องท้องสูง (intra abdominal hypertension : IAH) เกิดขึ้นร้อยละ 59 ในผู้ป่วยวิกฤต (Regueira, Bruhn, Hasbun, Aguirre, Romeo, Llanos, et al, 2008) โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดใหญ่ทางช่องท้อง   การบาดเจ็บทางช่องท้องจากการกระแทกหรือถูกของมีคม   การมีเลือดออกในช่องท้อง   การได้รับสารน้ำปริมาณมากในการช่วยฟื้นคืนชีพ (massive fluid resuscitation) การติดเชื้อในร่างกาย (sepsis) เป็นต้น (Hayden, 2007) การเกิดภาวะนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วย คือ การทำงานของอวัยวะบกพร่องหรือล้มเหลว (organ dysfunction or failure) (Djavani, Wanbainem & Bjorck, 2006 ; Hayden, 2007 ; Scheppach, 2009) นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดอัตราการตายที่เพิ่มสูงขึ้นหากได้รับการวินิจฉัยที่นำไปสู่แนวทางการรักษาที่ไม่ถูกต้อง (Murcia-Saez, Sobrino-Hernandez, Garcia-Lopez, Corcoleses-Gonzales, Cortes-Monedero, Tendero-Egea, et al, 2009 ; Regueira, Bruhn, Hasbun, Aguirre, Romeo, Llanos, et al, 2008)
การวัดความดันในช่องท้อง (intra abdominal pressure measurement) เป็นหัตถการทางการแพทย์ในการประเมินระดับความดันในช่องท้อง เพื่อการวินิจฉัยและนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง สามารถวัดได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม (Al-Bahrani, Abid, Sahgal, O’Shea, Lee, & Ammori, 2006) การวัดความดันในช่องท้องโดยทางอ้อมนั้นมีหลายวิธี ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ คือ การวัดความดันในช่องท้องทางกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องใส่อุปกรณ์เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพิ่มเติม และยังสามารถให้ค่าความดันในช่องท้องที่มีความเชื่อถือได้ (Scheppach, 2009)
หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รับผู้ป่วยวิกฤตทางศัลยกรรม เช่น ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดใหญ่ทางช่องท้อง การบาดเจ็บทางช่องท้องจากการกระแทกหรือถูกของมีคม การมีเลือดออกในช่องท้อง การติดเชื้อในร่างกาย (sepsis) เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความดันในช่องท้องสูง จำเป็นต้องมีการวัดความดันในช่องท้องเมื่อมีข้อบ่งชี้ โดยหน่วยงานใช้วิธีการวัดแบบทางอ้อม ซึ่งวิธีนี้ต้องเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะแบบ 2 หาง เป็นแบบ 3 หาง ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดจากการนำสายสวนปัสสาวะเดิมออก และเปลี่ยนเป็นแบบ 3 หาง นอกจากนี้ในการกระบวนการวัดนั้นจำเป็นต้องมีการปลดข้อต่อของสายสวนปัสสาวะกับถุงรองรับปัสสาวะทุกครั้ง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ ดังนั้นผู้ประดิษฐ์ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมในการวัดความดันในช่องท้องขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ ทำให้ไม่เกิดความเจ็บปวดในผู้ป่วย และไม่ต้องปลดข้อต่อของสายสวนปัสสาวะกับถุงรองรับปัสสาวะ จึงทำให้ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะได้

อุปกรณ์ที่ใช้

1. ตัวต่อ (connector) รูปตัวทีหรือตัววาย                             1 เส้น

2. สายยางเหลือง เบอร์ 204 ยาว 3 นิ้ว                                1  เส้น

3. สายยางเหลืองของชุดให้น้ำเกลือที่ใช้แล้ว                      1 เส้น

4. ตัวต่อสามทาง (three way)                                             1 ตัว

5. สาย pressure tube MF สั้น                                            1 เส้น

 

 

 

 

 

 

 

 

วิธีการประดิษฐ์

  1. .นำสายยางเหลือง เบอร์ 204 ต่อเข้ากับด้านใดด้านหนึ่งของตัวต่อรูปตัวทีหรือตัววาย
  2. ปลายที่เหลืออีกสองด้านของตัวต่อรูปตัวที หรือตัววาย ต่อเข้ากับสายยางเหลืองของชุดให้น้ำเกลือและตัวต่อสามทางได้ชุดอุปกรณ์วัดความดันในช่องท้อง ดังรูป
  3. เมื่อได้ชุดอุปกรณ์วัดความดันในช่องท้องนำไปอบแก๊สหรือนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ และเตรียมไว้ใช้เมื่อแพทย์ต้องการประเมินความดันในช่องท้องของผู้ป่วย

ขั้นตอนในการวัดความดันในช่องท้อง

  1. เตรียมอุปกรณ์ช่วยในการวัดความดันในช่องท้อง คือ ชุดอุปกรณ์วัดความดันในช่องท้องและชุดทำแผล (set dressing)
  2. จัดท่าของผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนหงาย (Al-Bahrani, Abid, Sahgal, O’Shea, Lee, &  Ammori, 2006 ; Scheppach, 2009)
  3. นำชุดอุปกรณ์วัดความดันในช่องท้องต่อกับข้อต่อของสายสวนปัสสาวะและถุงรองรับปัสสาวะ โดยวิธีปราศจากเชื้อ
  4. .กำหนดตำแหน่งการวัด(calibrate) ที่ symphysis pubis หรือกึ่งกลางรักแร้ (midaxillary line) ที่ iliac crest (Al-Bahrani, Abid, Sahgal, O’Shea, Lee, & Ammori, 2006 ; Scheppach, 2009)
  5. ใส่น้ำสะอาด คือ sterile saline solution จำนวน 25 มิลลิลิตร (Al-Bahrani, Abid,Sahgal, O’Shea, Lee, & Ammori, 2006 ; Murcia-Saez, Sobrino-Hernandez, Garcia-Lopez, Corcoleses-Gonzales, Cortes-Monedero, Tendero-Egea, et al, 2009 ; Scheppach, 2009) ที่ข้อต่อของชุดอุปกรณ์วัดความดันในช่องท้อง โดยในขั้นตอนนี้แพทย์เป็นผู้ปฏิบัติ
  6. อ่านค่าความดันในช่องท้องในขณะผู้ป่วยสิ้นสุดการหายใจออก (end expiration) มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท (mm.Hg.) (Al-Bahrani, Abid, Sahgal, O’Shea, Lee, & Ammori, 2006 ; Murcia-Saez, Sobrino-Hernandez, Garcia-Lopez, Corcoleses-Gonzales, Cortes-Monedero, Tendero-Egea, et al, 2009 ; Scheppach, 2009)
  7. เมื่อสิ้นสุดการวัดความดันในช่องท้อง ไม่ต้องปลดชุดวัดความดันในช่องท้องออกจากข้อต่อ แต่นำผ้าก๊อซมาหุ้มไว้สำหรับการใช้ในครั้งต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วย และผู้ป่วยไม่ได้รับความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ
  2. สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย
  3. ผู้ใช้ความพึงพอใจ