“ Suandok Repository Unit ”
ข้อกำหนดและเงื่อนไขการขอฝาก/ใช้ตัวอย่าง

ข้อตกลงการฝาก/การใช้ตัวอย่างทางชีวภาพ

ผู้ที่ต้องการใช้บริการการฝาก/การนำตัวอย่างทางชีวภาพไปใช้สร้างงานวิจัยกับธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ผู้ฝาก”) ต้องยอมรับ ข้อตกลงในการฝากและการนำตัวอย่างทางชีวภาพไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

1.    ต้องระบุเกี่ยวกับชนิด ปริมาตร จำนวนของตัวอย่างทางชีวภาพ
2.   ต้องนำตัวอย่างออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่องานวิจัย
3.  ต้องมีข้อมูลเบื้องต้นของตัวอย่างทางชีวภาพที่ต้องการจัดเก็บ และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น
4.  ต้องมีข้อตกลงเรื่องระยะเวลา และอุณหภูมิในการจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพอย่างชัดเจน
5.  ในกรณีที่ไม่มีการนำตัวอย่างออกไปใช้ระยะเวลาที่ธนาคารฯ กำหนด ต้องยอมรับเงื่อนไขของธนาคารฯ ที่ให้โครงการวิจัยอื่นมีสิทธิ์ใน การใช้ตัวอย่าง หรือการทำลายตัวอย่างชีวภาพโดยธนาคารฯ
6.   ผู้ฝากต้องรายงานผลการดำเนินงานของโครงการเป็นระยะ ทั้งกรณีที่นำตัวอย่างออกไปใช้งานและ/หรือ กรณีที่ไม่มีการดำเนินการนำ ตัวอย่างออกไปใช้งาน เมื่อระยะเวลาเกินที่กำหนด
7.   ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับแต่ละโครงการ โดยเกณฑ์ต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งผู้ฝากและทางธนาคารฯ ที่รับฝาก
8.  ในการจำหน่ายตัวอย่างทางชีวภาพเมื่อสิ้นสุดโครงการ ผู้ฝากต้องยอมรับข้อตกลงว่า ตัวอย่างทางชีวภาพและข้อมูลของตัวอย่างทางชีวภาพเหล่านั้น เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ผู้ฝากจะมอบเป็นสมบัติของธนาคารฯ เพื่อให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างงานวิจัยต่อไป
9.   กรณีไม่สามารถสืบค้นหลักฐานการให้ความยินยอมของผู้บริจาคตัวอย่างทางชีวภาพที่จัดเก็บได้นั้น ให้ถือว่าตัวอย่างทางชีวภาพนั้นเป็นสมบัติของธนาคารฯ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางสาธารณสุขได้
10.  ผู้ฝากสามารถเข้าเยี่ยมชม ศึกษาระบบ มาตรฐานการจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพและต้องยอมรับระบบ/มาตรฐานก่อนตัดสินใจลงนามในข้อตกลงที่จัดทำร่วมกันกับธนาคารฯ
11.  ต้องมีข้อตกลง หากมีความเสียหายที่เกิดจากการรับฝาก และ/หรือ เหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น น้ำท่วม ไฟดับ แผ่นดินไหว ทั้งนี้ ผู้ฝากต้องยอมรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น กรณี หากเกิดความเสียหายขึ้น
12.  ธนาคารฯ ที่รับฝาก จะจัดทำรายงานผลการดำเนินงานในการจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพแก่ผู้ฝากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
13.  ผู้ฝากจะต้องต้องระบุกิตติกรรมประกาศ (acknowledgment) ให้แก่ธนาคารฯ ในทุกผลงานวิจัยตีพิมพ์และการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ที่มีการใช้ตัวอย่างที่ธนาคารฯ เป็นผู้รับฝากให้ โดยระบุกิตติกรรมประกาศ ดังนี้

“ผลงานวิจัยนี้ได้รับตัวอย่างทางชีวภาพ จากธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ ศูนย์โอมิกส์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” หรือภาษาอังกฤษ “The Study Received Tissue and/or Bio-specimens from Suandok Repository Unit, Omics Center for Health Sciences: OCHS, Faculty of Medicine, Chiang Mai University”

ทั้งนี้รายละเอียดข้อตกลงอื่น ๆ ได้ถูกระบุไว้ในเอกสาร แบบฟอร์ม ธช 06 ข้อตกลงการขอรับบริการฝากตัวอย่างทางชีวภาพ และ แบบฟอร์ม ธช 08 ข้อตกลงถ่ายโอนวัสดุ (Material Transfer Agreement, MTA) ของธนาคารฯ โดยผู้ฝากต้องให้คำยินยอมรับข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารดังกล่าวก่อนการฝาก/การนำตัวอย่างทางชีวภาพไปใช้สร้างงานวิจัย

ข้อกำหนดการนำตัวอย่างไปใช้

ธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยินยอมให้ผู้ฝากสามารถนำตัวอย่างทางชีวภาพที่จัดเก็บไปใช้ตามที่ระบุไว้ใน ข้อตกลงถ่ายโอนวัสดุ (Material Transfer Agreement, MTA) เพื่อจุดประสงค์ ต่อไปนี้

1. การสร้างงานวิจัย
2. การวิจัยของนักศึกษาตามหลักสูตรปริญญาตรี/โท/เอก
3. การควบคุมคุณภาพ
4. การฝึกอบรมและการสอนนอกเหนืองานวิจัย
5. การทดสอบอ้างอิง, การตรวจวิเคราะห์

นอกจากนี้ ผู้ฝากจะต้อง “ไม่” ใช้ตัวอย่างทางชีวภาพเพื่อจุดประสงค์ ต่อไปนี้

1. จะต้อง “ไม่” ใช้ตัวอย่างทางชีวภาพเพื่อการทดลองในมนุษย์
2. จะต้อง “ไม่” จำหน่ายตัวอย่างทางชีวภาพในทางการค้าและพาณิชย์
3. จะต้อง “ไม่” ถ่ายโอนวัสดุให้กับบุคคลอื่น
4. จะต้อง “ไม่” ใช้ตัวอย่างทางชีวภาพเพื่อการทดลองที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทางทหาร