ฟ้อนขันดอก มรดกล้ำค่าของชาวเหนือ

  หากพูดถึงเสน่ห์ของการแสดงพื้นบ้านศิลปะล้านนา ก็อดที่จะนึกถึงศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งที่มีความสวยงาม ท่าทางอ่อนช้อย ค่อยๆเคลื่อนไปพร้อมจังหวะสียงเพลงของเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ผสานกันบรรเลงเป็นเพลงช้าๆ คล้ายตามท่วงท่าฟ้อนรำ ชวนให้ผู้ชมเข้าไปสู่ห้วงภวังค์แห่เสน่ห์ของนาฏศิลป์ล้านนาที่เรียกว่า การฟ้อน

    ฟ้อน เป็นภาษาเหนือ หมายถึง การร่ายรำ เพื่อบูชาสิ่งต่างๆ อันเป็นศิลปะล้านนาของไทยฝ่ายเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นชุดๆ  ไม่ดำเนินเป็นเรื่องราว โดยเอกลักษณ์ของการฟ้อน คือการจีบนิ้วที่มีความอ่อนช้อยไปพร้อมๆกับท่าทางกรีดกรายร่ายรำ โยกตัวไปตามท่วงทำนองเพลง ในสมัยโบราณฟ้อนใช้แสดงประกอบเฉพาะในวันสำคัญในพระราชพิธีและพระราชฐานเท่านั้น  เช่น ในคุ้มหลวง  ผู้ฟ้อนโดยมากล้วนเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายในทั้งสิ้น ศิลปะการฟ้อนอยู่ที่ความพร้อมเพรียงและความอ่อนช้อยของท่าฟ้อนเป็นสำคัญ      

     การฟ้อนที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่  ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนขันดอก ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนม่านมงคล  ฟ้อนบายศรี เป็นต้น

      เมื่อศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มีกิจกรรมที่เข้าร่วมกับทางคณะ ไม่ว่าจะเป็นงานปอยหลวงตึกสงฆ์ หรือ พิธีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสในเทศกาลสงกรานต์ที่จัดขึ้นในทุกๆปี ทางศูนย์จะเลือกการแสดงการฟ้อนล้านนาเสมอ เนื่องจาก การฟ้อนบ่งบอกถึงการเคารพบูชา การนอบน้อมต่อพระพุทธศาสนา โดยจะเลือกการฟ้อน 2 ประเภท ได้แก่

1.การฟ้อนเล็บ เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของนาฏศิลป์ล้านนา ซึ่งมักจะแสดงในโอกาสพิเศษเพื่อต้อนรับแขกผู้มีเกียรติหรือฟ้อนสมโภชในทางพุทธศาสนา ท่าเดินของฟ้อนเล็บนี้ถือกันว่าได้เลียนแบบมาจากการเยื้องย่างของช้าง แต่เดิมการฟ้อนเล็บไม่มีท่าฟ้อนเฉพาะแน่นอน พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดปรับปรุงแก้ไขให้สวยงามและมีท่ารำเฉพาะแน่นอน  เอกลักษณ์การฟ้อนเล็บ คือ เล็บโลหะสีทองยาวที่สวมต่อนิ้วผู้รำบ่งบอกถึงความอ่อนช้อยดูแล้วสบายตา การเกล้าผมมวยสูง แต่งหน้าให้มีสีสันรับกับรอยยิ้มที่ส่งถึงผู้ชมให้ไม่ละสายตาในการแสดง

2.การฟ้อนขันดอก อีกหนึ่งศิลปะการรำของนาฏศิลป์ล้านนาที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของการฟ้อนชนิดนี้ คือ การถือพานไม้ด้านในพานจะใส่ดอกไม้นานาชนิด โดยส่วนใหญ่จะเป็นดอกไม้เพื่อตบแต่งบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และไฮไลท์ของการฟ้อนขันดอก  คือการโปรยดอกไม้ขึ้นเหนือศรีษะ ที่ชมแล้วสามารถสร้างความเพลิดเพลิน อีกทั้งเป็นการสร้างลูกเล่นให้การฟ้อนนั้นไม่น่าเบื่ออีกต่อไป   สำหรับการแต่งกาการฟ้อนของภาคเหนือจะเห็นว่า ผู้หญิงจะนุ่งผ้ามีเชิงยาวถึงเท้า สวมเสื้อเกาะอก พร้อมห่มสไบ ยาวคล้องคลุมปล่อยชายลงมาถึงเข่า   การแต่งกายแบบนี้เนื่องจาก อากาศทางภาคเหนือมีอากาศเย็นสบาย  ประชาชนสมัยก่อนจึงนิยมใส่เกาะอก และห่มสไบ  ผมเกล้าสูงทัดดอกไม้แล้วห้อยอุบะ ดอกไม้โลหะ ดอกไม้สด  เพราะทางภาคเหนือมีอากาศดี  ดอกไม้จึงสวยงาม  โดยเฉพาะดอกเอื้อง  หรือดอกกล้วยไม้มีมาก  นำมาประดับผมทำให้สวยงามทั้งผู้ฟ้อนและลีลาการฟ้อนนั่นเอง

     การฟ้อนได้ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมและขนบประเพณีชาวเหนือ  ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ทั้งการต่างกาย  จังหวะ และลีลา ท่าทางการฟ้อนรำ  เพลงและดนตรีที่ใช้ประกอบ จึงนับเป็นศิลปะและวัฒนธรรมของชาวภาคเหนือที่ทรงคุณค่าอย่างแท้จริง

เขียนโดย : นายธนบดี นิ่มวงษ์ เจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/