“ดูพระปรางค์อย่างง่ายๆ”

“ดูพระปรางค์อย่างง่ายๆ”
เขียนโดย “หมอนกแก้ว (นกขุนทอง)

ความเข้าใจเรื่องพระปรางค์แบบบ้านๆง่ายๆ

รูปที่1.พระปรางค์ในวัดอรุณ

พระปรางค์ทิศ เป็นทรงฝักข้าวโพด

พระปรางค์ประธานเป็นทรงจอมแห

รูปที่2. พระปรางค์วัดระฆัง “ทรงงาเนียม”

รูปที่3. ปราสาทแบบขอมที่วัดพระพายหลวง สุโขทัย

รูปที่4. วิวัฒนาการของเจดีย์ทรงปรางค์แบบง่ายๆ

พระเจดีย์ทรงปรางค์เป็นเจดีย์แบบที่ค่อนข้างเข้าใจยาก เนื่องจากมีวิวัฒนาการอันยาวนาน โดยมีจุดเริ่มตั้งแต่อาคารทรงศิขระ-วิมานของอินเดีย มาจนถึงปราสาทขอม และกลายเป็นปรางค์แบบไทยในที่สุด

สำหรับรูปแบบของปรางค์ไทยนั้น ตอนเด็กๆครูเฉลิมบอกว่าให้ดูพระปรางค์วัดระฆังเป็นแบบสำหรับปรางค์แบบอยุธยาและพระปรางค์วัดอรุณเป็นแบบสำหรับปรางค์แบบรัตนโกสินทร์
โดยรูปทรงของปรางค์ไทยนั้นอาจแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ
1. ทรงงาเนียม แบบอยุธยา (รูปที่ 2)
2. ทรงฝักข้าวโพด แบบรัตนโกสินทร์ (รูปที่ 1 ปรางค์ทิศ)
3. ทรงจอมแห มีแห่งเดียวคือพระปรางค์ประธานวัดอรุณ (รูปที่ 1 ปรางค์ประธาน)

สำหรับในด้านของวิวัฒนาการนั้น องค์ประกอบของทั้งปราสาทขอมและเจดีย์ทรงปรางค์จะมี 3 ส่วนคือ ส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด (รูปที่ 4)
1. ปราสาทขอม จะมีส่วนยอดเป็นทรงศิขร (ทรงพุ่ม) และมักมีชั้นซ้อนกัน 5 ชั้นโดยแต่ละชั้นจะมีรายละเอียดเป็น เสาตั้ง-คานทับ มีซุ้มวิมาน บันแถลง และนาคปัก อย่างชัดเจน แต่ส่วนฐานมักมีแค่ฐานบัว 1 ชั้น (รูปที่ 3,4)
2. ปรางค์ทรงงาเนียม จะมีการยืดส่วนยอดให้สูงขึ้นกว่าปราสาทขอม แต่จะลดรายละเอียดลง โดยในสมัยอยุธยาตอนต้นจะลดนาคปักเหลือแค่เป็นกลีบขนุน หากยังคงเสาตั้ง-คานทับและซุ้มวิมานไว้ ซึ่งส่วนนี้ในสมัยอยุธยาตอนปลายจะลดเหลือเป็นแค่บันแถลงเท่านั้น
สำหรับเรือนธาตุนั้น ในสมัยอยุธยาตอนต้นจะทำผนังตั้งฉากและมีการย่อเก็จ แต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายจะทำผนังสอบเข้าและมีการย่อมุมไม้ 16-20
ส่วนในส่วนฐานในสมัยอยุธยาตอนต้นจะมีการเพิ่มเป็นฐานบัวลูกฟัก 3 ชั้นบนฐานเขียง แต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายจะเปลี่ยนเป็นฐานสิงห์ 3 ชั้นบนฐานเขียงและอาจมีฐานบัวใต้ฐานสิงห์อีกชั้นหนึ่ง (+/-แบก)
3. ปรางค์ทรงฝักข้าวโพด ส่วนยอดจะยิ่งสูงชะลูดกว่าสมัยอยุธยาและลดรายละเอียดเหลือแค่เป็น กลีบขนุนและใบขนุนเท่านั้น ส่วนฐานก็จะสูงขึ้นเนื่องจากมีการเพิ่มฐานบัวลูกแก้วอกไก่เหนือฐานสิงห์อีกชั้นหนึ่ง (รูปที่ 1 พระปรางค์ทิศ, รูปที่ 4)
4. ทรงจอมแห เกิดการเพิ่มฐานประทักษิณ 3 ชั้น ทำให้พระปรางค์มีฐานกว้างออกและสูงขึ้น
โดยฐานประทักษิณชั้นที่ 1 จะทำหน้าที่เป็นฐานไพทีด้วย
ฐานประทักษิณชั้นที่ 2 มียักษ์แบก
ฐานประทักษิณชั้นที่ 3 มีลิงแบก
นอกจากนี้ยังมีเพิ่มฐานสิงห์เป็น 4 ชั้น โดยชั้นล่างสุดมีเทวดาแบก (รูปที่ 1 พระปรางค์ประธาน, รูปที่ 4)

สำหรับสมัยของการสร้างพระปรางค์วัดระฆังนั้น แม้ว่าเอกสารสมัยปัจจุบันหลายแห่งระบุว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1แต่พิจารณาดูแล้วน่าจะสร้างสมัยอยุธยามากกว่า
เนื่องจากในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 เขียนแค่ว่า “วัดบางว้าใหญ่ ทรงปฏิสังขรณ์แล้ว พระราชทานนามเปลี่ยนว่า วัดระฆังให้เหมือนกับวัดระฆังครั้งกรุงเก่า” แต่ไม่ได้ระบุว่าทรงสร้างพระปรางค์ขึ้นใหม่
และสมเด็จฯกรมพระยานริศฯ ก็ทรงคิดว่าอาจจะสร้างในสมัยอยุธยา เนื่องจากทรงเขียนไว้ว่า “พระปรางค์ ทำอย่างถูกแบบแผน ซึ่งมีในเมืองเหนือแลกรุงเก่า ไม่มีพระปรางค์องค์อื่นในกรุงรัตนโกสินทร ที่ทำถูกต้องเหมือนพระปรางค์องค์นี้อิกเลย จึงเปนที่สงไสยอยู่ว่าจะทำในรัชกาลที่ ๑ ฤๅทำไว้แล้วแต่ครั้งกรุงเก่า เอาแน่ไม่ได้เพราะไม่มีพระปรางค์ในกรุงรัตนโกสินทร ซึ่งทำก่อนรัชกาลที่ ๓ จะดูเทียบเคียง ถ้าจะคาดดูตามฐานที่น่าจะว่าทำครั้งกรุงเก่า เพราะเปนของดีควรชม” และ “แต่อย่างไรก็ดี พระปรางค์องค์นี้เปนแบบอย่างอันดี ซึ่งมีจะดูได้ในกรุงรัตนโกสินทรแต่องค์เดียว”
ซึ่งที่พระองค์ว่า”ดูตามฐาน”ก็เพราะฐานไม่ได้เป็นฐานสิงห์ 3 ชั้นเหมือนทั่วไป แต่ชั้นกลางเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ซึ่งน่าจะเป็นจากการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1(รูปที่ 2)

อ้างอิงจาก

1.เจดีย์ในประเทศไทย, ศักดิ์ชัย สายสิงห์
2. Wikipedia ปรางค์
3. สาส์นสมเด็จ
4. พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/