ย้อนรอย ตำนานเครื่องแต่งกาย เจ้าดารารัศมี เอกลักษณ์ทรงคุณค่า คู่ล้านนาไทย

         ในเทศกาลสงกรานต์ของทุกๆปี  คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดพิธีรดน้ำดำหัวขึ้นทุกปี  แม้ว่าในปีนี้จะได้งดจัดกิจกรรม เนื่องจากประสบปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  แต่ในวันนี้ทางศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์อยากพาย้อนเวลาไปพบกับกิจกรรมดีๆ ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมพิธีรดน้ำดำหัวและขอพรผู้อาวุโสคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ อาคารสันทนาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปี๋ใหม่เมือง ประจำปี 2562  ซึ่งจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562  ภายในงาน ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ได้ร่วมการประกวดลาบหมูสุ และ การประกวดตกแต่งขันโตก   โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ได้คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดตกแต่งขันโตกมาครอง เรียกได้ว่า แต่ละหน่วยงานต่างไม่ยอมแพ้กัน  ต่างใส่ความคิดสร้างสรรค์ องค์ประกอบต่างๆอย่างสมบูรณ์แบบและลงตัวจนทำให้คณะกรรมการต่างหนักใจในการให้คะแนน

          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้อนุรักษ์การแต่งกายแบบล้านนาและการแต่งกายแบบพระราชนิยมสมัยพระชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างส่งผู้เข้าร่วมการแต่งกายชุดล้านนาแบบต่างๆที่มีความงดงามและไม่สามารถหาชมได้บ่อยนัก ในปีนั้นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ได้ส่งผู้เข้าประกวดแต่งกายแบบ พระราชนิยมสมัยพระชายาเจ้าดารารัศมีและแน่นอนว่า ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดแต่งกายยอดเยี่ยมมาในปีนั้น  

         แรงบันดาลใจในการเลือกการประกวดการแต่งกายแบบพระราชนิยมสมัยพระชายาเจ้าดารารัศมี เนื่องจากโจทย์ค่อนข้างท้าทายและทีมงานต้องค้นคว้าหาข้อมูลค่อนข้างเยอะพอสมควร  ซึ่งทางศูนย์ให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกผู้เข้าประกวดที่มีใบหน้าเรียบร้อยสดใสเหมือนสาวเหนือ  ไปจนถึงการแต่งหน้าทำผมตามแบบฉบับ  และที่สุดแห่งความท้าทายในการตีโจทย์ให้แตก คือการเลือกเสื้อผ้าให้ละหม้ายคล้ายต้นแบบมากที่สุด เริ่มกันที่  1. การเกล้าผม  เกล้าผมแบบอี่ปุ่น หรือ เกล้าแบบสตรีญี่ปุ่นเป็นทรงผมที่นิยมมากในสมัย พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระองค์ทรงได้รับวัฒนธรรมการเกล้าเกศานี้มาจาก ภริยาท่านทูตญี่ปุ่นที่ติดตามสามีเข้ามาในพระบรมราชวัง  2. เครื่องประดับศีรษะและการตกแต่งมวยผม  ‘ปิ่นปักผมชาวยองเรียกปิ่นว่า หมาดโห ส่วนลาวล้านช้างเรียกว่า หมั้นเกล้า การใช้ปิ่นปักผมมีประโยชน์ทั้งใช้เพื่อขัดผมให้อยู่ทรง หรือใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อเพิ่มความสวยงามให้มวยผม วัสดุที่นำมาทำปิ่นก็มีแตกต่างกันไป เช่น ปิ่นเงิน ปิ่นทองคำ ปิ่นทองเหลือง ปิ่นที่ทำจากเขา-กระดูกสัตว์  3. เครื่องประดับ  ‘สร้อยคอมุหรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า สายคอมุกและสร้อยสังวาลผู้รู้ทางด้านการแต่งกายแบบล้านนาได้กล่าวไว้ว่า สร้อยสังวาลนี้น่าจะเป็นเครื่องทรงของเจ้านายฝ่ายหญิง มากกว่าจะเป็นของหญิงสามัญชน จำนวนเส้นของสร้อยสังวาลยังบอกถึงฐานะทางสังคมอีกด้วย สำหรับแขนจะสวมกำไลที่มีลักษณะเป็นวงกลมธรรมดา กำไลเกลียว มีลักษณะเป็นเกลียวเดียวหรือหลายเกลียวเรียงกัน ส่วนกำไลข้อเท้า จะเรียกว่า ขอแฅ่ง หรือ ว้องแฅ่ง4.สื้อ มาถึงไฮไลท์เครื่องแต่งกายแบบอังกฤษสมัยพระราชินีวิกตอเรีย ได้เข้ามามีบทบาทในราชสำนักฝ่ายใน ลักษณะเสื้อแขนยาว จับจีบพองเป็นช่วงๆ ได้แก่ ตั้งแต่ไหล่ถึงต้นแขน และจากข้อศอกถึงข้อมือ อย่างที่เรียกกันว่า เสื้อแขนหมูแฮม” หรือ ขาหมูแฮม” คอเสื้อตั้งสูง ตัดพอดีตัว เสื้อผ่าหลังติดกระดุมเรียงราย 12 เม็ด เอวจีบเข้ารูปแต่งระบายลูกไม้ และยังมีแผงลูกไม้คลุมไหล่และอกด้านหน้าอีกด้วย ซึ่งผ้าลูกไม้ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ  นอกจากนี้ได้มีการประยุกต์ผ้าสไบที่เคยใช้เป็นผ้าผืนหลักในการปกปิดร่างกายส่วนบน ดังที่เคยห่มสไบเฉียง ที่เรียกว่า ห่มนอก” เปลี่ยนแปลงมาเป็นผ้าสะพายไหล่ โดยทำผ้าสไบให้ผืนแคบลง ขึงกลางผืนไว้บนบ่าซ้าย และรวบชายทั้งสองไว้ที่เอวด้านขวา เรียกกันว่า แพรสะพาย” กลายมาเป็นเพียงเครื่องประดับชิ้นหนึ่งที่เพิ่มความงามให้แก่เสื้อ 5.ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม  เมืองแม่แจ่มได้รับการกล่าวถึงความประณีตในศิลปะแห่งการทอผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าซิ่นที่เป็นของเก่าจะมีลวดลายแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ที่สนใจซื้อหาไปสะสม เมื่อซิ่นแม่แจ่มเริ่มมีชื่อเสียง การทอผ้าซิ่น แบบใหม่จึงได้เริ่มขึ้น แต่เนื่องจากลวดลายแบบเก่านั้นทำยาก ซิ่นแม่แจ่มในปัจจุบันจึงเป็นลวดลายแบบใหม่ ผ้าฝ้ายที่ใช้ก็มัก เป็นผ้าฝ้ายเกลียวจากโรงงาน มากกว่าที่จะใช้ผ้าฝ้ายจากธรรมชาติ ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบการแต่งกายร่วมสมัยที่มีความงดงามและมีเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่า ล้านนาไทย

เขียนโดย : นางสาวปราวิรัตน์ ราษฎร์ดี
เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/