ความหลากหลายของสีมาและใบเสมา “เสมาเดี่ยว เสมาคู่ มหาสีมาและขัณฑสีมา”

ความหลากหลายของสีมาและใบเสมา
“เสมาเดี่ยว เสมาคู่ มหาสีมาและขัณฑสีมา”

สีมา แปลว่า เขตหรือแดน
พระวินัยระบุว่า พระทุกรูปที่อยู่ในเขตเดียวกัน จะต้องมาประชุมทำสังฆกรรมร่วมกันโดยพร้อมเพรียง ซึ่งเขตที่กำหนดไว้นี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “สีมา” โดยสีมานี้จะมีได้ 2 แบบคือ
1. อพัทธสีมา เขตที่สงฆ์ไม่ได้กำหนดเอง แต่ถือตามเขตบ้านเมืองหรือขอบเขตธรรมชาติ
2. พัทธสีมา เขตที่สงฆ์ได้ตกลงกันกำหนดขึ้น

ซึ่งถ้าถือตามกำหนดของบ้านเมืองก็จะมีความลำบาก ดังที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้เล่าว่า “เมื่อถือตามตำบล เมื่อเขตตำบลมีแค่ไหน พระที่อยู่ในตำบลนั้นถึงคราวมีเรื่องส่วนรวมต้องมาประชุมร่วมกันหมด ขาดองค์เดียวไม่ได้ และถ้าพระองค์ไหนที่อยู่นอกเขตผ่านเข้ามาในเขตตำบลนั้น ก็ต้องมาเข้าที่ประชุม แล้วใครจะไปตามไหว ถ้าปฏิบัติไม่ได้ตามนี้ก็กลายเป็นว่าสังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ เพราะฉะนั้นการผูกสีมาจึงสะดวกกว่า”

โดยตามพระวินัยก็ได้บอกวิธีกำหนดเขตไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พึงสมมติสีมาอย่างนี้ ในเบื้องต้นพึงทักนิมิต คือ ปัพพตนิมิต (นิมิตคือภูเขา) ปาสาณนิมิต (นิมิตคือแผ่นหิน) วนนิมิต (นิมิตคือป่า) รุกขนิมิต (นิมิตคือต้นไม้) มัคคนิมิต (นิมิตคือหนทาง) วัมมิกนิมิต (นิมิตคือจอมปลวก) นทีนิมิต (นิมิตคือแม่น้ำ) อุทกนิมิต (นิมิตคือน้ำ)” แต่ที่นิยมใช้ในการบอกเขตก็คือแผ่นหินที่เราเรียกกันว่าใบเสมานั่นเอง
นอกจากนี้ภิกษุในแต่ละสีมาต้องทำสังฆกรรมในโรงอุโบสถ (อุโปสถาคาร) แห่งเดียวเท่านั้นจะมีมากกว่า 1 แห่งมิได้
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์ ต้องการให้เป็นโรงอุโบสถแล้วจึงทำอุโบสถ”

อย่างไรก็ตามเมื่อคณะสงฆ์ใหญ่ขึ้นสีมาที่มีขอบเขตกว้างก็ทำให้เกิดปัญหา ดังที่สมเด็จฯท่านเล่าว่า “เมื่อใครเข้ามาในสีมาแล้วถ้าเป็นพระภิกษุ ต้องเข้าที่ประชุม ถ้าไม่เข้าก็ทำให้สังฆกรรมเสีย และระหว่างที่มีสังฆกรรมอยู่จะมีภิกษุอื่นเข้ามาในเขตไม่ได้ ถ้ามีก็ต้องเข้าที่ประชุมหมด ทีนี้ระหว่างที่ทำสังฆกรรมถ้าเกิดมีพระอื่นเข้ามาในเขต ก็จะทำให้สังฆกรรมเสียได้” ดังนั้นโบราณคณาจารย์ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการลดขอบเขตสีมา เอาใบเสมามาไว้เฉพาะรอบพระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประชุมเท่านั้น ดังเช่นที่เราเห็นในปัจจุบัน (ดังนั้นไม่ว่ายังไง ก็จะครบองค์ประชุมเสมอ นับเป็นการเลี่ยงบาลีอย่างชาญฉลาดโดยแท้)

เสมาคู่และเสมาเดี่ยวต่างกันอย่างไร
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
1. เป็นเครื่องบอกว่าเป็นวัดหลวงหรือวัดราษฎร์
“หนังสือเรื่องเมืองไทย ที่มองสิเออ เดอลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส เข้ามาครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งไว้ ในตอนพรรณนาว่าด้วยวัด เขาบอกอธิบายว่า ถ้าเป็นวัดหลวงมีใบเสมาหินซ้อน ๒ ใบ ถ้าเป็นวัดราษฎร์ มีใบเสมาหินแต่ใบเดียว”
“พิจารณาดูใบเสมาวัดหลวง เช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนและวัดสุทัศน์ ก็เป็น ๒ ใบซ้อนกันทุกวัด วัดราษฎร์นั้นได้เห็นก็เป็นเสมาใบเดียวจริงเหมือนเช่นว่า”
2. เกิดจากการที่สงฆ์มีหลายฝ่าย จึงมีเสมาคู่เพื่อให้แต่ฝ่ายไม่รังเกียจในการร่วมสังฆกรรมด้วยกัน
“ที่โบสถ์มีใบเสมาใบเดียวหรือหลายใบซ้อนกัน เห็นจะเป็นด้วยพระสงฆ์ต่างนิกายผูกพัทธสีมา นิกายไหนผูกก็ปักใบเสมาของนิกายนั้นไว้เป็นสำคัญ เพราะผูกหลายคราวใบเสมาจึงมีซ้อนกันเป็นหลายชั้น” และ
“โบสถ์วัดหลวงทำใบเสมาซ้อน 2 ใบมาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ ในทำเนียบพระสงฆ์เรียกเป็น 2 ฝ่ายมาแต่โบราณ คือ พระสงฆ์คามวาสี แปลว่า อยู่ในละแวกบ้าน ฝ่าย 1 พระสงฆ์อรัญวาสี แปลว่า อยู่ชายป่า ฝ่าย 1”
3. อย่างไรก็ตามในพระวินัยก็ได้มีการกล่าวถึงที่มาของการเว้นช่องว่างระหว่างสีมา (สีมันตริก) ว่า
“เนื่องจากพวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาทับสีมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติทับ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์จะสมมติสีมา เว้นช่องว่าง ในระหว่างสีมาแล้วจึงสมมติสีมา” ดังนั้นเสมาคู่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่โบราณคณาจารย์คิดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ามีช่องว่างระหว่างสีมาตรงตามพระวินัยแน่ๆก็เป็นได้

มหาสีมาและขัณฑสีมา
ต่อมาในสมัยรีชกาลที่ 4 ได้ทรงกำหนดสีมา (ตามแบบกัลยาณีสีมาของมอญ) ที่ครอบคลุมทั้งวัด นัยว่าเพื่อให้ตรงกับแบบในพระบาลีและเพื่อความสะดวกในการทำสังฆกรรมว่าจะทำตรงไหนในวัดก็ได้ ดังที่มีในจารึกวัดราชประดิษฐ์ซึ่งเป็นวัดเดียวที่มีเฉพาะมหาสีมาว่า

        สังฆกรรมทําได้ทั่ว          ทั้งวัด
แต่ว่าจําประฏิบัติ                    ที่ถ้วน
ชุมนุมภิกษุบรรพสัช                ให้หมด เจียวนา
ทวารทั่วทุกทิศล้วน                  ปิดแล้วจึงกระทําฯ

อย่างไรก็ตาม มหาสีมานี้ ก็ยังมีความวุ่นวายอยู่มาก เนื่องจากจำเป็นต้องปิดประตูวัดทั้งหมดขณะทำสังฆกรรม เพื่อไม่ให้มีภิกษุอื่นเข้ามาในสีมาได้ นอกจากนี้แล้ว การทำสังฆกรรมก็จำเป็นต้องกระทำในโรงอุโบสถที่สงฆ์สมมติไว้แล้วอยู่ดี
ดังนั้นวัดที่มีมหาสีมาส่วนใหญ่ จึงมีการคลี่คลายเป็นแบบที่มีสีมา 2 ชั้น
1. ชั้นนอกรอบเขตวัด เรียก มหาสีมา
2. ชั้นในรอบพระอุโบสถ เรียก ขัณฑสีมา
โดยมักจะทำสังฆกรรมในพระอุโบสถ แต่บางครั้งอาจทำนอกพระอุโบสถได้ถ้าต้องการพื้นที่มากขึ้น (ยังฟังทะแม่งๆอยู่ เนื่องจากไม่ได้สมมติให้เป็นโรงอุโบสถแต่แรก แม้จะอ้างว่าจะอยู่ในมหาสีมาก็ตามที)

ในปัจจุบัน วัดที่มีมหาสีมานี้ ก็จะมีอยู่ไม่กี่วัดได้แก่
1. วัดที่ลงท้ายด้วย “สถิตมหาสีมาราม”
ได้แก่ วัดราชประดิษฐ์ (ร.4), วัดราชบพิธ (ร.5), วัดโพธินิมิตร (สมเด็จพระวันรัตน แดง สีลวฑฺฒโน)
2. วัดอื่นๆที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้แก่ วัดโสมนัส, วัดมกุฏกษัตริยาราม, วัดบรมนิวาส

ลูกนิมิต
ในพิธีปัจจุบันที่เรียกว่า “การฝังลูกนิมิต ผูกสีมา” (ผูกแล้วเรียกพัทธสีมา)นั้น การสมมติเขตจะใช้ลูกหินที่เรียกว่าลูกนิมิตเป็นตัวกำหนดเขต แล้วมีใบเสมาตั้งไว้ด้านบนเพื่อเครื่องให้สังเกตเห็น
อย่างไรก็ตามในสมัยโบราณน่าจะถือเอาใบเสมานั่นเองเป็นนิมิต โดยไม่ต้องมีลูกนิมิต ซึ่งกรมพระยาดำรงฯ ได้เล่าว่า “ได้ทูลความตามที่คิดเห็นแก่สมเด็จพระมหาสมณะฯ ท่านตรัสว่า เสมา ๓ ใบซ้อนที่วัดเขารังแร้งนั้นท่านก็ได้เคยทอดพระเนตรเห็น แต่ไม่ได้ทรงพระดำริถึงเหตุที่ทำอย่างนั้น ด้วยเวลานั้นมีพระประสงค์จะทรงตรวจแต่ลูกนิมิตรของโบราณว่าทำอย่างไร ได้ให้ขุดชันสูตรตรงที่เสมาพังหมดแล้วแห่งหนึ่ง ค้นเท่าไรก็ไม่พบลูกนิมิตร จึงเข้าพระทัยว่าแต่โบราณเห็นจะถือเอาหินใบเสมาเองเป็นนิมิตร”

1.การผูกสีมา ตามพระวินัย, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต)
2. พระไตรปิฎกเล่มที่ 4 พระวินัยปิฎกเล่มที่ 4 (ฉบับมหาจุฬาฯ) มหาวรรค ภาค 1
3. สาส์นสมเด็จ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2483, สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
4. กว่าจะเป็นหลักสีมาเขต วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, พิทยา บุนนาค

รูปที่ 1 พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม

รูปที่ 2 เสมาแบบโปร่งบนกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม (ขัณฑสีมา)

รูปที่ 3 เสมาแบบโปร่งบนกำแพงวัดมกุฏกษัตริยาราม (มหาสีมา)

รูปที่ 4 เสมาคู่ วัดระฆังโฆษิตาราม

รูปที่ 5 เสมาคู่ วัดระฆังโฆษิตาราม แสดงช่องว่างระหว่างสีมา (สีมันตริก)

รูปที่ 6 เสมาหินทราย วัดพระแก้ว จ.เชียงราย

รูปที่ 7 จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหาร วัดมกุฏกษัตริยาราม แสดงภาพวัดและมหาสีมาบนกำแพงวัด

เขียนโดย “หมอนกแก้ว (นกขุนทอง)

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/