สาระเล็กๆ น้อยๆ จากงานซ่อมบำรุง….รักษาพัดลมอย่างไรให้ใช้งานได้ยาวนาน

การบำรุงรักษาพัดลมให้ใช้งานได้ยาวนานและมีความปลอดภัย ​พัดลมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ประโยชน์คือ ใช้ระบายความร้อน ถ่ายเทอากาศและกำจัดความชื้น มีหลายรูปแบบตัวอย่างเช่น พัดลมตั้งโต๊ะ พัดลมติดผนัง พัดลมโคจรติดเพดาน พัดลมระบายความเย็นแบบชนิดติดตั้งบนฝ้าทีบาร์ รวมถึงพัดลมดูดอากาศ แต่ละชนิดมีขนาดที่แตกต่างและลักษณะงาน อยู่ที่ความเหมาะสมในการใช้งาน

ส่วนประกอบหลัก

1. ตัวมอเตอร์ (motor)

2. โครงสร้าง (ฝาครอบ ฐานยึด ขา)

3. ใบพัดและตะแกรงคลุมใบพัด

4. อุปกรณ์ควบคุม

5. ตัวปลักไฟและสายไฟฟ้า

หลักการทำงาน

​เมื่อเสียบปลั๊กไฟหรือจ่ายไฟฟ้าเข้าและกดสวิทซ์หรือปุ่มเลือกความเร็วของพัดลม กระแสไฟฟ้าจะเข้าตัวมอเตอร์ ทำให้แกนมอเตอร์ที่ยึดติดกับใบพัดหมุน จึงพัดลมออกมา ความเร็วของลมจะแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปรับความเร็วรอบของมอเตอร์ส่วนมากจะออกแบบให้สามารถปรับได้ 3 ระดับ เมื่อมอเตอร์พัดลมทำงานปกติก็จะเกิดความร้อนขึ้นที่ตัวมอเตอร์ซึ่งเกิดจากพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการเหนี่ยวนำของมอเตอร์ ดังนั้นมอเตอร์จึงต้องมีใบพัดติดอยู่ที่ตัวหมุน(Rotor) เพื่อระบายความร้อนให้กับตัวของมันเอง

ปัญหา

​เมื่อใช้งานไปนานๆหรือหลายปี จะสังเกตเห็นว่าพัดลมได้หมุนช้าลง เหมือนไม่มีแรง ลมก็ไม่แรงเทียบกับที่ชื้อมาใหม่ๆ เมือจับตัวเครื่องของพัดลม ก็ร้อนกว่าปกติ มันเกิดอะไรขึ้นกับพัดลมตัวนี้

สาเหตุ

– ตัวบูชหรือแบริ่ง (Ball bearing) ที่ติดกับตัวหมุนของมอเตอร์ฝืด เนื่องจากขาดน้ำมันหล่อลื่น

– ขดลวดที่ตัวโครงมอเตอร์ (Stator) เกิดการ Short turn – สวิทซ์ควบคุมความเร็วเสีย

– ระบบแรงดันไฟฟ้าไม่ครบ (ปกติไฟฟ้าในบ้านจะอยู่ที่ 200-230 Vac 50 Hz)

การบำรุงรักษาและการตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้ พัดลมชำรุดและสามารถใช้งานได้ยาวนานและมีความปลอดภัย ปฏิบัติดังนี้

– เมื่อชื้อพัดลมมาใช้ใหม่ หลังจากใช้งานผ่านไปหนึ่งปีแล้ว ให้ใช้น้ำมันจักรหรือน้ำมันอเนกประสงค์หยอดแกนมอเตอร์ อย่างน้อย 3-6 เดือนต่อครั้ง (พิจารณาที่การใช้งาน) ไม่ควรใช้น้ำมันที่มีความหนืดมาก

– ทำความสะอาด เป่าฝุ่นที่เกาะติดตัวมอเตอร์และครีบหรือช่องระบายความร้อนที่ตัวมอเตอร์ เพื่อให้มีการระบายความร้อนได้ดี

– ตรวจเช็คตัวโครงและใบพัด ตะแกรงคุมใบพัดให้แน่นอยู่เสมอ (เมื่อเกิดการหลุดอาจทำให้ใบพัดเกิดการเสียหายได้)

– ถ้าตรวจพบใบพัดของพัดลมลมมีการแตกหัก หรือมีรอยร้าวให้เปลี่ยนใหม่ ห้ามใช้งานต่อ

– ห้ามดึงสายปลั๊กออกจากเต้ารับ ให้ใช้มือจับที่ตัวปลั๊กแน่นแล้วค่อยดึงปลั๊กออก เพื่อป้องกันสายไฟฟ้าขาด

สาเหตุที่พัดลมไหม้จนทำให้เกิดอัคคีภัยขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร

​เมื่อท่านเสียบปลั๊กจ่ายไฟฟ้าเข้าพัดลม เปิดสวิทซ์แล้วพัดลมไม่หมุนหรือหมุนช้าและช้ามาก หรือมีเสียงสั่น ให้ปิดและถอดปลั๊กออกทันที

​เหตุเกิดจากบูชหรือบอลแบร์ริ่งฝึด หรือมีเศษผ้า เชือก เศษสายต่างๆ มาพันกับตัวแกนหมุน ทำให้ตัวหมุนพัดลม(Rotor) ไม่หมุนหรือหมุนช้าผิดปกติ ใบพัดระบายความร้อนของมอเตอร์ไม่สามารถระบายได้ ประกอบกับมีกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับมอเตอร์อยู่ ทำให้เกิดความร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดวาบไฟที่ตัวโครง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติก พีวีชี เป็นเหตุให้ไฟสามารถติดลุกลามต่อไปได้