เมื่อฉันได้ทุน Erasmus+ ไปประเทศสเปน (EP.3. การอบรมของอ้อม)

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ University of Granada ภายใต้โครงการ Erasmus KA107 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก ERASMUS+ ในการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรระหว่างสถาบัน และนี่คือใบเบิกทางให้ฉันได้มีโอกาสได้รับทุนไปเข้าร่วมโครงการอบรม “XII Staff Training Week (Erasmus+: International Dimension partners) 2-6 July 2018” ซึ่งฉันหวังจะได้เจอเพื่อนชาวสเปนที่เคยได้รับทุนมาแลกเปลี่ยนที่มช.อีกด้วย

การไปอบรมครั้งนี้ ความวิเทศสัมพันธ์เรื่อง Flexible mind พร้อมปรับเปลี่ยนทุกสถานการณ์       ถือเป็นหัวใจหลัก แม้ว่าผู้จัดงานจะส่งอีเมลแจ้งเปลี่ยนสถานที่จัดงานที่อยู่ห่างจากที่เดิมไปเกือบ 3 กิโลเมตร  หรือแจ้งสลับ ปรับ งดกำหนดการใดๆ ก็ไม่มีปัญหา เพราะเราเข้าใจคำว่า “กำหนดการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม” เป็นอย่างดี และแล้วโชคดีก็เข้าข้างฉันอีกครั้งเมื่อสถานที่จัดงานใหม่อยู่ใกล้กับที่พักที่ฉันจองไว้ก่อนพอดี ซึ่งสถานที่นั้นก็คือที่ตั้งของคณะนิติศาสตร์ ที่นี่เราได้พบกับเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ที่ได้รับทุนจากหลายประเทศ เช่น รัสเซีย เมียนมาร์ อุซเบกิสถาน กัมพูชา โมร๊อกโก บอสเนีย เป็นต้น รวมๆแล้วร่วม 50 คนด้วยกัน และความวิเทศสัมพันธ์ในการเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก็เป็นอีกเรื่องที่ชาววิเทศตระหนักดี เมื่อใช้ชีวิตร่วมกับมิตรใหม่ๆ ว่าสิ่งไหนควรทำ ควรพูด สิ่งไหนไม่ควร ซึ่งฉันได้เรียนรู้มาจากประสบการณ์การทำงานต้อนรับอาคันตุกะจากหลากหลายทวีปที่มาเยือนมาหวิทยาลัยเชียงใหม่

เราใช้เวลาอบรมร่วมกันอยู่ 5 วัน เริ่มเวลาเก้าโมงเช้ายาวไปถึงบ่ายสอง ภาคเช้าเป็นการจัดบรรยาย ตามหัวข้อโดยจะเน้นเรื่อง Mobility รวมไปถึงการแนะนำหน่วยงานต่างๆ การบริหารจัดการงาน ส่วนภาคบ่ายมีทั้งบรรยายและนำเยี่ยมชมสถานที่ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยกรานาดา ซึ่งการอบรมนี้เป็นแบบ Nonstop เช้าจรดบ่ายไม่มีพักเลี้ยงอาหารเที่ยงเหมือนบ้านเรานะคะ วันแรกก็ตกใจนิดหน่อยพออบรมเสร็จออกจากห้องบรรยายปุ๊บ…ก็นำเดินไปเยี่ยมชมหน่วยงานปั๊บ…เจ้าท้องไส้ก็พากันร้องระนาว แม้จะมีขนมที่ติดกระเป๋ามาก็เอาไม่อยู่ พอเข้าวันที่สอง ที่สามเราก็เตรียมตัวเรื่องการกินอยู่เป็นอย่างดีไม่หิวแล้ว และยังมีเวลาสังเกตเพื่อนๆรอบกายว่าเป็นใครบ้าง จากที่อยู่กันคนละมุมก็เริ่มยิ้มทักทาย พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้เท่าที่เวลาและโอกาสจะเอื้ออำนวย

ภาพห้องอบรมที่บรรยากาศประหนึ่งโรงละครโอเปร่า

การอบรมที่ University of Granada จัดให้ผู้รับทุน Erasmus+ ในครั้งนี้ ได้เชิญวิทยากรจากหลากหลายสายงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ อาจารย์ รองอธิการบดี เรียกได้ว่าครบเครื่องคุ้มค่า ซึ่งผู้บรรยายทั้งหลายเหล่านั้นก็ได้เล่าและแบ่งปันประสบการณ์การทำงานให้พวกเราฟังกันอย่างสนุกสนาน เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอิสระ ซึ่งสาระสำคัญที่ฉันจับใจความได้จากการฟังบรรยายทั้ง 5 วัน ขอสรุปเป็น 5 หัวข้อที่ทำให้งานของเขาประสบความสำเร็จ ดังนี้

  1. ความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน ตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการเงินทุน Erasmus+ มหาวิทยาลัยกรานาดาบริหารจัดการขั้นตอนทุกอย่างอย่างเป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีเอกสารรองรับในการดำเนินการที่ชัดเจน ซึ่งก็ทำให้เขาได้รับทุนสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ
  2. การสื่อสารที่ชัดเจนเป็นสะพานนำไปสู่ผลงานที่สำเร็จ เขาใช้การสื่อสารที่ชัดเจนถ่ายทอดลงไปตามสายบังคับบัญชาทำให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเข้าใจเป้าหมายเดียวกันและสามารถทำงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์
  3. การบริหารจัดการงานที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เขาจะวางแผนเตรียมการร่วมกันล่วงหน้า ถึงแม้บางงานจะมีช่วงเวลาเตรียมงานที่กระชั้นชิด ก็สามารถจัดการได้ทันท่วงที
  4. Team work เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ที่กรานาดาเจ้าหน้าที่ อาจารย์และผู้บริหารจะทำงานร่วมกันเป็นทีม และสามารถทำงานแทนกันได้
  5. บุคลากรที่ทำงานได้แบบ Multi-tasking จะช่วยขับเคลื่อนงานขององค์กรได้ดี ผู้ที่สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบจะช่วยให้งานสำเร็จได้ดี และเขาสนับสนุนคนให้พัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ

ฉันได้เรียนรู้หลักคิด วิธีการทำงานที่บางอย่างก็เหมือน บางอย่างก็ต่างไปจากบ้านเรา ถือเป็นมุมมองใหม่ๆสำหรับฉันที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน และฉันหวังว่าเราจะมองภาพ Internationalization ไปในทิศทางเดียวกันดังเช่นที่มหาวิทยาลัยกรานาดา ซึ่งหลังจากอบรมเสร็จบอกได้เลยว่าไม่ใช่แค่สถานที่เสียแล้วที่ฉันหลงรัก ชาวกรานาดาก็ทำให้ฉันประทับใจมากด้วยเช่นกัน

 

ในส่วนของการเยี่ยมชมสถานที่เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม 2 แห่งด้วยกันคือ Hospital Real ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดีและคณะแพทยศาสตร์ มีบางจุดไม่สามารถที่จะถ่ายภาพได้ ฉันทำได้เพียงจดจำผ่านสายตาเท่านั้น การเดินทางไปที่ต่างๆนั้นจะมีเจ้าหน้าที่นำเดินไปเป็นกลุ่มพร้อมกัน ไม่มีเหงา ไม่มีหลง และบ่ายของอีกวันเราก็ได้ไปเยี่ยมชมที่ Parque de las Ciencias Science Museum

การเดินกลุ่มใหญ่ๆของพวกเรา

Hospital Real

การเยี่ยมชมสถานที่วันที่สองไม่มีเจ้าหน้าที่นำเดินไปแล้ว พวกเราได้รับแจ้งให้ไปเจอกันที่ด้านหน้าของสถานที่นัดหมายเลย ซึ่งการนัดเจอกันกับคนหมู่มากก็จะมีการหลงๆกันหน่อย แม้เจ้าหน้าที่แจ้งว่านัดเจอกันที่รูปปั้น Albert Einstein แต่เอ…..พอเลยเวลานัดแล้วผู้คนทำไมยังมากันไม่ครบนะ จนมีนักวิเทศสัมพันธ์จากชาติหนึ่งบอกว่า  ไอเห็นมี Albert Einstein ทางด้านหลังด้วยนะ เดือดร้อนผู้จัดงานต้องวิ่งไปตะล่อมคนมาจนครบ ใช้เวลาสักพักนึง กว่าเราจะได้เข้าไปชม Parque de las Ciencias “Science Museum”  ภายในนั้นก็อลังการงานสร้างกันเลยทีเดียว เมื่อเข้าไปเราจะได้รับชุดหูฟังเพื่อฟังการบรรยายจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่นำเราเดินไปตามห้องต่างๆ ออกจากพิพิธภัณฑ์ก็เดินไปชมสวนผีเสื้อ และจบวันนั้นด้วยการเดินไปชมการแสดงโชว์ของนกนานาชนิด พอกลับที่พักคืนนั้นก็หลับสนิทเลย

Parque de las Ciencias (Science Museum)

เขียนโดย อ้อมเหม่ง

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/