จากดงพญาไฟสู่เขาใหญ่ จากปากประตูสู่นรกสู่สถานที่พักผ่อนยอดนิยม

จากดงพญาไฟสู่เขาใหญ่ จากปากประตูสู่นรกสู่สถานที่พักผ่อนยอดนิยม (Development and destruction)

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงดงพญาไฟไว้ว่า (พ.ศ. 2449)

“เขาดงพญาไฟนี้ คือเทือกเขาอันเป็นเขื่อนของแผ่นดินสูง เขาเขื่อนที่กล่าวถึงนี้เป็นเขาหินปูน ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นเป็นดงทึบตลอดทั้งเทือกเขา มีทางข้ามได้เพียงช่องทางเล็กๆ ทางเดินผ่านดงพญาไฟนี้เป็นช่องทางเล็กๆ สำหรับเดินข้ามไปมาระหว่างสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมา มาตั้งแต่ครั้งโบราณ

โดยปากดงพญาไฟอยู่บริเวณเชิงเขาอำเภอแก่งคอย ผ่านกลางดงไปออกจากดงที่ตำบลปากช่อง เส้นทางนี้ผ่านไปได้เพียงแต่เดินเท้า จะใช้โคและเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางเดินต้องเลียบขึ้นไปตามไหล่เขาบ้าง เดินไต่ไปตามสันเขาบ้าง เลี้ยวลดไปตามทางเดินที่เดินได้สะดวก ตั้งแต่ตำบลแก่งคอยต้องค้างคืนในดงพญาไฟ ๒ คืนจึงจะพ้นดงที่ตำบลปากช่อง แล้วก็ใช้โคและล้อเกวียนเดินทางต่อไปถึงเมืองนครราชสีมาได้”

โดยอองรี มูโอต์ ( Henri Mouhot) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงอย่างมากจากการค้นพบนครวัดได้บรรยายถึงดงพญาไฟไว้ในปี พ.ศ.2404 ว่า “ข้าพเจ้ายืนอยู่ตรงปากประตูสู่นรก นี่คือสำนวนที่คนลาวและสยามกล่าวขวัญถึงป่าดงดิบแห่งนี้ สรรพสัตว์อันชวนพิศวงจากอาณาจักรแห่งความตายกำลังหลับใหลอยู่ใต้เงาไม้อันหนาทึบซึ่งปรากฏร่องรอยเศษซากกระดูกของนักเดินทางผู้น่าสงสาร”

เปลี่ยนชื่อ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เคยเสด็จผ่าน (ต่อมาได้ทรงสร้างพระราชวังสีทาที่อ.แก่งคอย จ.สระบุรี )และ “ทรงปรารภขึ้นว่า ที่จริงในดงพญาไฟอากาศเย็นดี ไม่มีเวลาไหนที่อากาศร้อนเลย ไม่สมควรเรียกดงพญาไฟ จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นดงพญาเย็น คนจะได้หายกลัวกัน”

 

การสิ้นสุดของอันตรายและธรรมชาติ

ความน่ากลัวนี้ก็ยังคงอยู่จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเมื่อมีการตัดทางรถไฟเส้นแก่งคอย-ปากช่อง ผ่านดงพญาเย็นในปี พ.ศ. 2438 นั้น มีคนงานและชาวต่างประเทศป่วยตายเป็นอันมาก ดังปรากฏหลุมศพของ Mr. Knud Lyne Rahbek ซึ่งเป็นบุตรชายของวิศวกรที่มาคุมงาน ที่สถานีรถไฟมวกเหล็ก

จนในที่สุดรัชกาลที่ 5 ต้องเสด็จมาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2439 ดังปรากฏพระพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” “ส.ผ.” “๑๑๕” ที่สถานีรถไฟผาเสด็จและมีเรื่องเล่าถึงพิธีกรรมเพื่อแก้เคล็ดต่างๆ เช่นเรื่องต้นตะเคียนที่บ้านหินลับ (แต่ที่ evidence ดีที่สุดน่าจะเป็นการยกเลิกการว่าจ้างฝรั่งแล้วให้การรถไฟทำเอง) ทำให้สามารถสร้างทางรถไฟผ่านได้สำเร็จ

และในที่สุดก็ได้มีการตัดถนนผ่านดงพญาเย็น ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของความศักดิ์สิทธิ์ของผืนป่าแห่งนี้

โดยมีการตัดถนนสุรนารายณ์ (ทางหลวงหมายเลข 205) ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และถนนมิตรภาพ โดยความช่วยเหลือของ USOM ใน พ.ศ. 2498

เอกสารอ้างอิง

  1. นิทานโบราณคดี “เที่ยวตามทางรถไฟ”
  2. บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ – อ็องรี มูโอต์ Henri Mouhot เขียน; กรรณิกา จรรย์แสง แปล
  3. จดหมายเหตุของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ
  4. FB โคราชในอดีต

 

ขอบคุณรูปจาก mgronline.com

เขียนโดย หมอนกแก้วนกขุนทอง

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/