ไปอินเดีย ตอนที่ 1 วัดไทยพุทธคยา และ พุทธคยา

ปลายพุทธศักราช 2519 เวลานั้นโควิด 19 ยังไม่ระบาดถึงประเทศไทยและเอเชียใต้ เราทั้งหมด 5 คนเดินทางโดยสายการบิน Thai smile จากสุวรรณภูมิเพียงแป็บเดียวก็ถึงแล้ว พอเครื่องเข้าเขตอินเดียผมก็ได้รับการต้อนรับด้วยค่า PM ที่สูงมาก มองไปที่ขอบฟ้าจากหน้าต่างเครื่องบิน เห็นหมอกปกคลุมโลกส่วนนี้ รู้มาก่อนว่าที่นิวเดลลีมีค่า PM สูงมาก เป็นทุกปีของอินเดีย เพราะจากรถทีขับไปมา และ จากการเผา พอเครื่องลดระดับลง เห็นความแห้งแล้งของประเทศนี้อย่างชัดเจน นี่ขนาดเริ่มเข้าหน้าหนาว ไม่ใช่หน้าแล้ง ผมทำใจก่อนมาประเทศนี้แล้วยิ่งไปรัฐที่จนที่สุดของประเทศด้วย ลืมบอกไปครับ ผมไปเมืองคยา รัฐพิหาร เครื่องร่อนลงที่สนามบิน Gaya ถึงแม้ว่าเป็น สนามบินนานาชาติแต่มีเครื่องบินมาลงไม่กี่สายการบิน และที่แปลกคือที่นี่เป็นสถามบินทหาร พอเข้าไปถึงรู้เลยว่ามาถึงดินแดนพุทธภูมิเพราะเปิดเพลงภาษาบาลีตลอดตั้งแต่เดินเข้าสนามบิน ต้องบอกก่อนว่าสนามบินนี้ไม่มีร้านค้าให้ซื้อของ ร้านกาแฟก็มีเฉพาะขาออก สิ่งแรกที่ต้องผ่านคือด่าน ต.ม. แต่ก่อนผ่านต้องเอาของที่ติดตัวและหิ้วมาด้วยเข้าเครื่องสแกนก่อน แล้วถึงไปเข้าแถวผ่านด่าน ต.ม. ผมทำวีซ่าแบบอินเตอร์เนต ต้องรอตามคิวและต้องเอาใบที่พิมพ์ออกจากอีเมล์และพาสปอร์ตมายื่นกับเจ้าหน้าที่ ก็ใช้เวลาพอสมควรที่ทั้งหมดผ่านด่าน เราเดินผ่านทางขาเข้า เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ก็ยกมือไหว้ตามธรรมเนียมคนไทย ขาเข้าที่นี้ไม่มีอะไรนอกจากพระพุทธรูปให้กราบไหว้ ที่นี่เขาบริการรถเข็นฟรีเอาขนของไปถึงรถที่จอดนอกอาคารได้เลย ขอบอกก่อนเลยว่าที่รัฐนี้ของอินเดียเขาห้ามนำสุราเข้ามา ห้ามขายด้วยรัฐนี้เขาเอาจริง

เมื่อออกไปนอกท่าอากาศยาน จะเจอถนนสาย NH 22 ถ้าเลี้ยวซ้ายก็จะไปเมือง Gaya แต่ถ้าเลี้ยวขวาก็จะไป พุทธคยา และวัดไทย ซึ่งห่างกัน 15 กิโลเมตร ผมตรงไปวัดไทย การไปอินเดียครั้งแรกมันตื่นตาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นถนนแคบๆ ไม่เรียบ จากสนามบินทหาร ผ่านรถที่แซงมาคันแล้วคันเล่าโดยไม่สนใจว่าเป็นเลนใคร พร้อมกับบีบแตรเสียงดัง เจ้ารถที่ผมนั่งไปก็บีบแตรตอบ หน้าตาคนขับก็ปกติ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพิ่งมารู้ว้าการบีบแตรเป็นมารยาทที่ดี และผมก็มาถึงวัดไทยพุทธคยา

จากประตูวัด กลับเข้าโหมดวัดไทย เงียบสงบ ต้องเดินผ่านอู่น้ำ ที่ที่ขายน้ำและของที่ระลึกของวัด หน้าอู่น้ำบางวันมีชาอินเดีย เป็นชาสมุนไพรเรียกว่า กาลัม จาย ส่วนประกอบสำคัญคือต้มใบชากับน้ำขิงแก่ เติมนมสด สมุมไพรอินเดีย น้ำตาล คนอินเดียชอบทาน แต่ต้องมีเจ้าภาพ เขามาตั้งตั้งแต่ตอนเช้า หมดก็ต้มไปเรื่อยๆ จนเย็น กรรมวิธีก็ไม่ยาก ถัดไปโรงพยาบาลพระพุทธเจ้า ความจริงเป็นห้องพยาบาลที่มีเจ้าหน้าที่อาสาของกระทรวงสาธารณสุขมาปฏิบัติงาน มีรถพยาบาล อาคารต่อไปเป็นสถานกงศุลไทยพุทธคยา ดูแลผู้มาแสวงบุญโดยเฉพาะ

ตรงข้ามกับอู่น้ำ เป็นอุโบสถทรงไทย พระอุโบสถของวัดไทยพุทธคยาจำลองแบบมาจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร องค์พระประธานที่เป็นพระพุทธชินราชจำลอง วัดไทยแห่งนี้สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศอินเดีย

ส่วน พุทธคยา คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญใน อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีเรียกว่าวัดมหาโพธิ ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร ในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก

ทางไปและกลับวัดไทยจากวัดมหาโพธิ เป็นระยะทางสั้นๆ เรียกว่า Dormuhan-Bodhgaya road ที่สองข้างทางเป็นแผงลอยขายของที่ระลึก เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่กระเป๋า ไม้แกะสลัก ระฆัง ไปจนกระทั่ง ของกิน ที่เห็นมีหลายอย่าง คนเข้าวัดต้องเดินอ้อมมหาเจดีย์ไปทางทิศตะวันออก และผ่านด่านสแกนและค้นอาวุธ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของมหาเจดีย์ ถ้าผ่านเครื่องสแกนแล้วเลี้ยวซ้ายจะเจอลานด้านนอกเป็นที่กว้างให้คนอาศัยเดิน คนเนปาลมาจับจองวางเตียงนอนกราบ ไม่เฉพาะด้านนี้ เขาวางเตียงกราบจนถึงรอบเจดีย์ เขามีความเชื่อว่าการกราบพระต้องสัมผัสพื้นตั้งแต่หัว หัวเข่า ไปจนเท้า ทางด้านทิศใต้ของมหาเจดีย็ นอกจากคนเนปาลแล้วยังมี คนชาติอื่นๆ ที่พระสงฆ์นำมา อาจบรรยายธรรม หรือ สวดมนต์ตามความเชื่อ ก่อนจะลงสระมุจรินทร์จำลอง เป็นเสาอโศก เสานี้ไม่มีหัวเป็นรูปสิงห์ ในประวัติศาตร์เล่าว่าสร้างจากหินทรายสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทุกวันนี้วัยรุ่นอินเดียเอาเงินเหรียญโยนให้ค้างอยู่ยอดเสา ข้างสระมุจรินทร์เป็นที่จุดธูปและไฟ เดาเอาว่าน่าจะเป็นพวกชาวอินเดียหรือจีนเป็นคนสร้าง

ถ้าเราผ่านเครื่องสแกน แล้วเลี้ยวขวาจะผ่านซุ้มหิน และเดินลงตรงไปจะมีห้องใต้พระมหาเจดีย์เป็นที่ตั้งของห้องบูชาชั้นล่างสุดของมหาเจดีย์พุทธคยา และเป็นที่ตั้งของ พระพุทธเมตตา พระพุทธเมตตาองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร ศิลปะสมัยปาละ และสร้างในสมัยนั้นด้วยหินแกรนิตสีดำ มีอายุกว่า 1,400 ปี  มีอายุไล่เลี่ยกับ หลวงพ่อองค์ดำ แห่งเมืองนาลันทา กรุงราชคฤห์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย เหตุที่เรียกว่าพระพุทธเมตตา เพราะพระพักตร์ เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน เมตตากรุณา ที่นี้มีพระสงฆ์เข้าเวรเปลี่ยนเครื่องทรง ซึ่งเครื่องทรงจะหาซื้อได้ทางหน้าของวัด หรือจะเตรียมไปจากบ้านก็ได้

คนชาวพุทธ รวมตัวกันหนาแน่นใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ใกล้ๆกันนั้นมีพระแท่นวชิรอาสน์ ทั้งคนไทย เมียนม่า ลังกา แต่คนจีนมาน้อย คนเมียนม่าชอบแห่มาเป็นกลุ่มและแห่ผ้าคลุมพระไปด้วย ปากก็สวดไป ส่วนคนเวียดนาม พม่า และคนภูฐาน มักจะมาเป็นกลุ่ม อยู่นอกกำแพงแต่อยู่ใต้ต้นโพธิ ทุกคนจะสวดมนต์ทำสมาธิตามความเชื่อของตัวเอง มีพระบางรูปที่ปักหลักทำสมาธิโดยการตักเม็ดทราย บางคนก็ตีระฆัง บางคนก็เอาหนังสือสวดมนต์อ่านตาม ส่วนประตูทางออกอยู่ทางทิศตะวันตก บางคนก็กราบ แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน วัดนี้จะเปิดถึงตอนกลางคืน การเที่ยวชมวัดใช้เวลามาก แม้ว่าพระที่ประดับองค์พระเจดีย์ จะมีการสร้างใหม่บ้างก็ตาม

เขียนโดย นายนกฮูก

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/