เรื่องเล่าในความทรงจำ “ครั้งหนึ่งเมื่อตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ออกหน่วยแพทย์อาสากับ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย อธิการบดี มช. ในขณะนั้น”

วันหยุดจัดระเบียบห้อง ค้นพบภาพนี้ ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ไปออกหน่วยแพทย์อาสากับ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย อธิการบดี มช. ในขณะนั้น อาจารย์และพี่แอ้ (ภรรยาอาจารย์) จะไปออกหน่วยตามโครงการหลวงต่างๆ

ครั้งนั้นในระหว่างที่พวกเรากำลังตรวจชาวเขาที่ไม่มีชาวเรา(พื้นที่ราบ)เลย มีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาหาหัวหน้าหมู่บ้านที่กำลังสาละวนอยู่กับการจัดคิวคนไข้ แล้วหัวหน้าหมู่บ้านก็มาหาอาจารย์เกษม ได้ความว่าภรรยาของชายคนนี้เจ็บท้องคลอดมาหลายวัน หมอตำแยของหมู่บ้านไม่สามารถทำคลอดได้ ตอนนี้ภรรยาเขาเจ็บท้องมากคลอดลูกไม่ได้ เขารู้ว่ามีหมอมาออกหน่วยที่นี่จึงมาขอความช่วยเหลือ อาจารย์หันไปถามหัวหน้าโครงการหลวงว่า ระยะทางจากหมู่บ้านไปโรงพยาบาลหรืออนามัยที่ใกล้สุดใช้เวลาเท่าไหร่ เราจำไม่ได้ว่าหัวหน้าโครงการหลวงตอบอาจารย์ว่าใช้เวลากี่ชั่วโมง แต่รู้ว่ามันนานมาก และทางลำบาก คงจะไม่สามารถพาไปโรงพยาบาลได้ อาจารย์หันไปปรึกษาพี่แอ้ เพราะพี่แอ้เป็นอดีตพยาบาล แล้วก็สรุปว่า พวกเรานี่ล่ะต้องไปช่วยทำคลอด ไม่มีทางเลือกอื่น แต่เราไม่มีอุปกรณ์อะไร นอกจากใบมีดผ่าตัดและกรรไกรตัดไหมที่ติดมาเผื่อกรีดหนอง และที่เย็บแผล

จำได้ว่าพี่แอ้ตัดสินใจไวมากว่า ไม่เป็นไร เราทำได้ ถ้าส่งโรงพยาบาลอาจเสียชีวิตกลางทางทั้งแม่และลูกเพราะหนทางไกลมาก เราจะไปทำคลอดกันที่บ้าน ปัญหาต่อมาคือ แล้วใครจะเป็นหมอทำคลอด เพราะหมอที่ไปเป็นอายุรแพทย์ทั้งหมด ไม่ได้ทำคลอดมาหลายปี พี่ๆก็ชี้มาที่เรา เจ้าจุ๊บไง เด็กสุด เพิ่งผ่านward สูตินรีเวช และเราเป็น นักศึกษาแพทย์คนเดียว อาจารย์จึงสรุปว่า ให้เราไปเพราะเด็กที่สุดน่าจะทำคลอดได้คล่องกว่าพี่ๆที่ทิ้งวิชาไปนาน และพี่มิตรที่เด็กรองลงมา โดยพี่แอ้นำทีม

แล้วพวกเราก็กระโดดขึ้นท้ายรถปิคอัพของใครไม่รู้ นั่งหัวโยกหัวคลอนลัดเลาะไปตามหุบเขา ท่ามกลางสายหมอกยามเช้า ระหว่างทางเราก็ปรึกษากันว่าจะทำยังไง เรามั่นใจกันแค่ไหน คือจริงๆจะโยนกันนั่นแหละว่าใครจะเป็นมือทำคลอด พี่มิตรก็สรุปว่า น้องทำนะ พี่ช่วยเบ่ง 555 เอาละทำก็ทำ เป็นไงเป็นกัน…

รถมาหยุดที่บ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านชาวเขาทั่วไป พวกเราเดินขึ้นบันไดพร้อมสัมภาระ เมื่อขึ้นไป เราก็ผงะกันเล็กน้อย บ้านชาวเขาจะมีเตาไฟอยู่กลางบ้าน ปิดหน้าต่าวมืดทึบแทบหายใจไม่ออก กลิ่นอับโชยมาเพราะประเพณีที่ไม่นิยมอาบน้ำ และมีความเชื่อว่า คนใกล้คลอดหรือหลังคลอดไม่ให้ถูกแสงแดดถูกลมจะไม่สบาย พวกเราต้องสูดหายใจลึกๆ หลายๆที ให้คุ้นเคยกับกลิ่น

พี่แอ้ไม่รอช้า เข้าตรวจประเมินคนไข้ พวกเราตามไป วัดความดันชีพจร คนไข้ยังรู้ตัวแต่อ่อนเพลียมาก เพราะพยายามเบ่งคลอดมาหลายวัน พี่แอ้จัดการต้มน้ำเพื่อทำความสะอาด และเตรียมอุปกรณ์รับเด็ก สภาพเหตุการณ์ตอนนั้นเหมือนอยู่ในหนังย้อนยุค ที่นางเอกนอนคลอดกับพื้นห้อง เพียงแต่ไม่มีเชือกโยงมาให้นางเอกจับตอนเบ่ง และไม่มีผ้าอุดปากนางเอก

พอตั้งไฟต้มน้ำเสร็จ พี่แอ้ก็มาวางแผน กับพวกเราว่าใครจะทำอะไร พวกเราช่วยกันจัดวางท่าคนไข้ให้เหมาะสม พี่มิตรช่วยเชียร์เบ่ง สอนคนไข้เบ่ง เราต้องตัดฝีเย็บ และทำคลอด

สภาพคือคนไข้นอนที่พื้น ไม่มีเตียงไม่มีขาหยั่ง เราก็นั่งกับพื้นชันเข่า แล้วขบวนการทำคลอดก็เริ่มขึ้น เสียงเชียร์เบ่งจากพี่มิตร ได้ผล คนไข้เบ่งได้ดี แต่ก็เบ่งอยู่หลายครั้ง พอหัวเด็กเริ่มลงมาตุงๆ เราก็ตัดฝีเย็บฉับ อื๊ดๆๆๆๆๆ เสียงเชียร์เบ่งดังมาก 555 แต่ได้ผลหัวเด็กค่อยๆโผล่ออกมา เราก็จับตามที่เรียนมา คอเริ่มตามมา ไหล่ออกมาได้ทั้ง2ข้าง แล้วตัวก็ไหลปู๊ดออกมาเลย…ในที่สุดก็สำเร็จ 555 เด็กร้องอุแว้ๆ พี่แอ้ก็มารับเด็กไปเอาลูกยางแดงดูดเสมหะ น้ำมูกน้ำลายอาบน้ำเช็ดตัว เราก็นั่งยองๆเย็บแผลฝีเย็บต่อไป โดยมีพี่มิตรคอยตัดไหมให้ และแล้วเจ้าเด็กน้อยนี้ก็มาอยู่ในมือเราหลังคลอด

หนูน้อยคนนี้ อาจารย์เกษม ตั้งชื่อให้ในวันรุ่งขึ้นว่า ปิยะมิตร แปลว่า มิตรอันเป็นที่รัก

ไม่รู้ว่าป่านนี้ ปิยะมิตร จะมีลูกหลานกี่คนแล้วนะ แต่สิ่งที่เราคิดตอนนี้คือ ถ้าไม่มีในหลวง ร.9 ก็ไม่มีโครงการหลวง ไม่มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หนูน้อยปิยะมิตรจะมีโอกาสลืมตามาดูโลกมั้ย เราได้แต่หวังว่าลูกหลานของปิยะมิตรจะเข้าใจ รับรู้ถึงความโชคดี รับรู้ถึงคำว่าใต้ร่มพระบารมี และคำว่า ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร

 

เขียนโดย Mananya Wanpaisitkul

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/