ความสุขในการทำงาน

เครดิตภาพจากหนังสือ Happy Workplace (Happy 8)

“ความสุข” ของคนเรามีหลายรูปแบบ  นับตั้งแต่ตอนเราเป็นเด็ก ความสุขก็คือ ได้เล่น ได้เรียน  และ ได้อยู่กับเพื่อน แต่พอโตมาแล้วได้มีงานทำ  สิ่งหนึ่งที่หลายคนปรารถนานั่นก็คือ “ความสุขในการทำงาน” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Happy at work  ซึ่งการทำงานอย่างมีความสุขนั้น เป็นสิ่งที่บุคลากรทุกคนในองค์กรนั้นปรารถนาหากได้ทำงานในที่ทำงานที่รู้สึกว่ามีความสุขจะรู้สึกผูกพัน สนุกสนาน ความรู้สึกที่มาทำงานจะหมดไปกลายเป็นการร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆ  หากองค์กรใดที่สามารถทำให้สมาชิกมีความสุขในการทำงานมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่องค์กรนั้นจะประสบผลสำเร็จได้มากขึ้นเท่านั้น

เครดิตภาพจากwww.dst.co.th

มีหลายคนบอกมาว่า “เมื่อโตขึ้นมา ความสุขเริ่มลดน้อยถอยลงไป”  อาจจะมาจากสภาวะที่ต้องรับผิดชอบสูงขึ้น หรือ มีปัจจัยภายนอกมาบีบรัด ไม่ว่าจะเป็นด้านทางเศรษฐกิจ  การแข่งขัน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรืออื่นๆ  ทำให้สภาพจิตใจของคนทำงานถดถอยออกไป ส่งผลทำให้ความสุขที่เคยมีมาลดน้อยลง  มีนักวิชาการบอกว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจของการทำงานนั้น ต้องประกอบไปด้วย

  1. ความรื่นรมย์ในการทำงาน (Arousal) เป็นความรู้สึกของบุคคลที่เกิดขึ้นในขณะทำงานหรือเกิดความรู้สึกสนุกกับการทำงานและไม่มีความรู้สึกวิตกกังวลใดๆ ในการทำงาน เช่น รู้สึกสนุกที่ได้ทำการสอนหนังสือ เป็นวิทยากร  สนุกที่ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ เป็นต้น
  2. ความพึงพอใจในงาน (Pleasure) เป็นความรู้สึกของบุคคลที่เกิดขึ้นในขณะทำงานโดยเกิดความรู้สึกเพลิดเพลินชอบใจพอใจเต็มใจสนใจ ไม่มีมีความทุกข์ใจและยินดีในการปฏิบัติงานของตน  แม้ว่างานบางอย่างจะได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างน้อย หรือเรารู้สึกพอใจในงานอย่างมาก จนไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เราออกไปหางานใหม่  สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า” “ความพึงพอใจในงาน”
  3. ความกระตือรือร้นในการทำงาน (Self-validation) เป็นความรู้สึกของบุคคลที่เกิดขึ้นในขณะทำงานโดยเกิดความรู้สึกว่าอยากทำงาน มีความตื่นตัวทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว  มีชีวิตชีวาในการทำงาน  ซึ่งความรู้สึกข้อนี้หากไปสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เคยทำงานแล้วไม่มีงานทำ เช่น เกษียณ หรือตกงาน  จะรับรู้ถึงความต้องการข้อนี้มากที่สุด

กลวิธีที่ทำให้ทำงานแล้วมีความสุข หากไปอ่านหรือศึกษาจากหลายที่ มีนักทฤษฎีกล่าวไว้หลายท่านว่าต้องมีการปรับแนวคิดหรือพฤติกรรมอย่างไรบ้าง  เล่าให้ฟังพอสังเขป ดังนี้

  1. เข้าใจคุณค่าในงาน  งานแต่ละอย่างมีประโยชน์ตามบริบทที่แตกต่างกัน   บางคนไม่เข้าใจว่างานของตัวเองมีคุณค่าต่อองค์กรอย่างไรบ้าง การทำงานทั้งที่ไม่เข้าใจคุณค่าหรือเป้าหมายของตัวงานจะทำให้เรารู้สึกเบื่อหรือรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่มีความหมาย ซึ่งอาการรู้สึกเบื่อหรือรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไม่มีความหมายหือเกิดความรู้สึกต่ำต้อย ก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างไม่มีความสุข
  2. การพัฒนาตนเองและการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคลากร บางทีตัวเราเองทำงานไปเรื่อยๆ ทุกวัน รู้สึกว่าตัวเอง “ติดกับดักความคิดของตัวเอง” เหมือนไม่รู้จะพัฒนาอะไร ฉะนั้น การพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  ไม่ว่ะจะเป็นการเรียนในระบบหรือการศึกษาความรู้ด้านอื่นๆจะช่วยให้รู้ว่าตัวเองได้เปิดโลกกว้างและพัฒนาศักยภาพของตัวเองด้วย การพัฒนาตนเองไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนหรือการศึกษาที่ได้วุฒิ แต่เป็นการเรียนรู้นอกระบบก็ได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงงการให้รางวัลและชมเชยบุคลากรที่มีผลงานดี
  3. สมดุลชีวิตระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต หรือบางแห่ง เรียกว่า “พื้นที่อิสระจากงาน” ซึ่งหมายถึงว่า มีเวลาสำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้างนอกจากงานประจำ หากบางคนมุ่งแต่งานอย่างเดียว  ชีวิตนี้จะก็ขาดสีสันต์ของชีวิต บางรายอาจจะไร้เพื่อน ไร้สังคม ในทางตรงกันข้าม แต่บางคนก็ใช้ชีวิตสำหรับเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ก็จะทำให้ประสิทธิการทำงานไม่ดี ฉะนั้น การจัดสมดุลชีวิตจึงจะมีผลต่อความสุขในการทำงาน
  4. ค่าตอบแทน หรือระบบโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจน เหมาะสม เพียงพอต่อการดำรงชีพสวัสดิการ สิทธิประโยชน์การเลื่อนขั้นเงินเดือน ที่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจในภาพของปัจจุบัน
  5. สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานที่มีความปลอดภัย จากการมีอุปกรณ์และเครื่องมือในการทำงานที่เอื้อให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย รวมถึงการมีแผนที่ดีในการบำรุงรักษา
  6. ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากรในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา  ภายในหน่วยงาน  ต่างหน่วยงาน  สายงานเดียวกันและต่างสายงาน
  7. การมีระบบงานที่ชัดเจน รวมถึงความยุติธรรมในการประเมินผลงาน เพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติตามได้อย่างชัดเจน  รวมถึงการประเมินผลงานที่ยุติธรรม รวมถึง วิธีการสื่อสารไปยังผู้บริหาร เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูล ก็จะช่วยให้บุคลากรรู้สึกว่ามีอิสระและแนวทางในการสื่อสาร

 

ในความคิดของผู้เขียนเอง พยายามทำทำตัวให้มีความสุขทุกวัน โดยใช้หลักการทำงานที่เหลืออยู่ในองค์กรให้มีความสุข ให้มีประโยชน์ต่อส่วนรวม และหลีกเลี่ยงการทะเลาะ เพราะการทะเลาะกับคนอื่นแม่บอกเสมอว่า “เสียเวลาการมีความสุข” และ “ทำให้จิตใจไม่สงบ”   ฉะนั้น ทุกย่างก้าวของการทำงานในแต่ละวัน  เราจะนับถอยหลังไปทุกวินาที

ทางเดินข้างอาคารสุจิณโณ  สวยงาม สงบ และร่มรื่น  เวลาเดินผ่าน ต้องมีสติเสมอว่า…”เราจะมีเวลาเหลือเดินทางนี้อีกเท่าไหร่”

เขียนโดย สีไท

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/