สวนดอก…สวนดอกไม้ที่งดงามแห่งชีวิต

เครดิตภาพ นายวินนิวัตร ไตรตรงสัตย์

บทความนี้เป็นการเล่าถึงความผูกพัน ในมุมมองของข้าพเจ้า ที่เป็นการมองภาพย้อนหลังไปเป็นเวลาอย่างน้อย 32 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยเป็นเด็กมัธยมปลาย เป็นเด็กท้องถิ่นที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย อันเป็นเป้าหมายสำคัญในชีวิตของเด็ก ม.ปลายส่วนใหญ่ สมัยนั้นการเรียนการสอนได้จากหนังสือ และการจดบันทึกเนื้อหาที่คุณครูสอนบนกระดานดำ มองภาพย้อนไปเป็นเด็กใส่แว่นหนา ผมเกรียน ดูเนิร์ด แต่ก็มีเพื่อนๆเยอะ เพราะเป็นต้นฉบับเล็คเชอร์ที่ให้เพื่อนๆหยิบยืมอยู่เสมอ และช่วยกันติวกับเพื่อนๆเวลาสอบ  สมัยนั้นช่วงวันหยุด หรือหลังเลิกเรียนก็นั่งรถเมล์เหลือง สาย 1 มาลงที่สวนดอก ได้อาศัยห้องสมุดคณะแพทย์สวนดอก ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ดูทันสมัย สะอาด แอร์เย็นสบายเป็นที่อ่านหนังสือเตรียมสอบ ซึ่งต้องขอบคุณทางห้องสมุดคณะแพทย์ที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไป รู้สึกทึ่งมากที่เห็นบรรดาพี่ๆนักศึกษาแพทย์อ่านตำราเล่มหนาๆกัน (หนักเป็นกิโล สมัยนั้นยังใช้ index medicus ในการค้นหาวารสารการแพทย์กันอยู่) และแล้วก็ผ่านการสอบโควตาของเด็กภูธรภาคเหนือมาเป็นลูกช้าง มช เป็นรุ่นที่ข้อสอบโควตาเป็นข้อสอบอัตนัยด้วย ชีวิตในมหาวิทยาลัยดูมีชีวิตชีวา มีกิจกรรมต่างๆมากมาย มีพี่รหัส คอยให้คำชี้แนะ ที่สำคัญพาไปเลี้ยงข้าวฟรี พวกเราอยู่กันแบบพี่แบบน้อง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแพทย์เชียงใหม่ แต่การสอบก็สุดโหด เพราะมาโหลดสอบปลายปีทุกวิชา เรียกว่าอ่านกันแทบไม่ทัน ใครคะแนนเก็บไม่ดี ปลายปีมีหนาว แต่ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาได้ หากเรามีความตั้งใจ และทุ่มเท นึกแล้วก็เหมือนในหนังจีน ที่กว่าจะฝึกปรือวิทยายุทธให้สำเร็จ ก็ต้องผ่านด่านฝึกความอดทนต่างๆมากมาย ครูบาอาจารย์ที่ท่าทางดุ และน่าเกรงขามก็มีไม่น้อย แต่นั่นก็เป็นการขัดเกลาเหล่าศิษย์ทั้งหลาย จำได้แม่นยำว่ารู้สึกตื่นเต้นมากตอนที่ขึ้น extern ward แรก เริ่มด้วย ICU Med ตอนนั้นทั้งตื่นเต้น และกังวลมากว่าเราจะต้องรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ตอนนั้นจะเริ่ม short note ลงสมุดพกเล็กๆประจำตัวทั้ง dose ยา emergency ต่างๆ การคำนวณสารน้ำ การ CPR ฯลฯ จดจำ order ของอาจารย์และพี่ๆ resident ใน chart ผู้ป่วย ระบบติดตามตัวที่ทันสมัยขณะนั้น คือ pager หรือ beeper นั่นเอง และแล้วก็ผ่านแผนกต่างๆมาได้ด้วยดี ย้อนคิดดูแล้วสิ่งที่สำคัญไม่น้อยของความเป็นแพทย์ก็คือความรับผิดชอบ ทั้งการรับผิดชอบต่อตนเอง และผู้ป่วย เราต้องคอย update ความรู้และทักษะต่างๆอยู่เสมอ เพื่อที่จะทำให้เราสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมั่นใจและดีที่สุด เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน คณะแพทย์ มช ก็เติบโตเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ เช่น ตึกใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา (ก่อนหน้านั้นมีเพียง อาคารหลัก คือ สุจิณโณ  อาคารเรียนรวม อาคารบุญสมมาร์ติน อาคารตะวัน ตึกนิมมานฯ) รวมถึงด้านชีวิตความเป็นอยู่ของแพทย์ และนักศึกษาแพทย์ เช่น การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ สื่อการเรียนการสอนออนไลน์ต่างๆ electronic database รวมทั้ง smart phone และ application ต่างๆมากมาย คณะแพทยศาสตร์ มช และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ยังคงเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน และผู้ป่วยยากไร้ในภูมิภาคเสมอมา พวกเราได้ทำหน้าที่เหล่านี้อย่างงดงาม จากรุ่นสู่รุ่น รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่เห็นสวนดอกเติบโต และมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้า แม้วันเวลาจะเปลี่ยนแปลงแต่ความศรัทธา หน้าที่ และอุดมการณ์เพื่อการพัฒนาการดูแลสุขภาพที่ดีของประชาชนไม่เปลี่ยนไป ขอให้สวนดอกแห่งนี้ เป็นสวนที่มีดอกไม้อันแสนงดงามที่พร้อมจะเบ่งบานในใจของผู้คนตลอดไป

ด้วยรักจากใจ…..หมอล๋อง คนสวนดอก

ภาพโดย นพ.วิศาล วรสุวรรณรักษ์

ภาพโดย นายสงบ สนิท

ภายโดย นายลภน กมลวรานันท์

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/