การศึกษาต่อด้าน Audiovestibular Medicine ณ UCL Ear Institute, University College London (UCL) สหราชอาณาจักร

สวัสดีค่ะ ข้าพเจ้า ผศ.พญ.ศณัฐธร เชาวน์ศิลป์ อาจารย์ประจำหน่วยโสตวิทยา โสตประสาทวิทยาและการสื่อความหมายภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากทางคณะฯให้ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้าน Advanced audiology สาขา Audiovestibular medicine ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับแพทย์ ที่ UCL Ear Institute, University College London (UCL) ณ สหราชอาณาจักร ด้วยทุนพัฒนาบุคลากร คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปีงบประมาณ 2562)

Audiovestibular medicine เป็นสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของหูโดยตรง จากประสบการณ์ข้าพเจ้าที่ได้รักษาผู้ป่วยโรคหูมาก่อนหน้านี้ พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาทางหูเพิ่มมากขึ้น และสามารถแสดงอาการได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การได้ยินลดลง เสียงดังในหู เวียนศีรษะ เป็นต้น อาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงมีโอกาสตรวจพบภาวะประสาทหูเสื่อมตามวัยมากขึ้น ร่วมกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่รณรงค์ให้ตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดทุกราย จึงทำให้มีโอกาสตรวจพบทารกที่มีปัญหาการได้ยินเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการประเมิน วินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูที่ได้มาตรฐานจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น การไปศึกษาต่อครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมเรื่องหูในเชิงลึก การตรวจการได้ยินและการฟื้นฟูการได้ยินด้วยเทคนิคที่หลากหลาย รวมถึงการตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะเสียงรบกวนในหูและภาวะการประมวลผลทางการได้ยินผิดปกติซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวยังไม่แพร่หลายมากนักในประเทศไทย

ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปศึกษาต่อในครั้งนี้ สามารถนำต่อยอดการบริการเดิมให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ไม่ว่าจะการตรวจวินิจฉัยความบกพร่องทางการได้ยินด้วยวิธีต่าง ๆ, การเลือกและปรับเครื่องช่วยฟังผ่านเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน, การฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยประสาทหูเทียม รวมไปถึงนำองค์ความรู้ใหม่มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล เช่น การรักษาภาวะเสียงรบกวนในหูด้วย, การประเมินผู้ป่วยที่มีภาวะการประมวลผลทางการได้ยินผิดปกติ เป็นต้น ในระยะยาวอาจมีการร่วมมือกันแบบสหสาขาและสร้างเครือข่ายเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหูอย่างเป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้ความรู้ที่ได้ยังสามารถนำมาถ่ายทอดให้กับนักเรียน นักศึกษา แพทย์ใช้ทุน-แพทย์ประจำบ้าน รวมถึงพัฒนาให้เกิดงานวิจัยด้านใหม่ ๆ ได้ในอนาคต

เขียนโดย ผศ.พญ.ศณัฐธร เชาวน์ศิลป์

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ https://w2.med.cmu.ac.th/suandok-variety/