ความเป็นมา

 

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือสามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 1,800 เตียง ให้การรักษาระดับ Tertiary care โดยให้บริการโรคซับซ้อนแก่ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังเป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยที่ส่งต่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วภาคเหนือ นอกจากให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยแล้วโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ยังเป็นโรงเรียนแพทย์และสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพหลายระดับทั้งที่มีความชำนาญและที่ยังไม่มีความชำนาญ เช่น นักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด นักศึกษาพยาบาล นักเรียนผู้ช่วยพยาบาล เป็นต้น อีกทั้งโรงพยาบาลยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยมาช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรคต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง การรักษาบางอย่างทำให้ผู้ป่วยความต้านทานต่ำและการใช้อุปกรณ์การแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยในการทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาลขึ้นได้ เมื่อปี 2530 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจาก International Developmental Research Center ทำวิจัยเรื่อง Nurse Surveillance and Reporting Surveillance and Reporting System in j Hospital Infection Control เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบอัตราชุกของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลทั่วไป พบอัตราชุกของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เท่ากับร้อยละ 5.4 ของผู้ป่วยที่รับไว้ในโรงพยาบาล ในบางแผนก เช่น แผนกไอซียู พบว่ามีอัตราการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 12.9

 

ดังนั้นฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ จึงได้ริเริ่มให้มีหน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อทางการพยาบาล เมื่อเดือน กันยายน พ.ศ. 2530 โดยมอบหมายให้พยาบาล 3 คน ทำหน้าที่เป็นพยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อเป็นผู้ดำเนินงาน เนื่องจากงานนี้เป็นงานใหม่ ยังไม่มีรูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจนการดำเนินงานในด้านนี้ของโรงพยาบาลต่าง ๆ มีน้อย ดังนั้นเพื่อให้บุคลากรดังกล่าว มีความรู้และมีประสบการณ์ในการดำเนินงาน จึงได้ส่งไปศึกษาและฝึกอบรมด้าน Infection Control จากสถาบันภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่พยาบาลเหล่านี้สามารถปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ดี และเมื่อมีภาระงานเพิ่มมากขึ้น จึงได้จัดเจ้าหน้าที่พยาบาลมาช่วยงานรวบรวมข้อมูลบางส่วนและงานอื่น ๆ ผลงานที่ผ่านมาของหน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ทางการพยาบาลเป็นที่น่าพอใจ ทำให้อัตราชุกของการติดเชื้อในโรงพยาบาลลดลงจากร้อยละ 5.4 ในปี พ.ศ.2530 เป็นร้อยละ 4.4 ในปี พ.ศ. 2537

 

นอกจากนี้หน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ ทางการพยาบาล ยังเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้แก่นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลด้านการควบคุมโรคติดเชื้อ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแก่ผู้ที่ศึกษาดูงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่เปิดทำการเมื่อปี 2530 จนถึงปัจจุบัน มีผู้สนใจเข้าดูงานและฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

 

หลักการและเหตุผลในการขอตั้งหน่วย

 

โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เป็นปัญหาที่สำคัญของโรงพยาบาลปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์และต่อโรงพยาบาลเอง กล่าวคือ โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลจะทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มความรุนแรงของการเจ็บป่วย เกิดทุพพลภาพหรืออาจถึงแก่ชีวิต บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยถึงแก่กรรมด้วยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่เกิดแทรกซ้อนโรคเดิม ในรายที่มีชีวิตรอดผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น ต้องใช้ยาปฏิชีวนะราคาแพง ทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของผู้ป่วยและญาติ จากการสำรวจความชุกของการติดเชื้อในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าความชุกของการติดเชื้อในโรงพยาบาลคิดเป็นร้อยละ 9.2 – 18.8 และโรงพยาบาลในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยและเป็นโรงเรียนแพทย์นั้น อัตราความชุกของการติดเชื้อในโรงพยาบาล อยู่ระหว่างร้อยละ 9.2-14.49 สำหรับอัตราตายคิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล ปีหนึ่ง ๆ มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในโรงพยาบาลประมาณ 14, 000ราย ความสูญเสียไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ในปัจจุบันปัญหาโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื้อที่เป็นสาเหตุเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด ทำให้ยากต่อการรักษาและเกิดการระบาดของเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในบางโรงพยาบาล ปัญหาโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลมีมากทั้งขนาดและความรุนแรงก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ป่วยและโรงพยาบาล ตลอดจนอาจเกิดปัญหาทางด้านกฎหมายตามมา

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาแก้ปัญหาและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลได้จากการลงทุน 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สามารถลดปัญหาและควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ 1 ใน 3 สามารถประหยัดเงินได้ปีละกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาศัยหลักการและวิธีการทางระบาดวิทยาที่สำคัญ คือ การเฝ้าระวังโรค เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะใช้เป็นแนวทางในการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 6 ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพของบริการสาธารณสุข งานบริการพยาบาลโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงได้จัดให้มีหน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ ทางการพยาบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 และได้กระทำอย่างต่อเนื่อง มีการนำกิจกรรมและมาตรการการควบคุมโรคติดเชื้อต่าง ๆ มาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมของหอผู้ป่วยและของโรงพยาบาลมาโดยตลอด การดำเนินงานได้ผลเป็นที่น่าพอใจ พบว่าอัตราชุกของการติดในโรงพยาบาลลดลงตามลำดับ โดยในปี พ.ศ.2530 พบอัตราชุกร้อยละ 5.4 ของผู้ป่วยทั้งหมด พ.ศ.2535 และ พ.ศ.2537 พบอัตราชุกร้อยละ 4.7 และ 4.4 ของผู้ป่วยทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ซึ่งพบมากในภาคเหนือตอนบน ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 มีนโยบายให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริการทุกด้านให้ได้คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล จึงเป็นหน่วยงานที่สำคัญหน่วยหนึ่งของโรงพยาบาลที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพด้านบริการให้ได้มาตรฐาน ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีและปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ฝ่ายการพยาบาล จึงได้ขอจัดตั้งหน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ ทางการพยาบาลขึ้น

 

เหตุผลในการขอตั้งหน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ ทางการพยาบาล

  1. เพื่อประกันคุณภาพงานด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชน
  2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการพยาบาลและการดูแลสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล
  3. เพื่อให้งานด้านการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
  4. เพื่อให้สายการบังคับบัญชาการ การนิเทศและประเมินผลงาน เป็นไปอย่างมีระบบที่เหมาะสม
  5. เพื่อสะดวกต่อการพัฒนาบุคลากรและหน่วยงาน
  6. เพื่อกำหนดโครงสร้างของหน่วยงานให้ชัดเจน เหมาะสมกับลักษณะงาน เป็นรูปแบบการบริหารจัดการงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และเหมาะสมกับเป็นสานที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนเป็นสถานที่อบรมดูงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาขาอื่น ๆ อันเป็นการรองรับนโยบายของคณะแพทยศาสตร์ในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย

ปริมาณและลักษณะงานที่รับผิดชอบ

 

3.1 ปริมาณงาน

จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา หน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อทางการพยาบาล ได้แบ่งลักษณะงานออกเป็น 3 หมวด เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารและจัดการ ดังนี้

1. หมวดด้านการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล การสืบสวนโรค และงานวิจัย

ได้ให้บริการครอบคลุมทุกการพยาบาล จำนวน 9 งานการพยาบาล ได้แก่ งานการพยาบาลผ่าตัดและพักฟื้น งานการพยาบาลผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน งานการพยาบาลศัลยศาสตร์ งานการพยาบาลออร์โทปิดิกส์ งานการพยาบาลสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา งานการพยาบาลอายุรศาสตร์ งานการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์

งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษ และงานการพยาบาลผู้ป่วยทั่วไปฯ ประกอบด้วย

หมวดด้านการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล การสืบสวนโรค และงานวิจัยประกอบด้วย 4 งานหลัก คือ

1.1 การเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล ได้ทำการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ในทุกการพยาบาลที่มีผู้ป่วยพักรักษาตัว แบ่งการเฝ้าระวังออกเป็น 4 แบบ คือ

1.1.1 การเฝ้าระวังในหอผู้ป่วยหนักของทุกงานการพยาบาลเป็นประจำ (89 เตียง/วัน)

1.1.2 การเฝ้าระวังในหอผู้ป่วยสามัญของแต่ละงานการพยาบาล มีการหมุนเวียนทุกงานการพยาบาล งานการพยาบาลละ 3 เดือน (235-303 เตียง/งานการพยาบาล)

1.1.3 การเฝ้าระวังการติดเชื้อเฉพาะตำแหน่งทุกงานกาพรยาบาล เป็นระยะ ๆ นานครั้งละประมาณ 4-6 สัปดาห์ (1,800 เตียง/ครั้ง)

1.1.4 การสำรวจอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลทั้งหมด ทุก 2 ปี (1,800 เตียง/ครั้ง)

1.2 การสืบสวนโรค ในทุกงานการพยาบาลของโรงพยาบาล เมื่อเกิดการระบาดของโรคเกิดขึ้น

1.3 การวิจัย เป็นการวิจัยที่เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล

1.4 อื่น ๆ เช่น

– การรายงานผู้ป่วยเอดส์และโรคติดต่อร้ายแรงที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในทุกงานการพยาบาลของโรงพยาบาล

2. หมวดด้านการให้ความรู้และคำปรึกษา ได้ให้ความรู้และคำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พยาบาล จำนวน 2,218 คน และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ และให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยที่รับไว้ในโรงพยาบาล หมวดด้านการให้ความรู้และคำปรึกษา ประกอบด้วย

2.1 การให้ความรู้

2.1.1 การให้ความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรคเอดส์ แก่เจ้าหน้าที่พยาบาลใหม่ทุกระดับ ประกอบด้วย พยาบาลประมาณปีละ 95 คน ผู้ช่วยพยาบาลประมาณปีละ 50 คน พนักงานช่วยการพยาบาลประมาณปีละ 45 คน

2.1.2 จัดอบรมฟื้นฟูความรู้แก่เจ้าหน้าที่พยาบาลทุกระดับทั้งหมดให้เป็นประจำโดยจัดอบรมให้พยาบาล ปีละ 2 ครั้ง ผู้ช่วยพยาบาล ปีละ 2 ครั้ง พนักงานช่วยการพยาบาลประมาณปีละ 1 ครั้ง

2.1.3 จัดให้มีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภายในคณะแพทยศาสตร์และนอกหน่วยงาน ตลอดจนวิทยากรจากต่างประเทศมาให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นครั้งคราว

2.1.4 จัดอบรมการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อเฉพาะด้านให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติงานต่าง ๆ อาทิ การดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ การทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ การควบคุมการแพร่กระจายเชื้อของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยซักฟอก การควบคุมการแพร่กระจายเชื้อของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยแม่บ้าน ด้านการทำความสะอาดทั่วไป การควบคุมการแพร่กระจายเชื้อของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยเปล

2.1.5 การให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วยเมื่อเกิดปัญหาการติดเชื้อหรือมีปัญหาที่ต้องการแก้ไขรีบด่วน เช่น เมื่อมีการระบาดของโรคติดเชื้อในหอผู้ป่วย เมื่อมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อหรือโรคติดต่อร้ายแรงเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย

2.1.6 การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อที่รับไว้ในโรงพยาบาล เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อสู่ครอบครัวและชุมชน

2.2 การให้คำแนะนำปรึกษา

2.2.1 การให้คำแนะนำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่พยาบาลและบุคลากรที่ทางการแพทย์อื่น ๆ เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ

2.2.2 ให้คำปรึกษา (Counseling) แก่เจ้าหน้าที่พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานที่ได้รับอุบัติเหตุจากเข็มหรือของมีคมที่ปนเปื้อนเลือดและสารน้ำจากร่างกายผู้ป่วยบาดหรือทิ่มแทง

2.3 อื่น ๆ ได้แก่ จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล เป็นแหล่งสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลให้แก่ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และผู้สนใจ เป็นแหล่งสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคเอดส์ให้แก่เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และผู้สนใจ

3. หมวดงานด้านการดูแลสุขภาพของบุคลากรและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล

ได้ให้การดูแลสุขภาพของเจ้าหน้าที่พยาบาลทั้งหมด จำนวน 2,218 คน และดูแลสิ่งแวดล้อมของทุกงานการพยาบาล จำนวน 9 งานการพยาบาล

หมวดงานด้านการดูแลสุขภาพของบุคลากรและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลประกอบด้วย

3.1 ส่งเสริมให้มีการจัดหาและใช้เครื่องป้องกัน ในการปฏิบัติการพยาบาลต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เช่นการใช้ถุงมือ ผ้าปิดปากจมูก พลาสติกกันเปื้อน เสื้อกาวน์ หมวก และแว่นตา

3.2 จัดดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปลอดภัยจากการติดเชื้อ เช่น จัดให้มีการทิ้งเข็มและของมีคมในภาชนะที่ปลอดภัย การแยกผู้ป่วยติดเชื้อ เป็นต้น

3.3 การให้ภูมิคุ้มกันแก่เจ้าหน้าที่พยาบาลทุกระดับ เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาระดับภูมิคุ้มกันโรคตับอักเสบชนิดบี ในเจ้าหน้าที่พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์

3.4 ติดตามดูแลเจ้าหน้าที่พยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุเข็มและของมีคมบาดหรือทิ่มตำ ปัจจุบันมีผู้มารับบริการจำนวน 66 ราย แบ่งเป็นพยาบาล 37 คน ผู้ช่วยพยาบาล 17 คน พนักงานช่วยการพยาบาล 2 คน คนงาน 4 คน และนักศึกษาพยาบาล 6 คน

3.5 การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของบุคลากรและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล

3.2 ลักษณะงานที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย 3 งานหลักคือ

3.2.1 ด้านบริหาร

1.ร่วมประชุมระหว่างผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลทุกเดือน เดือนละ1 ครั้ง

1.1 รายงานอัตราการติดเชื้อ ปัญหาและอุปสรรคในการควบคุมการติดเชื้อที่เกิดขึ้น

1.2 นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา หรือแนวทางในการปรับปรุงงาน

1.3 ร่วมพิจารณาหามาตรการในการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล

2. รับนโยบายของโรงพยาบาลและงานบริการพยาบาล เพื่อนำมาวางแผนและกำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โรคเอดส์ ให้แก่ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ อื่น ๆ ใน 3 ลักษณะงาน ได้แก่

2.1 งานด้านการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล การสืบสวนโรค และงานวิจัย

2.2 งานด้านการดูแลสุขภาพของบุคลากรและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล

2.3 งานด้านการให้ความรู้และคำปรึกษา

3. วางนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ทางการพยาบาล ได้แก่

3.1 จัดให้มีการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล

– ในหอผู้ป่วยหนักเป็นประจำทุกเดือน

– ในหอผู้ป่วยสามัญของแต่ละงานการพยาบาล หมุนเวียนกันทุก 3 เดือน

-การติดเชื้อเฉพาะตำแหน่งเป็นระยะ ๆ ครั้งละประมาณ 4-6 สัปดาห์

-สำรวจอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลทั้งหมด ทุก 2 ปี

3.2 กำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยจัดทำคู่มือเพื่อใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล เช่น คู่มือการแยกผู้ป่วย (Isolation technique) หนังสือคู่มือเรื่อง เอดส์:ความรู้และข้อปฏิบัติในการป้องกันและควบคุม การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลในการดูแลผู้ป่วย (Universal Precautions)

3.3 กำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลสุขสภาพของเจ้าหน้าที่พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และนักศึกษาที่ได้รับอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน

3.4 การให้ภูมิคุ้มกันแก่เจ้าหน้าที่พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้ป่วย เช่น การให้วัคซีนป้องกันตับอักเสบชนิด บี

3.5 การดูแลสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลให้ถูกสุขลักษณะ

3.6 การทำวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล

3.7 การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม

4. กำหนดระเบียบวิธีและรูปแบบของการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ให้เหมาะสมกับหน่วยงานและสถานการณ์ ดังนี้

4.1 ออกแบบฟอร์มที่ใช้ในการเฝ้าระวัง

4.2 กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยใช้ตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ของศูนย์ควบคุมของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease control)

4.3 กำหนดรูปแบบของการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลออกเป็น 4 รูปแบบคือ

4.3.1 การเฝ้าระวังในหอผู้ป่วยหนักเป็นประจำทุกเดือน

4.3.2 การเฝ้าระวังในหอผู้ป่วยสามัญของแต่ละงานการพยาบาล มีการหมุนเวียนทุก 3 เดือน

4.3.3 การเฝ้าระวังการติดเชื้อเฉพาะตำแหน่งเป็นระยะ ๆ ครั้งละประมาณ 4-6 สัปดาห์

4.3.4 การสำรวจอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลทั้งหมด ทุก 2 ปี

5. เข้าร่วมประชุมประจำเดือนในระดับหัวหน้าหน่วยร่วมกับหัวหน้างานบริการพยาบาลทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อ

– รับทราบนโยบายและปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน

– รับทราบปัญหาที่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรคเอดส์

-นำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง

6. ประเมินคุณภาพให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วย โดยใช้อัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นตัวชี้วัด เพื่อให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการที่ดี มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

– คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ ทางการพยาบาล

-คณะกรรมการประกันคุณภาพทางการพยาบาล

-คณะกรรมการวิชาการ งานบริการพยาบาล

7. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการปรับปรุงและแก้ปัญหาโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยติดต่อประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกงานบริการพยาบาล เช่น

7.1 สำนักงานผู้อำนวยการโรงพยาบาล เกี่ยวกับการรายงานผู้ป่วยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ การให้ภูมิคุ้มกันแก่บุคลากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และรายงานผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน

7.2 งานเภสัชกรรม เกี่ยวกับน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในโรงพยาบาล การขอความร่วมมือในการเก็บแกลลอนพลาสติกที่ใส่น้ำยา มาทำเป็นภาชนะสำหรับใช้เก็บเข็มและของมีคม การติดต่อเรื่องยา AZT เมื่อผู้ได้รับอุบัติเหตุต้องการ

7.3 งานแม่บ้าน เกี่ยวกับการทำความสะอาดผ้าเปื้อนที่ใช้ในโรงพยาบาล ให้มีแนวทางในการปฏิบัติที่เหมือนกัน คือ แยกผ้าเปื้อนออกเป็น 3 ชนิด คือ ผ้าเปื้อนธรรมดา ผ้าเปื้อนมาก ผ้าติดเชื้อ การทำความสะอาดทั่วไปในโรงพยาบาล

7.4 งานปฏิบัติการกลางชันสูตรโรค เกี่ยวกับการเพาะเชื้อของสิ่งส่งตรวจ

7.5 งานอาคารสถานที่ เกี่ยวกับการกำจัดขยะติดเชื้อและขยะประเภทเข็มและของมีคม

7.6 งานจ่ายกลาง เกี่ยวกับการปรับปรุง การห่อของ และการอบนึ่งของให้สะอาดปราศจากเชื้อ เป็นต้น

8. จัดระบบการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรคเอดส์ โดย

8.1 ตรวจเยี่ยมหอผู้ป่วยอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์

8.2 ศึกษารายงานของผู้ป่วย เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรคเอดส์

8.3 ศึกษาจาก Kardex ของผู้ป่วย เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับการให้การพยาบาล แผนการพยาบาล การรักษาของแพทย์ และการใช้ยาปฏิชีวนะ

8.4 ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลของศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control) ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลและเกณฑ์การวินิจฉัยผู้ป่วยเอดส์ของกองโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข ในการวินิจฉัยโรคเอดส์

8.5เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้ในแต่ละเดือนลงในคอมพิวเตอร์ เพื่อวิเคราะห์และสรุปผลดังนี้

8.5.1 ตรวจเช็คข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรคเอดส์ให้เรียบร้อย

8.5.2 ลงรหัสให้ถูกต้อง

8.5.3 บันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม Epi Info

8.5.4 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โปรแกรม Epi Info

8.5.5 นำผลวิเคราะห์ที่ได้มาปรับปรุงงานและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป

9. ติดต่อจัดหาโสตทัศนูปกรณ์ที่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อและโรคเอดส์ เพื่อบริการแก่เจ้าหน้าที่พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เช่น สไลด์ วีดีทัศน์ ที่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อ โรคเอดส์ การพยาบาลเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล

10.วางแผนการปฏิบัติงานประจำ พร้อมทั้งมอบหมายงานให้แก้เจ้าหน้าที่ในทีมงานให้ตรงกับความรู้ความสามารถ ของเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับ ลักษณะการวางแผนจัดแบ่งออกเป็น 3 หมวดดังนี้

10.1 หมวดด้านการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล การสืบสวนโรค และงานวิจัย

10.2 หมวดด้านการดูแลสุขภาพของบุคลากรและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล

10.3 หมวดด้านการให้ความรู้และคำปรึกษา

11 จัดหาอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เช่นการจัดหาภาชนะสำหรับใส่เข็มและของมีคม ที่ใส่สบู่ชนิดโปร่ง ภาชนะสำหรับใส่น้ำยาล้างมือ ป้ายแยกโรค (Isolation cards) กระดาษเช็ดมือแทนผ้าเช็ดมือในหอผู้ป่วยหนัก แผ่นพับเรื่องการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลในการดูแลผู้ป่วย (Universal Precautions)

12.บริหารวัสดุอุปกรณ์ของหน่วยงานให้เพียงพอและพร้อมในการใช้งานเสมอ

12.1 ตรวจเช็ควัสดุอุปกรณ์เป็นประจำทุกสัปดาห์

12.2 จัดหาสิ่งของเครื่องใช้สำหรับใช้ในหน่วยงานให้เพียงพอ ควบคุมตรวจสอบของใช้ทุกอย่างอยู่เสมอ

12.3 เบิกของใช้ในหน่วยงานให้เพียงพอ เช่น แบบฟอร์มที่ใช้ในการเฝ้าระวังเข็มและกระบอกฉีดยาใบตรวจเลือดหา Anti HIV แผ่นดิสก์

12.4 ส่งซ่อมอุปกรณ์ที่ชำรุด รวมทั้งติดตามผลการซ่อม

3.2.2 ด้านบริการ

1.ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติการพยาบาลด้านการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อแก่เจ้าหน้าที่พยาบาล เช่น การล้างมือก่อนและหลังการให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วย การแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อการใช้การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลในการให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วย (Universal Precautions)

2.ให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่พยาบาลเกี่ยวกับโรค การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย และการพยาบาลผู้ป่วย รวมทั้งการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่พยาบาล เช่นให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ MRSA การดูแลผู้ป่วยเอดส์

3. ปรับปรุงวิธีการให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยด้านป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ เช่นแนะนำการดูแลผู้ป่วยโดยใช้เทคนิควิธี Universal Precautions การเคร่งครัดต่อเทคนิคปลอดเชื้อ (Aseptic Technique) ในการดูแลผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยที่คาสายสวนต่าง ๆ

4.จัดให้มีการแยกขยะในหอผู้ป่วย โดยจัดให้มีการแยกขยะออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ

4.1 ขยะติดเชื้อ ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ให้ใส่ในถุงสีแดง ขยะจะถูกนำไปกำจัดโดยการเผา

4.2ขยะไม่ติดเชื้อ ได้แก่ ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก เศษอาหาร ให้ใส่ในถุงสีดำ

4.3 ขยะประเภทเข็มและของมีคม ให้ทิ้งในภาชนะที่แข็งเพื่อป้องกันการแทงทะลุผ่านขยะประเภทนี้จะถูกนำไปกำจัดโดยการเผาโดยเตาผาของคณะ

5.จัดการให้มีการแยกผ้าเปื้อนที่ใช้แล้วในหอผู้ป่วย เพื่อทำให้สะดวกในการซักและเคลื่อนย้าย โดยแบ่งผ้าเปื้อนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

5.1 ผ้าเปื้อนธรรมดา ได้แก่ ผ้าเปื้อนประเภท เสื้อ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้ใส่ในถุงผ้าเปื้อนสีขาว

5.2 ผ้าเปื้อนมาก ได้แก่ ผ้าเปื้อนที่เปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ ให้ใส่ในถุงผ้าเปื้อนสีเขียว

5.3 ผ้าเปื้อนติดเชื้อ ได้แก่ ผ้าเปื้อนที่เปื้อนเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ให้ใส่ในถุงพลาสติกใส่ติดป้าย “ติดเชื้อ”

6.ให้มีการกำจัดเข็มและของมีคมที่ใช้แล้วให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและชุมชน โดยนำไปเผาที่เตาเผาขยะของคณะแพทยศาสตร์

7 จัดให้มีการทำลายเชื้อและการใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม เช่น การล้างมือในหอผู้ป่วยหนักให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ แต่ในหอผู้ป่วยสามัญให้ใช้สบู่ การทำความสะอาดพื้นให้ใช้น้ำผสมผงซักฟอก ยกเว้นในหอผู้ป่วยหนักและในห้องผ่าตัดให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ

8.ปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติในการทำความสะอาดอย่างทั่วถึง (full scrub) แทนการอบห้อง

9.จัดให้มีที่วางสบู่ชนิดตะแกรง ทำให้สบู่แห้งตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

10.จัดทำป้ายแยกโรค (Isolation Cards) โดยอาศัยหลักการระบาดและแพร่กระจายของเชื้อโรคตามคำแนะนำของ CDC ( Centers for Disease Control) ได้จัดทำเป็นจำนวน 600 แผ่นป้าย แบ่งป้ายแยกโรคออกเป็น 6 ชนิด คือ

10.1 Strict Isolation (ป้ายสีเหลือง) หมายถึง การแยกผู้ป่วยที่มีเป็นโรคติดต่องายและเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ทั้งทางอากาศและการสัมผัส

10.2 Respiratory Isolation (ป้ายสีฟ้า) หมายถึง การแยกผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากการไอ จาม หรือ Droplet transmission

10.3 Tuberculosis Isolation (ป้ายสีเทา) หมายถึง การแยกผู้ป่วยที่มี Acid-fast bacilli (AFB) positive หรือผู้ป่วยวัณโรค

10.4 Enteric Precautions (ป้ายสีส้ม) หมายถึง การแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทาง Fecal-oral route ทั้งทางด้านรับเข้าร่างกายโดยตรงหรือการปนเปื้อนกับสิ่งอื่น

10.5 Drainage/Secretion Precautions (ป้ายสีเขียวอ่อน) หมายถึง การแยกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากแหล่งติดเชื้อในร่างกายของผู้ป่วยติดเชื้อ เช่น พวก Drainage ต่าง ๆ หรือ Secretion

10.6 Blood/Body fluids Precautions (ป้ายสีแดง) หมายถึง การแยกเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อจาก Direct หรือ Indirect Contact กับเลือด หรือ Body fluid ของผู้ป่วยติดเชื้อ

11. จัดให้มีการใช้กระดาษเช็ดมือแทนผ้าเช็ดมือในหอผู้ป่วยหนัก

12.จัดให้มีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการล้างมือในหอผู้ป่วยหนัก

13.จัดให้มีภาชนะทิ้งเข็มและของมีคมที่ปลอดภัย โดยเป็นภาชนะที่แข็งกันการแทงทะลุแบ่งเป็น

13.1 แกลลอนเพื่อใช้เก็บเข็มและมีคม

13.2 กล่องปลดเข็ม เพื่อสะดวกในการนำไปฉีดยาในห้องผู้ป่วย ลักษณะกล่องปลดเข็มเป็นกล่องพลาสติกที่นำมาเจาะรูเพื่อสะดวกในการปลดเข็ม

14.จัดหาภาชนะใส่น้ำยาล้างมือให้เพียงพอสำหรับการสับเปลี่ยนทำความสะอาด

15.ดูแลและติดตามสุขภาพของเจ้าหน้าที่พยาบาลและนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานที่ได้รับอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน ได้แก่ โดยดูแลและติดตามสุขภาพของเจ้าหน้าที่พยาบาลของ 9 งานการพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น คนงาน ตลอดจนนักศึกษาพยาบาลที่ขึ้นฝึกปฏิบัติงาน ปัจจุบันมีผู้มารับบริการจำนวน 66 คน แบ่งเป็น

-พยาบาล 37 คน

-ผู้ช่วยพยาบาล 17 คน

-พนักงานช่วยการพยาบาล 2 คน

-คนงาน 4 คน

-นักศึกษาพยาบาล 6 คน

16. สนับสนุนด้านโสตทัศนูปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลแก่การพยาบาลต่าง ๆ

16.1 วีดีทัศน์เกี่ยวกับเรื่องการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ

16.2 สไลด์เกี่ยวกับเรื่องการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ

17. สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ แก่เจ้าหน้าที่พยาบาล นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

18.บริการให้ยืมตำรา หนังสือ และเอกสารวิชาการ ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ แก่เจ้าหน้าที่ พยาบาล นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ปัจจุบันมีหนังสือและเอกสารทางวิชาการในหน่วยงานประมาณ 50 เล่ม

3.3.3 ด้านวิชาการ

1. ให้ความรู้ด้านป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรคเอดส์แก่เจ้าหน้าที่พยาบาลที่เข้าปฏิบัติงานใหม่ทุกระดับ ให้แก่ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และพนักงานช่วยการพยาบาล

2. จัดการอบรมฟื้นฟูความรู้เรื่องโรคติดเชื้อให้แก่เจ้าหน้าที่พยาบาลทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ โดย

2.1 จัดให้มีการสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล

2.2 จัดให้มีการอบรมการปฏิบัติงานเฉพาะด้าน

2.3 จัดให้มีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกหน่วยงานมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อ

2.4 การให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วย เมื่อเกิดปัญหาการติดเชื้อและเมื่อเจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วยนั้นต้องการ

3. ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่พยาบาลของหน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และโรคเอดส์ รวมทั้งวิธีการปฏิบัติงานในด้านนี้

4. ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่เจ้าหน้าที่พยาบาลและนักศึกษาที่ฝึกปฏิบัติงาน ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน

5. เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรคเอดส์ ให้กับสถาบันหรือหน่วยงานอื่น

6. ทำวิจัยเพื่อพัฒนางานด้านการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และโรคเอดส์

7. ทำวิจัยร่วมกับชมรมควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และสถาบันอื่นที่เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล แบ่งเป็น

– การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาด้านการควบคุมโรคติดเชื้อ

– การวิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพงาน

– การวิจัยเพื่อพัฒนางาน

8. เข้าร่วมประชุมเสนอผลงานในการประชุมสัมมนา เกี่ยวกับโรคติดเชื้อ

9. เป็นกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ของคณะแพทยศาสตร์

10.เป็นกรรมการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล งานบริการพยาบาล

11.เป็นกรรมการดำเนินงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ของคณะแพทยศาสตร์

12.เป็นกรรมการศูนย์ให้คำปรึกษาโรคเอดส์ของคณะแพทยศาสตร์