ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของกองทุนหมอเจ้าฟ้า

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่สาม ของประเทศไทย และเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งแรก ที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค โดยได้ก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๒  โดยรัฐบาลมุ่งหวังว่าบัณฑิตแพทย์ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ในส่วนภูมิภาค  จะเข้าใจปัญหาของท้องถิ่น และสามารถปฏิบัติงานในเขตชนบท ได้เหมาะสมดีกว่าบัณฑิตแพทย์ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ในส่วนกลาง   ในระยะแรก โรงเรียนแพทย์แห่งนี้อยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเมื่อวันที่ ๑  มีนาคม พ.ศ.  ๒๕๐๘  ได้โอนมาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระยะเริ่มแรก คณะฯ ประสบปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนเป็นอย่างมาก  ซึ่งหากมองย้อนหลังไปเมื่อสี่สิบปี   การจะหาผู้สมัครใจมาเป็นอาจารย์ประจำในโรงเรียนแพทย์ต่างจังหวัด  เป็นเรื่องยากลำบาก   แต่ด้วยความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ตามโครงการความช่วยเหลือฯ ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๐๕- ๒๕๑๓   ได้ช่วยจัดหาที่เรียนให้อาจารย์ไปศึกษา ฝึกอบรม ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา  จึงช่วยผ่อนคลายปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อโครงการนี้สิ้นสุดลง  โอกาสที่อาจารย์แพทย์ในส่วนภูมิภาค จะได้รับทุนไปศึกษา ฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ  มีน้อยมาก เนื่องจากได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารทุน ค่อนข้างช้า คณะแพทยศาสตร์ จึงหาแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการจัดตั้งกองทุนของคณะฯ ขึ้น และรณรงค์หาเงินบริจาคสมทบ  จากผู้มีจิตศรัทธาที่ตระหนักเห็นคุณค่าของการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์   เพื่อยกระดับการเรียนการสอนวิชาแพทย์ และการให้บริการรักษาพยาบาล โดยการสนับสนุนให้อาจารย์แพทย์ได้มีโอกาสไปศึกษา ฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ในระดับผู้เชี่ยวชาญ

ในการนี้ ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก  พระผู้ทรงเป็น “องค์พระราชบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” และ “องค์พระราชบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” จึงเห็นควรตั้งชื่อกองทุนนี้ ว่า “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ตามพระนามที่พสกนิกรในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง  ทูลเรียก  ขณะเสด็จมาทรงงาน ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค  จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒

 

องค์ก่อตั้งและองค์อุปถัมภ์ กองทุนฯ

นับเป็นปฐมฤกษ์ แห่งการก่อตั้ง “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ วันที่ ๑๑  มกราคม  ๒๕๒๗ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (พระอิสริยศักดิ์ ในเวลานั้น) ได้เสด็จมาทรงบรรยายพิเศษ “หมอเจ้าฟ้าคือใคร”  ณ หอประชุมใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามคำกราบทูลเชิญของคณบดีในสมัยนั้น คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์พิสิษฎ์ โนตานนท์ การเสด็จมาทรงบรรยายในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้ารับฟังการบรรยายอย่างล้นหลาม  คณะฯ ได้เปิดรับบริจาคเงินโดยเสด็จพระกุศล  เพื่อรวบรวมสมทบเป็นเงินก่อตั้งกองทุน ในการนี้  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งเวลานั้นประทับอยู่ ณ จังหวัดเชียงใหม่  ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ มาทรงฟังการทรงบรรยายในครั้งนี้  ทั้งได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อร่วมสมทบเป็นเงินก่อตั้งกองทุน  ในครั้งนั้น ปรากฏว่า มีจำนวนเงินที่ได้รับบริจาค  ๖๘๓,๗๓๘.- บาท  ซึ่งไม่มากพอที่จะจัดตั้งเป็นกองทุนได้
คณะแพทยศาสตร์ จึงได้รณรงค์จัดหาเงินบริจาคสมทบต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และในโอกาสที่ Dr Patrick A. Onley  ประธานกรรมการ องค์การไชนา เมดิคัล บอร์ด แห่งนิวยอร์ค  (The China Medical Board of New Youk, Inc. ) ประเทศสหรัฐอเมริกา มาเยือนคณะฯ ในปี ๒๕๒๗  ได้แสดงความจำนงที่จะมอบเงินสมทบให้ ในจำนวนหนึ่งเท่าของเงินบริจาคที่คณะฯ จะจัดหามาได้ โดยให้อยู่ในวงเงินไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐.-  เหรียญสหรัฐ    ซึ่งคณะฯ สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ในเดือนมีนาคม  ๒๕๒๙  โดยรวบรวมเงินที่ได้รับบริจาค คิดเป็นอัตราแลกเปลี่ยน เทียบเท่า  ๑๐๐,๐๐๐.-  เหรียญสหรัฐ   แล้วดำเนินการขอรับบริจาคสมทบจาก องค์การไชนา เมดิคัล บอร์ด แห่งนิวยอร์ค มีเงินทุนก่อตั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น ๕,๓๗๑,๐๐๐.- บาท

ด้วยพระบารมี และพระกรุณาธิคุณ กอปรด้วยน้ำพระทัยอันสูงส่ง แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ที่ทรงมุ่งมั่นพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งพระราชทรัพย์ และด้วยพระวิริยะอุตสาหะ นับทรงเป็นองค์ก่อตั้ง “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนเป็นผลสำเร็จ และดำเนินการจัดสรรทุนให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา มาถึงปัจจุบันนี้ พระกรุณาธิคุณที่ได้เสด็จมาทรงบรรยายพิเศษ ในครั้งนั้น เป็นกำลังใจอันสูงส่งของผู้เกี่ยวข้อง ในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า”  เมื่อวันที่ ๑๑  เมษายน   ๒๕๒๙ และทรงมีพระเมตตาพระราชทานเงินจาก  ทุนการกุศลสมเด็จย่า และ ทุนการศึกษา กว. เพื่อนำสมทบเข้ากองทุนฯ  เป็นประจำทุกปีเสมอมามิได้ขาด  นับตั้งแต่ ปี ๒๕๒๘ –เป็นต้นมา โดยได้พระราชทานเงินทุนสมทบเข้า “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” รวมเป็นจำนวนเงิน ปีละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  ทรงตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนของสภาวะเศรษฐกิจ  และสถานการณ์แวดล้อม  ซึ่งมีผลต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  ในการจัดสรรทุนสำหรับส่งอาจารย์แพทย์ไปศึกษาต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายในการให้ทุนอุดหนุนการศึกษาสำหรับนักศึกษา  ที่ต้องปรับเพิ่ม  จึงจำเป็นที่กองทุนฯ จะต้องจัดหาทุนสมทบอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น นอกจากที่ได้พระราชทานเงินสมทบเข้ากองทุนฯ เป็นประจำทุกปีแล้ว  ได้ทรงพระกรุณาเสด็จมาทรงบรรยายพิเศษ และทรงประกอบพระกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกองทุนฯตามที่คณะฯ ได้ขอพระราชทานพระวโรกาสเชิญเสด็จ  ทั้งได้พระราชทานขวัญและกำลังใจ ให้กับคณะกรรมการ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” ในอันที่จะดำเนินการจัดหาทุนสมทบเข้ากองทุน  เช่น ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลเกียรติยศ สำหรับผู้ชนะการแข่งขัน กอล์ฟการกุศล ที่คณะฯ ได้จัดต่อเนื่องกันมา นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๖  เป็นต้นมา  และพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ สำหรับอาจารย์แพทย์ผู้รับทุน ที่โปรดให้เข้าเฝ้าเพื่อทูลลาก่อนออกเดินทางไปศึกษา/ฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และเมื่อเดินทางกลับ  โดยจะทรงมีรับสั่งกำชับให้ตั้งใจศึกษา เพื่อนำความรู้กลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศ่ชาติ  อันสะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระทัย ที่ทรงห่วงใยประเทศอยู่เสมอ

วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๕  เสด็จมาทรงเป็นองค์บรรยายพิเศษ  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับความสนพระทัยด้านศิลปะ” ที่ห้องประชุม ชั้น ๒ อาคารเรียนรวม  โอกาสนี้ มีผู้มีจิตศรัทธาถวายเงินโดยเสด็จพระกุศล สมทบเข้า “กองทุนหมอเจ้าฟ้า ”
        วันที่   ๑  มกราคม ๒๕๓๖   เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ทรงเปิดนิทรรศการ ครบรอบ ๑๐๐ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่คณะฯจัดขึ้น ในงานฤดูหนาว จังหวัดเชียงใหม่
        วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๓   ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ทรงเปิดการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ ๒๒ของสมาคมแพทย์ไทยในอเมริกา  ที่ห้องประชุม ชั้น ๒ อาคารเรียนรวม และนายกสมาคมแพทย์ไทยในอเมริกา    ได้เข้าเฝ้าถวายเงินโดยเสด็จพระกุศลสมทบเข้า “กองทุนหมอเจ้าฟ้า”

นอกจากนี้ เมื่อคราวที่คณะกรรมการ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า ” ได้จัดทำหนังสือ  กองทุนหมอเจ้าฟ้า”   และได้คัดเอาบทเรียบเรียง พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (นายแพทย์มหิดล สงขลา)  ของ นายแพทย์ อี.ซี.คอร์ท  ที่ได้พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดตึก มหิดล  โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๓๑  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔   มาพิมพ์ในหนังสือกองทุนฯ เพื่อเผยแพร่พระกรณียกิจ และพระจริยาวัตรอันงดงาม แห่งองค์สมเด็จพระบรมราชชนก ในมุมมองของแพทย์ชาวต่างประเทศ ที่ได้มีโอกาสร่วมปฎิบัติงานโดยใกล้ชิด    ในการนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นว่า เนื่องจากบทเรียบเรียงดังกล่าว ได้เขียนไว้เป็นเวลาเนิ่นนาน กอปรกับเป็นข้อคิดเห็นมุมมองส่วนบุคคล ดังนั้น จึงได้กราบทูลขอพระราชทานข้อพระวินิจฉัยและข้อแนะนำ เกี่ยวกับบทเรียบเรียงดังกล่าว   ได้ทรงพระกรุณารับเป็นพระธุระ ทรงอ่านและพระราชทานข้อมูลที่ถูกต้อง  รวมทั้งพระราชทานข้อมูลเพิ่มเติม      ให้คณะกรรมการฯ    นำบันทึกไว้เป็นเชิงอรรถ   เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง  ทั้งได้พระราชทาน บทพระนิพนธ์ “คำนำ”  ที่แสดงให้เห็นความตั้งพระทัย  และพระวิริยะอุตสาหะ  ที่พระราชทานความช่วยเหลือ ให้การก่อตั้ง  กองทุนหมอเจ้าฟ้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ประสบความสำเร็จ    ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่ง ในบทพระนิพนธ์ “คำนำ”  ที่ได้อัญเชิญมาแสดงไว้  ความว่า  ……….ข้าพเจ้าภูมิใจและพอใจที่ได้มีส่วนช่วยหาทุนเริ่มต้นของกองทุนฯ  ในปี ๒๕๒๗  ด้วยน้ำพักน้ำแรงมิใช่โดยบริจาคเงินเท่านั้น ………….

ด้วยพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กอปรด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ที่ได้พระราชทานให้ กับ กองทุนหมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสมอมา  เหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา ขอน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

 

กองทุนหมอเจ้าฟ้า

กองทุนหมอเจ้าฟ้า”  เป็นกองทุนคงยอดเงินต้น ค่าใช้จ่ายในการจัดสรรทุน จะใช้จ่ายจากเงินผลประโยชน์ของกองทุน แบ่งเป็น ๒ ประเภททุน คือ กองทุนหมอเจ้าฟ้า  ๑”  เป็นทุนสำหรับอาจารย์แพทย์ ไปศึกษา ฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ  และ“กองทุนหมอเจ้าฟ้า  ๒” เป็นทุนอุดหนุนการศึกษาจัดสรรให้นักศึกษา ที่เรียนดี แต่มีความจำเป็นทางการเงิน สำหรับนักศึกษา ๖ คณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ คณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทยศาสตร์

ทุนนี้ ถือเป็นทุนเกียรติยศ สำหรับผู้รับทุนทุกคน ทั้งเป็นเกียรติยศต่อตนเองและวงศ์ตระกูล  พระกรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานต่อกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องเสมอมามิได้ขาด นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ กองทุนฯ ได้สนับสนุนการจัดสรรทุนฯ ให้แก่คณาจารย์แพทย์เพื่อไปศึกษา ฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ  จำนวนโดยเฉลี่ยปีละ ๑ – ๒ คน และจัดสรรเงินทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษา จำนวนโดยเฉลี่ยปีละ ๓๕ ทุน ทั้งนี้ผู้รับทุนต่างได้ปฏิบัติงาน เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร  พยาบาล  นักเทคนิคการแพทย์  และคณะสัตวแพทยศาสตร์  ตามภาระหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น   ซึ่งต่างก็มีความมุ่งมั่นเสียสละ และอดทน  เพื่อสืบสานพระปณิธาณ ที่ทรงมุ่งหวังให้การแพทย์และสาธารณสุขไทย พัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และเพื่อประโยชาน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ