ไปทำวิจัยในภูฏาน (6)

คิดว่าจะไม่เขียนตอนนี้แล้ว แต่เห็นว่ามันยังขาดตอนจบของเรื่องจึงต้องมานั่งเขียนขณะที่กลับมาถึงเมืองไทยแล้ว

วันที่ 6 ก.ย. ออกจาก Bumthang (Jakar) ผ่าน Trongsa ไปสู่ Zhemgang ทางตอนใต้

 

เราออกจาก Bumthang แต่เช้าท่ามกลางฝนปรอยๆ เส้นทางก็เป็นป่าเขาเหมือนเดิม แวะเก็บลูกน้ำยุงและริ้นดำบ้าง (เจอชนิดใหม่อีกเหมือนกัน) ตลอดเส้นทางมีวิวที่สวยงาม มีน้ำตกไหลจากเขาให้เห็นเป็นระยะ แต่กว่าจะไปถึง Zhemgang ก็มืดแล้ว ฝนก็ยังไม่หยุดตก แถวนี้ไม่มีโรงแรมจึงไปนอนที่โรงพยาบาล เขาให้ห้องคนไข้นอน ไม่มีห้องน้ำเลยอดอาบน้ำอีกเช่นเคย กว่าจะจัดการกับยุงเสร็จก็เลยเที่ยงคืนไปแล้ว คืนนั้นได้ข่าวว่าถนนไป Gelephu มีดินถล่ม รถพยาบาลที่ไปเมืองนั้นก็ยังกลับไม่ได้ คิดในใจว่าแล้วตูจะได้กลับหรือเปล่า ไปมาทั่วทิศไม่เจอทางปิด ดันมาเจอตอนจะกลับ เขาบอกว่าไม่ต้องห่วง ถ้าจำเป็นจะให้รถจาก Gelephu มารับต่อช่วงที่ทางปิด รุ่งเช้าวันที่ 7 ก.ย. มีคนบอกว่ารถโรงพยาบาลกลับมาแล้วตอนดึก ทำให้โล่งอก จึงออกเดินทางต่อไป Gelephu แต่นั่งรถไปเป็นชั่วโมงก็ยังไม่เจอรถสวนมาสักคัน สงสัยทางจะปิดอีก พอไปใกล้จุดที่ทางปิดเจอรถสวนมาสี่ห้าคัน เริ่มใจชื้นขึ้นมาทันที ไม่ต้องนอนแย่งข้าวลิงกินแล้ว

หินถล่มปิดทาง

แต่พอถึงที่ที่หินถล่มก็ต้องหยุดรอ เพราะมันมีหินร่วงมาปิดทางเป็นระยะๆ ต้องรอให้เขาเกลี่ยดิน แต่ก็ต้องหยุดตักหินหลายครั้งเพราะมีหินถล่มมาเป็นระยะ ประมาณครึ่งชั่วโมงเราก็สามารถเดินทางต่อ กว่าจะถึง Gelephu ก็เย็นแล้ว รวมเวลาตะรอนทัวร์รอบภูฏานครบเดือนพอดี ไปพักที่ Dragon Guesthouse เช่นเดิม เจ้าของดีใจที่เราไปพักอีก เย็นวันนั้นจึงเอาเห็ดที่เหลือมาปิ้งแบ่งกันกิน คนที่นี่รู้จักแต่เอาไปต้มกับเนย เห็ดปิ้งอร่อยๆ ไม่เคยทำ

ช่วงนี้มีเวลา 10 วัน สำหรับเขียนรายงานส่ง แต่เขาก็ให้เราเปิดอบรมเจ้าหน้าที่ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ย. จึงดูยุ่งและวุ่นวายเป็นพิเศษ เล่นเอาไม่ต้องพักผ่อนกันเลย ใช้เราคุ้มจริงๆ

เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย วันที่ 17 ก.ย. จึงเดินทางกลับไป Thimphu เพื่อรายงาน WHO แต่วันนั้นดันเป็นวันทำพิธีเกี่ยวกับทำบุญรถ เขาเอารถไปทำพิธีที่อู่ซ๋อมรถ มีการประดับประดารถด้วยดอกไม้ ลูกโป่งและแถบผ้า มีสีสันแปลกไปอีกแบบ เชื่อกันว่าจะช่วยปกป้องอุบัติเหตุได้ตลอดปี เขาบอกว่าพอตกค่ำก็ฉลองดื่มกันอย่างสนุกสนาน แต่ตอนขับรถกลับมักจะเกิดอุบัติเหตุประจำ (งง) กว่าจะออกเดินทางได้ต้องรอถึงบ่าย กะว่าจะไปถึง Thimphu ก็คงสี่ทุ่ม แต่ตอนทุ่มกว่ายางรถมาแบนไปเฉยๆ ดีที่มียางอะไหล่และไฟฉายติดมาด้วย หากมันแบนอีกเส้นคงต้องนอนกลางป่ากัน ในที่สุดก็มาถึง Thimphu อย่างปลอดภัย แต่เนื่องจากไม่ได้จองโรงแรมไว้ก่อน โรงแรมส่วนใหญ่เต็ม มีเหลือแต่ที่แพงๆ (1400 nu) ช่วงนี้คนมาเยอะเพราะอีกไม่กี่วันจะมีการงานระบำหน้ากาก คืนนั้นข้าวก็ไม่มีกินเพราะคนไปฉลองตามอู่รถกันหมด ได้ขนมปังอุ่นๆ จากร้านใกล้โรงแรมกินพอกันหิวได้ตลอดคืน

เช้าวันที่ 18 ก.ย. เขาพาไปพักที่ใหม่ถูกกว่า (แปดร้อย) เช่าทีวีอีกร้อย/คืนได้ห้องบนสุดติดหลังคา มีนกพิราบนอนเป็นเพื่อนสองตัว ตอนสายไปรายงาน WHO ผู้แทน WHO มาจับมือขอบคุณที่รอดชีวิตกลับมา เสร็จก็ไปธุระเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ธนาคาร ที่นี่ไม่มีธนาคารต่างชาติเลย คนเยอะแยะดูวุ่นวายมาก นั่งรอเป็นชั่วโมง เจ้าหน้าที่ที่ก็ทุบเงินกับโต๊ะเสียงดังตลอด แถมยังโยนเงินให้ลูกค้าอีก ราวกับว่าเราไปกู้เงินมัน แต่ก็ไม่เห็นคนภูฏานบ่นว่าอะไร หรือว่าจะเป็นเรื่องปกติของเขาก็ไม่รู้ ถ้าเป็นเมืองไทยเราคงด่ามันไปแล้ว      เสร็จแล้วไปหาดูแสตมป์ของภูฏานและซื้อของฝากนิดหน่อย ตอนบ่ายก็กลับไปนอน

วันที่ 19 ก.ย. ไปรายงานเลขาฯ กระทรวงสุขภาพ แล้วกลับมานอน น่าเบื่อจัง

วันที่ 20 ก.ย. เขาพาไปเที่ยวแต่เช้า จุดหมายคือโรงเรียนวัดบนเขาแถว Tango อยู่ทางเหนือของ Thimphu ใช้เวลาขับรถประมาณ ครึ่งชม.ถึงตีนเขาและเดินด้วยเท้าขึ้นเขาต่ออีก 1 ชม. วัดความสูงได้ 2900 เมตร เล่นเอาลิ้นห้อยเป็นพักๆ แต่มาถึงตอนนี้ก็นับว่ายังดีกว่าการเดินเขาครั้งแรกที่ Arikha กำลังขาเริ่มชินกับการเดินเขาแล้ว เจอลิงป่าหนึ่งฝูงก่อนถึงวัด แวะเก็บลูกน้ำยุงนิดหน่อยในแอ่งน้ำข้างทาง (ภายหลังพบว่าเป็นยุงชนิดใหม่ของโลก) วัดนี้เป็นวัดใหญ่มีพระร่วมร้อย เรียนหนังสือที่นี่ ตอนกำลังจะเข้าไปในวัดเจอกลุ่มพระเดินสวนออกมา หนึ่งในนั้นเป็นเด็กเชื่อกันว่าเป็นลามะที่กลับชาติมาเกิด ภายในวัดทำด้วยไม้สนท่อนใหญ่ๆ ดูเก่าแก่มาก อายุไม่ต่ำกว่าสี่ร้อยปี เขาห้ามถ่ายรูปในวัด เลยถ่ายได้แค่รอบๆ วัด

พอกลับลงมาก็ได้เวลาทานข้าวกลางวันพอดี หาที่ริมลำธารสวยๆ ได้ปิกนิกกัน เขาปรุงเนื้อจามรีมาให้กินโดยเฉพาะ โชคดีที่ได้ชิมเพราะปกติเนื้อนี้จะมีในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากเขาจะต้อนจามรีลงมาจากที่สูง รสชาติก็เหมือนเนื้อวัวแต่ไม่เหนียวมากเหมือนวัวบ้านเรา แต่ก็สู้เนื้อขุนไม่ได้

วัดบนเขา Tango มองเห็นเมือง Thimphu ไกลๆ

สถาปัตยกรรมภายในวัด

เจดีย์บนเขา ยอดเจดีย์มีอาทิตย์กับพระจันทร์เสี้ยว เหมือนในธิเบต

ลำธารน้ำใสสีฟ้า

ซอง มือง Thimphu

วันที่ 21 ก.ย. กำหนดการเดิมต้องเดินทางไปเมือง Paro แต่ต้องอยู่ที่นี่ต่อเนื่องจากเขามีงานฉลองสามวันในซอง ผู้คนดูคึกคักแต่เช้า แต่ละคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าราคาแพงสวยมาก สำหรับคนต่างด้าวการเข้าไปในซ่งต้องขออนุญาตล่วงหน้าก่อน ข้างในมีการเต้นระบำหน้ากาก

ทางเข้างาน

ผู้หญิงใส่ชุดประจำชาติ “คิหร้า” Kira ผู้ชายใส่ “โก๊ะ” Gho มีผ้าขาวพาดไหล่เต็มยศ

ลานแสดงระบำหน้ากาก

สาวๆ ภูฏานในงาน

มีเครื่องดนตรีสองสามอย่าง คือ กลอง แตร และฉาบ คนเล่นเป็นพระ แรกๆ ก็ฟังดูแปลกดี แต่อีเล่นอย่างนี้เป็นชั่วโมงๆ น่าเบื่อจัง เมื่อยก็เมื่อยเพราะยืนดูอยู่ข้างหลัง เลยไปเดินเล่นถ่ายภาพสาวๆ ดีกว่า พอใกล้เที่ยงก็กลับ เตรียมตัวไป Paro ตอนบ่ายออกเดินทางไป Paro ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง ถนนหนทางมีแต่ฝุ่น ไม่รู้ว่าจะเสร็จทันปี 2008 หรือเปล่า ไปถึงก็เย็นแล้ว อากาศที่นี่เย็นกว่า Thimphu เข้าพักในโรงแรมติดๆ กับสนามบิน

เช้าวันที่ 22 ก.ย. เขาพาไปเที่ยววัดบนหน้าผาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในภูฏาน คือ Taktsang (ทักซัง) เป็นมรดกโลก เราออกเดินทางแต่เช้าแปดโมง ขึ้นไปทางเหนือประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงเชิงเขา

Paro

จากเชิงเขาจะเห็นวัดตั้งอยู่บนหน้าผา มีทางเดินเล็กๆ ขึ้นไป หากใครไม่อยากเดินก็มีม้าให้เช่า (ห้าร้อย) ตอนไปถึงมีชาวฮ่องกงสามคนกำลังนั่งขึ้นเขา ระหว่างทางเจอฝรั่งนักท่องเที่ยวทั้งแก่และไม่แก่เดินขึ้นเป็นกลุ่มๆ ตอนสายอากาศเริ่มร้อนและแดดแรงมาก มีโอกาสได้เก็บลูกน้ำยุงและริ้นดำเป็นครั้งสุดท้าย(เจอชนิดใหม่อีกเหมือนกัน) หลายคนสงสัยว่าพวกเรามาทำอะไร

Taktsang มองจากเชิงเขา

 

บางคนก็ขี่ม้าขึ้น (เอาเปรียบกันจัง)

 

Taktsang หนึ่งในมรดกโลก

ใช้เวลาเดินร่วมสองชั่วโมง ความสูง 3100 เมตร หายใจแทบไม่ทัน เหนื่อยมาก แต่ความเหนื่อยหายเป็นปลิดทิ้งเมื่อขึ้นไปถึงวัด เห็นความ

มหัศจรรย์ของคนสมัยก่อนร่วมแปดร้อยปีที่สร้างวัดบนหน้าผาได้อย่างนี้ น่าทึ่ง บริเวณใต้วัดมีถ้ำซึ่งศาสดากูรูเคยมานั่งวิปัสสนา ก่อนถึงวัดมีน้ำตกสูงมาก ภายในวัดก็ดูเรียบง่าย แต่บรรยากาศดีมาก มองลงมาจากเขาได้อารมณ์บอกไม่ถูก ลงจากเขาก็บ่ายโมงกว่า ท้องเริ่มหิว จึงไปหาอะไรกินในเมือง เขาบอกว่าลำธารแถวนี้มีปลาเทร้าส์ซึ่งได้พันธุ์มาจากเจ้าชายญี่ปุ่น มื้อนั้นจึงมีปลาเทร้าทอดส่งท้าย แต่กว่าจะได้กินก็สามโมงกว่า รวบมื้อเย็นเลย สู้ปลาเนื้ออ่อนหรือสลิดบ้านเราไม่ได้เลย คืนนั้นนอนสลบไสลแต่หัวค่ำ เพราะต้องตื่นแต่เช้า เครื่องออกแปดโมงกว่า รู้สึกใจหายเหมือนกัน ขณะเครื่องไต่ระดับมองออกไปทางขวาเห็นยอดเขาหิมาลัยอยู่ไกลๆ รู้สึกตื้นตันบอกไม่ถูก ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนเห็นยอดภูเขาไฟฟูจิครั้งแรกจากเครื่องบินคราวไปญี่ปุ่นหลายปีก่อน เครื่องไปแวะที่กัลกาตาเหมือนเดิม มาถึงกรุงเทพฯบ่ายสาม ถึงเชียงใหม่เกือบทุ่ม เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางที่แสนจะประทับใจ หากไม่ได้มาทำงานแบบนี้คงไม่มีโอกาสได้เดินทางทั่วประเทศภูฏาน ถ้ามีโอกาสจะกลับมาอีก คราวนี้จะไม่พลาดการขึ้นไปทางเหนือที่ความสูงกว่า 5 พันเมตร กับอารยธรรมของคนภูเขา ซึ่งต้องเดินทางด้วยลาหรือม้าเท่านั้น ใครที่ชอบการเดินทาง ธรรมชาติ และอารยธรรมที่น่าสนใจ มาที่นี่รับรองไม่ผิดหวัง ผลพวงของการมาครั้งนี้ ทางภูฏานส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมและดูงานที่ภาควิชารวมเกือบ 30 คน ในปี 2009-2011