ไปทำวิจัยในภูฏาน (ตอน1)

ภูฏาน ประเทศเล็กๆในฝันของหลายๆคนที่อยากไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ผมได้มีโอกาสไปเกินกว่าที่ฝันเพราะไปมาสี่ครั้งแล้ว ครั้งแรกไปปี 2007 เป็นเวลาสองเดือน และครั้งต่อๆมา ครั้งละสามสัปดาห์ ปี 2016-2018 ผมจึงอยากแชร์ประสบการณ์เล่าสู่กันฟังว่าประเทศนี้แม้จะมีพื้นที่เล็กเท่าภาคเหนือของไทย มีประชากร 6 แสนกว่า แต่มีอะไรดีๆหลายอย่างที่ซ่อนอยู่

กลางเดือนพฤษภาคม ปี 2007 ผมได้รับการติดต่อให้ไปเป็นที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศภูฏานเป็นเวลาสองเดือน ในโครงการควบคุมโรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย หลายคนคงนึกแปลกใจว่าประเทศนี้มีโรคเขตร้อนที่ว่านี้ด้วยหรือ คำตอบคือ ทางภาคใต้ของภูฏานซึ่งมีชายแดนติดกับอินเดียมีภูมิอากาศแบบกึ่งร้อน มีมาลาเรียมานานแล้ว ส่วนโรคไข้เลือดออกมันเพิ่งระบาดในปี 2003 นี้เอง นอกจากนี้ยังมีโรคลิสมาเนียและไข้สมองอักเสบ

เมื่อรู้ว่าจะได้มาประเทศนี้ รู้สึกตื่นเต้นกว่าไปประเทศอื่น เพราะก่อนหน้านี้นึกภาพไม่ออกว่าประเทศนี้เป็นอย่างไร จนกระทั่งเกิดกระแสเจ้าชายจิกมี (ตอนนี้เป็นกษัตริย์แล้ว) ขวัญใจสาวไทยทั้งแก่และไม่แก่ที่ได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีและเสน่ห์ของเจ้าชายจิกมี  คราวที่ท่านได้เสด็จมาประเทศไทยในงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ชื่อของประเทศนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

ประเทศภูฏาน (คนที่นี่ออกเสียง พู-ทาน) อยู่ใต้ทิเบต เหนืออินเดีย ดูจากภาพถ่ายดาวเทียมมีแต่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีภาษาพูดของตนเอง แต่ตัวหนังสือ ศาสนาและวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายกับทิเบต นั่นคือความรู้เบื้องต้นที่พอหาได้ก่อนเดินทาง

วันที่ 24 ก.ค. 2007 ค่ำๆ ออกจากเชียงใหม่ไปสุวรรณภูมิ ต้องไปนอนโรงแรมใกล้ๆ แถวนั้นคืนหนึ่ง เพราะเครื่องที่ไปภูฏานออกเวลา 5:50 น. เช้าวันที่ 25 จึงต้องตื่นตี 3 กว่าๆ ไปถึงสนามบินต้องมองหาเค้าเตอร์ Drukair (druk แปลว่ามังกรในภาษาภูฏาน หรือ ภาษาซองคะ, Dzongkha) สายการบินแห่งชาติภูฏาน อยู่ปลายสุดเลย ลากกระเป๋าเสียไกล

แผนที่ประเทศภูฏาน (Paro อยู่ซ้ายมือ ติดเมืองหลวง Thimphu)

แผนที่ประเทศภูฏาน (Paro อยู่ซ้ายมือ ติดเมืองหลวง Thimphu)

เครื่องออกสายไปกว่าครึ่งชั่วโมง บ่ายหน้าไปทางตะวันตก มีแอร์สาวๆ สองคน แต่งชุดคล้ายผ้าซิ่นทางภาคเหนือของเรา ใช้เวลาชั่วโมงกว่าก็ถึงเมืองกัลกาตาของอินเดีย เพื่อแวะรับคนราว 40 นาที จากนั้นก็ต่อไปเมืองพาโร (Paro) ของภูฏาน ความสูง 2200 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ผมเคยไปแม่ฮ่องสอนทางเครื่องบินก็หลายหน แต่ที่นี่สุดยอดกว่าเพราะอยู่ในช่องเขาแคบๆ กว้างไม่ถึงครึ่งกม. ลานบินยาวสองกม.กว่าๆ เวลาลงต้องตีโค้งซ้ายทีขวาที ลุ้นกันถ้วนหน้า แต่นักบินเขาคงชำนาญจึงไม่มีปัญหา หากวันไหนมีหมอกมากอย่าหวังว่าจะได้ขึ้นหรือลง

พอเท้าแตะสนามบินสัมผัสแรกที่รู้สึกคือ อากาศที่ปลอดโปร่งเย็นสบาย ก็อดที่จะชักรูปไม่ได้ ฝนเพิ่งหยุดตกหมาดๆ ก็อย่างที่เห็นในรูป สนามบินก็ไม่ใหญ่โตนัก แต่ด้วยรูปทรงที่แปลกตาของอาคารและผู้คนที่แต่งตัวประจำชาติทำให้รู้สึกตื่นเต้นไม่้น้อย ในอาคารสนามบินคงเป็นแห่งเดียวในโลกที่เค้าเตอร์ตรวจคนเข้าเมืองทำด้วยไม้สน และมีไม้สนบุผนังโดยรอบ ดีที่ใช้พาสปอร์ตของราชการจึงเข้าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้าและอยู่ได้นาน 90 วัน พอออกมาจากอาคารก็เจอเจ้าหน้าที่ของภูฏานมารับ และเจอเจ้าหน้าที่ของเขาที่มาเครื่องเดียวกันจากเมืองไทยอีกสองคน เลยนั่งมาด้วยกัน

หากใครจะมาภูฏานในฐานะนักท่องเที่ยว ต้องติดต่อผ่านบริษัทท่องเที่ยวของรัฐบาลภูฏาน โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและค่ากินอยู่ ประมาณ 200 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ตอนนี้คงขึ้นราคาแล้ว) ซึ่งรวมค่าที่พัก อาหาร พาหนะและคนนำเที่ยว และต้องจองล่วงหน้าเพราะเขาจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีไม่เกินสองหมื่นคน

ลงเครื่องหมาดๆ

อาคารผู้โดยสารสนามบิน

พอออกจากสนามบินก็เจอกับการก่อสร้างขยายถนน ได้รับการบอกเล่าว่าการก่อสร้างได้รับการช่วยเหลือและดำเนินการโดยรัฐบาลอินเดีย เห็นแรงงานก็พอจะรู้ว่าส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย มีที่พักพิงชั่วคราวใกล้ๆกับบริเวณก่อสร้าง พวกนี้ได้ค่าแรงประมาณวันละ 50-100 รูปี (ตอนนั้น 1 รูปีของอินเดีย เท่ากับ 70 สต.) เส้นทางไปสู่เมืองหลวงทิมพู (Thimphu) ความสูง 2300 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม. ลัดเลาะไปตามภูเขาที่คดเคี้ยวเรียบแม่น้ำสีขุ่นที่เชี่ยวมาก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน หนทางมีแต่ฝุ่นมีหินมีดินขวางถนนตลอดทาง เส้นทางนี้คาดว่าจะเสร็จในปี 2008 สำหรับต้อนรับปีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์จิกมี ตอนออกจากสนามบินใหม่ๆ ก็อดตื่นเต้นกับทัศนียภาพที่แปลกหูแปลกตาไม่ได้ แต่นานเข้าก็เริ่มชินเพราะมันคดไปคดมาเหมือนเดิม บางช่วงต้องจอดรอเขาระเบิดหิน พอจะเข้าเขตเมืองหลวง  หนทางเริ่มดีขึ้นและกว้างขึ้น ในตัวเมืองแทบจะมองหาที่ราบไม่เจอ บ้านเมืองกำลังมีแต่การก่อสร้าง ถนนหนทางก็มีแต่โคลน เขาจัดให้พักที่โรงแรม Wangchuk มีสี่ชั้นเล็กๆ เรียบง่ายแต่สะอาดและสะดวกสบาย มองออกไปเห็นวิวภูเขาสูงอยู่ห่างไปไม่กี่ร้อยเมตร ราคาห้องคืนละ 1,900 งูทรัม (Ngultrum เงินสกุลภูฏาน แต่เงินรูปีก็ใช้ได้ทั่วประเทศ) (ประมาณ 1,700 บาท) มีเคเบิ้ลทีวีเกือบสามสิบช่อง เป็นของแขกเสียครึ่ง

เมืองพาโร

ทางไปเมืองหลวงกำลังก่อสร้าง

วิวระหว่างทางจากสนามบินไปเมืองหลวง

ทางเข้าเมืองทิมพู

เมืองหลวง Thimphu

โรงแรมที่พัก

ห้องพัก (หมอน 3 ใบ แต่นอนคนเดียว)

พอเช็กอินเสร็จก็ไปแลกเงินที่ธนาคาร 1 US แลกได้ประมาณ 40 Ngultrum พอดีพกเงินเยนไปด้วยเลยถือโอกาสแลกไปด้วยหน่อย 100 เยน แลกได้ 32 Ngultrum พูดถึงธนบัตรที่นี่มีหลากหลายราคาเดียวกันแต่มีหลายแบบทำให้งงพอสมควร พอเงินภูฏานตุงเต็มกระเป๋าก็ไปหามื้อเที่ยงทาน เหลือบไปเห็นร้านอาหารแถวนั้นก็โฉบเข้าไป ไม่มีใครเลย มารู้ทีหลังว่าเวลาพักกลางวันที่นี่คือ บ่ายโมง เราดันไปเที่ยงแบบไทยๆ อ้าวท้องมันบอกเวลาเมืองไทย และเวลาที่นี่ก็ช้ากว่าเมืองไทย 1 ชม. อาหารมื้อแรกเป็นเหมือนเปอะเปี๊ยะและกาแฟหนึ่งถ้วย ลืมบอกว่าเอากาแฟดำ เขาเอากาแฟใส่นมและน้ำตาลมาให้ ยังไงก็ต้องดื่ม เหลือบไปเห็นตู้ไอติมทำจากเมืองไทยเพราะยังมีสติ๊กเกอร์ติดอยู่ มองไปรอบๆ ห้องก็เห็นร่มบ่อสร้าง สงสัยเจ้าของคงเคยไปเมืองไทยหลายหน ในเมืองมีรถยนต์ป้ายแดงทุกคัน (ที่นี่ใช้ป้ายสีแดง) คงเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรแต่ใช้ตำรวจจราจรโบกรถแทน

ทำเนียบรัฐบาล หรือ ซอง ภายในมีส่วนหนึ่งเป็นวัดเสมอ

โรงหนัง (หนังแขกส่วนใหญ่)

ปั๊มน้ำมัน

สถานีขนส่ง

ตอนบ่ายไปกระทรวงสุขภาพซึ่งมีสำนักงาน WHO อยู่ เพื่อรายงานตัว ตัวแทน WHO ที่นี่เป็นหมอญี่ปุ่น เลยทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่นไปนิดหน่อย (ขืนพูดมากกว่านี้เราจะแย่) เจอเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมโรคนำโดยแมลงอีกสองคนมารอตั้งแต่เมื่อวาน ชื่อ โซนัมและนิมา ในชุดประจำชาติที่เรียกว่า โก๊ะ (Gho) ท่าทางสุภาพและน่ารักดี โซนัมเป็นบอดี้การ์ดคนแรก (ต่อมาในปี 2009 เขาส่งมาอบรมกับเราที่เมืองไทย พร้อมกับเพื่อนอีก 7 คน เป็นเวลา 4 เดือน ส่วนนิมา เขาส่งมาเรียน ป.โท ที่ มหิดล ในปีเดียวกัน จากนั้น ปี 2010 และ 2011 ส่งมาอบรมอีก 2 รุ่น ตอนนี้จึงมีลูกศิษย์ทั่วภูฏาน)

กระทรวงสุขภาพ

โซนัมและนิมา

ตอนเย็นไปเดินเล่นในเมืองเห็นเขากำลังแข่งขันยิงธนูกันเลยแวะไปดู เห็นแต่คนยิงแต่เป้าไม่เห็น ไกลออกไปอีกร้อยเมตรเห็นเป้าเล็กๆ อยู่ตรงนั้น มีคนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังเต้นรำและโห่ร้องอยู่ จึงรู้ว่าเขาผลัดกันยิงเข้าหากัน โดยมีเป้าวางอยู่ทั้งสองข้าง ไม่น่าเชื่อว่าธนูที่เราเห็นใช้แข่งกีฬากันนั้นจะยิงไกลขนาดนั้น ถามคนที่นี่ดูว่าทำไมไม่ใช้ธนูแบบโบราณ ได้รับคำตอบว่า ขืนใช้ก็ยิงไปไม่กี่สิบเมตรและไม่ถูกเป้า

ตกเย็นก็ไปหาอะไรกินอีกร้านหนึ่งข้าวกับแกงกะหรี่ไก่ พอกินได้ (ทำเองอร่อยกว่าเยอะ) อาหารที่นี่แพงเมื่อเทียบกับเมืองไทย  กินเสร็จก็เดินเล่นในตัวเมืองย่านการค้า ใครอย่าคิดมาหาของหรู ๆ จากที่นี่เลยของส่วนใหญ่มาจากอินเดีย บางอย่างก็มาจากเมืองไทย ตึกรามบ้านช่องก็มีทรงคล้ายๆ กันเป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน ถนน ทางเท้าก็ลุ่มๆ ดอนๆ มีบ้วนน้ำหมากตลอดทางเพราะคนที่นี่ชอบกินหมาก จึงได้กลิ่นน้ำหมากตลอดทางแม้แต่ในตึกก็มีถังน้ำหมาก

ลานแข่งยิงธนู (ยังไม่เห็นหยุดแข่งกันตั้งแต่มา)

ใจกลางเมืองหลวง

ลานเอนกประสงค์

เด็กนักเรียนตอนเลิกเรียน (เดินขึ้นเขา)

เช้าวันที่ 26 ก.ค. ไปพบเจ้านายหลายคน จำชื่อได้ไม่หมด ผ่านไปครึ่งวัน ตอนเที่ยงเจ้าหน้าที่เอาไปปล่อยที่ร้านอาหารบนเขา มองเห็นตัวเมืองได้ทั่ว สั่งอะไรให้ก็ไม่รู้ มีแต่น้ำแกง นาน (แป้งโรตี) และข้าวชามโต ปล่อยเรานั่งกินคนเดียวทั้งร้านเพราะโต๊ะอื่นว่าง มื้อนี้หมดไปสี่ร้อยกว่า

ร้านอาหาร

แกงกะหรี่ แกงปลา ดัล เห็ดต้มเนย (ใครจะกินหมด)

สำรวจลูกน้ำ

วันที่ 27 ก.ค. ออกไปสำรวจยุงแต่เช้าท่ามกลางสายฝน มีโอกาสไปเจอสัตว์ประจำชาติ Takin ที่สวนสัตว์ หน้าตาแปลกๆ วัวก็ไม่ใช่ แพะก็ไม่เชิง (สงสัยพระเจ้าแย่งกันสร้าง)

Takin

อ่างน้ำอุ่น

ระหว่างทางสำรวจผ่านบ้านหลังหนึ่งเห็นมีรางไม้ใหญ่และเล็ก เขาบอกว่าใช้แช่น้ำอุ่นในหน้าหนาว โดยการเผาหินให้ร้อนแล้วแช่ไว้ในน้ำก็จะได้น้ำอุ่น นอกจากนี้ยังเจอเห็ดป่าญี่ปุ่น (มัสึตะเกะ) ที่มีทั่วไป เรื่องเห็ดนี้จะมีอีกในตอนหลัง อร่อยมากขอบอก

เห็ดญี่ปุ่น

ตอนค่ำฝนก็ยังตกอยู่ ขี้เกียจออกไป เลยกินข้าวเย็นที่โรงแรม อร่อยกว่าวันก่อน กินเสร็จต้องมานั่งจัดการยุงที่เก็บมา เสร็จเกือบห้าทุ่ม

เนินเขา มองลงไปเห็นเมืองหลวงทิมพู

เช้าวันที่ 28 ก.ค. ทานข้าวเช้าเสร็จมานั่งเขียนบันทึกนี้อยู่ ตอนบ่ายออกไปสำรวจยุงต่อ เดินผ่านสถานีอนามัย ที่นี่มีจุดน่าสนใจ คือ ตู้หรือกล่องใส่ถุงยางอนามัย พบได้ตามโรงแรมเช่นกัน ที่นี่เขารณรงค์เรื่องโรคเอดส์ ผ่านร้านขายของชำและชุมชนนอกเมือง ไม่เจอลูกน้ำสักตัว เลยไปแวะเที่ยวตลาดสด มีแต่พริกเป็นส่วนใหญ่ กระเทียมหัวโต ๆ เหมือนของจีน นอกนั้นเป็นถั่วนิดหน่อย ไม่น่าสนใจเลย ทางเดินก็มีแต่โคลน เพราะฝนตกมาทั้งวัน พวกเล่นจอดรถเสียไกล ทำให้ต้องเดินผ่านโคลนแฉะๆ ถามว่าทำไมไม่เข้าไปจอดในตลาด เขาบอกว่ารถคันนี้ใช้ในราชการ ห้ามไปจอดตลาดเวลาราชการ ถือว่าไปใช้ส่วนตัว ฟังดูแล้วนึกถึงรถหลวงของไทย ที่เขียนข้างรถว่า “ใช้ในราชการ”(บ้าง) เจอแทบทุกแห่ง แม้แต่สนามกอล์ฟ

เปิดหยิบใช้ได้ฟรี (ไม่รู้ว่าใช้แล้วให้ใส่ปี๊บข้างล่างนี้หรือเปล่า)

ร้านค้านอกเมือง

ร้านขายของชำ

 บ้านหลังหนึ่งในเมืองหลวง(สังเกตสัญลักษณ์ที่อยู่ทางเข้า เขาเชื่อว่าช่วยปกป้องความชั่วร้าย)

พรุ่งนี้ต้องเดินทางไปสำนักงานควบคุมโรคนำโดยแมลง ซึ่งอยู่ที่เมือง Gelephu อยู่จังหวัด Sarpang ทางตะวันออกเฉียงใต้ติดชายแดนอินเดีย ห่างจากเมืองหลวงไม่ถึงสามร้อยกิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางร่วมสิบชม. แล้วจะเล่าให้ฟังต่อในตอนหน้า