TRF 107

สัมภาษณ์พิเศษ : ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ดาวรุ่งแห่งวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ 
เรียบเรียง: ขวัญชนก 

“งานวิจัยพื้นฐานที่มีคำถามวิจัยที่ดีและชัดเจน รวมทั้งมีคำตอบของ application หรือ translation จากการนำคำตอบของงานวิจัยไปใช้ได้นั้นต่างหาก ที่จะมี impact โดยตรงต่อสังคม ต่อประเทศ และยังมีประโยชน์ต่อนักวิจัยอื่นๆ ทั่วโลก” 

ปัจจุบันสถานการณ์ของการเกิดโรคหัวใจโดยเฉพาะ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (heart attack) จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง ได้ทวีความรุนแรงและคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ในเวลาไม่กี่นาที การพัฒนาวิธีการรักษาและป้องกันการเสียชีวิตจะต้องใช้การค้นคว้าและวิจัยเชิงลึกเพื่อนำไปประยุกต์ใช้และเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดประโยชน์จริงในผู้ป่วยนั้นยังมีนักวิจัยที่มีความรู้ความเข้าใจที่สามารถทำงานวิจัยพื้นฐานในสาขาสรีรวิทยาทางไฟฟ้าของหัวใจในประเทศไทย หาได้น้อยมากหรือแทบไม่มีเลย นอกจากนั้นแล้วการทำวิจัยในสาขานี้ยังจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและห้องสวนหัวใจที่มีราคาสูงมาก 

แต่จากความมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเพื่อบุกเบิกสร้างความรู้ด้านงานวิจัย โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากที่ต้องเริ่มต้นงานวิจัยจากศูนย์ของ ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี พ.ศ.2555 จนกระทั่งทำให้เกิดห้องสวนหัวใจที่มีเครื่องมือพร้อมใช้ในการศึกษาวิจัยพื้นฐานในด้านโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และทำให้งานวิจัยในสาขานี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นับเป็นดาวอีกหนึ่งดวงแห่งวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจและจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าให้แก่วงการวิจัยของประเทศไทยต่อไป
• ทัศนะเกี่ยวกับการทำงานวิจัยพื้นฐานที่ได้รับความสนใจน้อยกว่าการทำงานวิจัยและพัฒนา (R&D) 
ก่อนอื่นผมคิดว่าเราต้องกลับมาทำความเข้าใจกันใหม่ เกี่ยวกับที่มาหรือต้นกำเนิดของงานวิจัย ก่อนที่จะมาแตกหน่อต่อยอดออกมาเป็น subset ต่างๆ มากมายในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า งานวิจัยพื้นฐานเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของงานวิจัยทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากการทำงานวิจัยพื้นฐาน จะเป็นตัวที่ให้คำตอบที่ชัดเจนที่สุดของคำตอบของงานวิจัยในเชิงลึก และยิ่งกว่านั้นอาจจะเป็นคำตอบสุดท้ายก่อนที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยต่อยอดหรืองานวิจัยพัฒนา ซึ่งความเข้าใจนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เนื่องจากว่า งานวิจัยพื้นฐานจะทำให้เราเข้าใจกลไกการทำงาน หรือกลไกการเกิดโรค (pathophysiology) อย่างถ่องแท้ และความเข้าใจที่สำคัญอันนี้เอง ที่จะถูกพัฒนานำไปสู่การทำงานวิจัยประยุกต์และพัฒนาที่ถูกต้อง และเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงอีกขั้นหนึ่ง
 
ดังนั้นถ้านักวิจัยสนใจการทำงานวิจัยพื้นฐานน้อยลง แต่ถูกส่งเสริมหรือมุ่งเน้นไปแต่การทำวิจัยประยุกต์และพัฒนาเพียงด้านเดียว เหมือนกับกระแสที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน ผมมองเห็นเลยว่าในอนาคต ผลเสียจะเกิดขึ้นต่อนักวิจัยและงานวิจัยในประเทศอย่างแน่นอน แล้วก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วมากมาย ถึงการเข้าใจผิดในส่วนนี้ แน่นอนว่าในระยะแรกเราอาจจะเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยประยุกต์และพัฒนาได้รวดเร็วกว่า เนื่องจากเกิดขึ้นได้เร็วและนำไปใช้งานได้จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะว่าในขณะนี้นั้น เรามีข้อมูลงานวิจัยพื้นฐานมารองรับให้เกิดงานวิจัยประยุกต์ในปริมาณที่มากพออยู่ ในอนาคตถ้าเรามีแต่งานวิจัยประยุกต์ โดยปราศจากความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานมารองรับแล้ว ถ้าเกิดปัญหาขึ้น สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่การหาคำตอบจากงานวิจัยพื้นฐานเพื่อนำกลับไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ดี ที่สำคัญคือเราก็ไม่อาจบอกได้ว่าการนำผลงานวิจัยประยุกต์ไปใช้งานนั้น ในระยะยาวจะก่อให้เกิดโทษหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้การทำงานวิจัยพื้นฐานให้เข้าใจถึงกลไกการทำงานที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จะสามารถช่วยให้ลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้ 

จริงๆแล้วถ้าเราไปดูประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น งานวิจัยพื้นฐานจะต้องก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน กับงานวิจัยประยุกต์และพัฒนา ซึ่งจะทำให้เกิดความก้าวหน้าและความมั่นคงด้านงานวิจัยอย่างแท้จริง สรุปสั้นๆ ว่า ถ้าเราเปรียบงานวิจัยประยุกต์และพัฒนาเป็นเหมือนต้นไม้ ที่มีใบมีดอกให้เห็นสวยงามจากมุมมองภายนอกแล้ว งานวิจัยพื้นฐานก็คือรากแก้วอันสำคัญของต้นไม้ใหญ่นั้นนั่นเอง ที่แม้ไม่มีใครเห็นเพราะอยู่ใต้ดิน แต่ก็ทำหน้าที่สำคัญในการให้การหล่อเลี้ยงดอกและใบของต้นไม้นั้นให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงนั่นเอง 

ดังนั้นผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันกลับมาดูทิศทางของงานวิจัยของประเทศเราใหม่ แล้วพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยพื้นฐานให้เกิดขึ้นและก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับการเกิดงานประยุกต์และพัฒนา เพื่อประโยชน์และความก้าวหน้าของประเทศในอนาคตในระยะยาว
• แรงผลักดันที่ทำให้เกิดพลังมุ่งมั่นที่จะศึกษาค้นคว้าและวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับโรคหัวใจเต้นผิดปกติ 
ตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ สมัยนั้นก็มีการเรียนการสอนเรื่องความผิดปกติของการเต้นของหัวใจที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่มีใครพูดถึงกลไกพื้นฐานของการเกิดโรคดังกล่าว โดยเฉพาะโรคหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงที่สามารถคร่าชีวิตคนในเวลาไม่กี่นาทีถ้าให้การรักษาไม่ทันท่วงที ที่ทางการแพทย์เรียกว่า ventricular fibrillation ความสงสัยอยากรู้อันนั้นเป็นตัวจุดชนวนให้ผมมีความสนใจที่จะหาความรู้เพิ่มเติม เริ่มจากหาอ่านเอง สมัยนั้นก็มีแต่ตำราต่างประเทศ อ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ จนกระทั่งได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก และได้ทำการศึกษาวิจัยด้านกลไกการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงนี้ รวมถึงวิธีการรักษาและกลไกของวิธีการรักษานี้ด้วย ทำให้เข้าใจกลไกมากขึ้น และที่สำคัญคือมันยิ่งเปิดมุมมองให้ผมเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาวิธีการรักษาแบบใหม่ๆ ที่อาจให้ผลการรักษาที่ดีกว่าเดิมก็ได้ ซึ่งอันนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นประโยชน์สูงสุดที่ได้จากการทำงานวิจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเกิดโรคอย่างแท้จริง จุดนี้เป็นอะไรที่ท้าทายความสามารถมากสำหรับตัวผม ยิ่งทำวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น เราก็ยิ่งสนุกไปกับงานวิจัยเพราะเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องบอกว่าเรารู้จักภาวะ ventricular fibrillation มาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว แต่ความเข้าใจในกลไกการเกิดโรคนี้ ก็ยังไม่ชัดเจน และที่สำคัญก็คือว่า ถึงแม้ว่าเราจะรู้จักโรคนี้มานานแล้ว แต่ปัจจุบัน วิธีการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงนี้ กลับมีอยู่เพียงวิธีเดียวที่มีประสิทธิภาพ คือการปล่อยไฟฟ้าแรงสูงเข้าไปช็อคหัวใจโดยตรง เพื่อหยุดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้วให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติเหมือนเดิม วิธีการนี้เรียกว่า Electrical Defibrillation ผมถามตัวเองอยู่เสมอว่า ทำไมถึงมีวิธีการรักษาเพียงวิธีนี้วิธีเดียว ทำไมไม่มีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ หรือมีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ คำถามนี้ทำให้ผมเกิดมานะในการทำวิจัยในสาขานี้มาตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา
• อยากให้อาจารย์เล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดตั้งศูนย์ CERT ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 
ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ หรือศูนย์ CERT (Cardiac Electrophysiology Research and Training Center) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 ตอนนั้นผมเพิ่งกลับมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้ไม่กี่ปี ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านั้น เรามีบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Cardiac Electrophysiology น้อยมากๆ ในประเทศไทย และส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์ที่ผ่านการอบรมมาเพื่อให้การรักษาคนไข้ ไม่ใช่เพื่อทำวิจัย ดังนั้นความรู้พื้นฐานด้านกลไกเชิงลึกก็จะมีไม่มาก ส่วนคนที่ทำงานวิจัยในสาขาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ประเภทที่ลงไปถึงกลไกการเกิดโรค หรือกลไกการรักษา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวิธีการรักษาโรคให้ดีขึ้นนั้น แทบไม่ต้องพูดถึง หาได้ยากมาก หรือเกือบไม่มีเลย ผมกลับมาแล้วก็ตระหนักในส่วนตรงนี้ คือ การขาดบุคลากรหรือนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในการทำวิจัยในสาขานี้ ซึ่งในต่างประเทศนั้น เขามีกันอยู่เป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดความรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาให้เราใช้กันในทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก
 
ผมเห็นแล้วก็เลยคิดว่า เราคงจะต้องทำอะไรสักอย่างที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวิชาการและงานวิจัยในสาขานี้ (Cardiac Electrophysiology) ในประเทศไทยให้ได้ ก็เลยริเริ่มการก่อตั้งหน่วยวิจัย Cardiac Electrophysiology ขึ้น ภายในภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นผมได้เรียนรู้เลยว่าการจะทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก เป็นเรื่องที่ยากมาก ถึงแม้เราจะมี track record มาดีขนาดไหนก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากงานวิจัยในสาขานี้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาสูง และเป็นเครื่องมือที่บางส่วนอาจจะใช้ในผู้ป่วยได้ด้วย ดังนั้นการหาผู้ลงทุนที่จะเอาเอาเครื่องมือของผู้ป่วยมาให้เราทำวิจัยคงจะยากโดยเฉพาะในประเทศไทย ผมบังเอิญโชคดีมากเพราะมีเครือข่ายวิจัยในต่างประเทศอยู่พอสมควรในระหว่างที่เป็น staff อยู่ที่อเมริกา ทำให้ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนด้านเครื่องมือวิจัยจากหน่วยงานต่างๆในสหรัฐอเมริกา ที่เขาเห็นความตั้งใจของเราในการริเริ่มทำงานวิจัยด้านนี้ในประเทศไทย ทีนี้พอได้เครื่องมือมาก็ต้องหาสถานที่และทุนสำหรับทำวิจัยอีก ในสมัยนั้น ต้องบอกว่าหน่วยงานแรกที่เข้ามาให้การสนับสนุนทุนวิจัยผม ก็คือ สกว. นี่เอง ผมได้ทุนเมธีวิจัยเป็นครั้งแรกสมัยนั้น ทำให้เราสร้างงานวิจัยในสาขา Cardiac Electrophysiology ออกไปประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่านักวิจัยไทยก็สามารถทำงานคุณภาพสูงทัดเทียมต่างประเทศได้ ซึ่งต่อมาก็ได้รับสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดตั้ง CERT Center ขึ้นในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนี้ CERT Center ถือเป็นศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ ที่มีการวิจัยและฝึกอบรมด้านการทำวิจัยเชิงลึกในสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจเพียงแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์
• วิธีการทำงานวิจัยที่ทำให้งานวิจัยพื้นฐานเกิด impact ต่อสังคม ประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ 
ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ สำหรับนักวิจัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังเริ่มทำงานวิจัย ในปัจจุบันนี้ผมมองว่าในการทำงานวิจัยนั้น การเริ่มทำวิจัยจากการที่นักวิจัยมีคำถามที่ชัดเจนว่าต้องการหาคำตอบในเรื่องอะไร เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว หากแต่ว่าควรจะต้องมีคำถามต่อไปอีกว่า หากได้รับรู้คำตอบของคำถามวิจัยนั้นแล้ว มันจะมีประโยชน์อะไรในการนำไปใช้เพื่อการพัฒนาหรือนำไปประยุกต์ใช้ต่อในงานที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นได้หรือไม่ 

ในสมัยก่อนนักวิจัยอาจทำวิจัยโดยเอาความสนใจของตนเองเป็นหลัก โดยเฉพาะงานวิจัยพื้นฐาน โดยที่หากได้คำตอบแล้วก็จบอยู่ตรงนั้น โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไปแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร นอกจากการที่บอกผู้อื่นได้ว่าตัวเองได้ทำวิจัย แต่ในปัจจุบันในสถานการณ์ที่ทิศทางของประเทศกำลังมุ่งเน้นไปด้านงานวิจัยประยุกต์และพัฒนานั้น เราต้องแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า งานวิจัยพื้นฐานที่มีคำถามวิจัยที่ดีและชัดเจน รวมทั้งมีคำตอบของ application หรือ translation จากการนำคำตอบของงานวิจัยไปใช้ได้นั้นต่างหาก ที่จะมี impact โดยตรงต่อสังคม ต่อประเทศ และยังมีประโยชน์ต่อนักวิจัยอื่นๆ ทั่วโลก ในการนำความรู้จากการนำงานวิจัยของเราไปใช้ต่อ เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาในผู้ป่วยได้เร็วยิ่งขึ้น 

ผมเองอยู่ในวงการวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผมมองว่า ผลงานวิจัยของผมนั้น ไม่ควรจะจำกัดอยู่เพียงแค่ประโยชน์ของประเทศ แต่ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์ชาติทั้งโลก ดังนั้นการที่เราได้พยายามเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ ก็จะเป็นการเร่งให้นักวิจัยจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่เห็นว่างานวิจัยเรามีประโยชน์ จะได้นำผลการวิจัยที่เราค้นพบเพื่อนำไปศึกษาต่อยอด จึงเป็นการเร่งให้การค้นคว้าวิจัยเพื่อการรักษาโรค สามารถเป็นไปได้รวดเร็วขึ้นหรือเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนั้น ประโยชน์ทั้งมวลจากงานวิจัยก็จะตกอยู่กับผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเรานั่นเอง 

• ข้อคิดที่อยากฝากถึงผู้ที่ต้องการก้าวสู่การเป็นการนักวิจัยมืออาชีพ 
การเป็นนักวิจัยมืออาชีพ ในที่นี้ผมคิดว่า คงจะหมายถึง นักวิจัยที่ประสบความสำเร็จในสาขาที่ตนเองทำวิจัยอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ผมมองว่ามีปัจจัยสำคัญๆ อยู่ 4 อย่าง ที่จะเป็นตัวช่วยหนุนเสริมให้นักวิจัยประสบความสำเร็จในอาชีพการทำวิจัยได้ ปัจจัยแรกคือ“การรู้จักให้” การทำงานวิจัยนั้น ถ้าอยู่ทำวิจัยไปนานๆ เราจะได้เรียนรู้ว่า ยิ่งเราให้คนอื่นด้านวิจัยมากเท่าไร เราก็จะยิ่งได้รับผลที่ดีกลับมามากกว่าสิ่งที่เราให้อีก การให้ในที่นี้ หมายถึงการให้ทั้งในเรื่องความรู้และการให้ความช่วยเหลือแก่นักวิจัยอื่นๆ หรือแม้แต่ลูกศิษย์ที่มาทำงานวิจัยกับเราก็ตาม เพราะฉะนั้นต้องฝึกการให้ให้เป็นและทำบ่อยๆให้เป็นนิสัยปัจจัยที่สอง คือ “ความเพียร” ถ้าขาดสิ่งนี้ อนาคตการทำวิจัยก็คงยากที่จะสดใส ส่วนปัจจัยที่สาม ก็คือ “ความกตัญญู” สิ่งนี้สำคัญมากๆ และควรมีอยู่ในใจของนักวิจัยอยู่ตลอดเวลา การแสดงออกซึ่งความกตัญญูอันหนึ่งที่ผมมักยกตัวอย่างอยู่บ่อยๆ ก็คือ กตัญญูต่อผู้ให้ทุน เมื่อรับทุน รับเงินวิจัยเขามาแล้ว ก็ต้องแสดงความกตัญญูด้วยการตั้งใจทำวิจัยให้ดี ให้สำเร็จ และตีพิมพ์ให้ได้ เป็นต้น อันนี้เป็นการแสดงความกตัญญูแบบง่ายๆ ที่นักวิจัยต้องมี ส่วนปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญมาก คือ “mentor” ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะ mentor จะเป็นทั้งผู้ให้คำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือเราได้ในยามที่เราต้องการ ผมพูดอยู่เสมอว่า คำจำกัดความของคำว่า “mentor” สำหรับผม คือ “คนที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จด้านการวิจัย โดยทำให้เราใช้เวลาสั้นลงครึ่งหนึ่งของเวลาที่ควรจะเป็น” 

เพราะฉะนั้น ถ้าใครกำลังเริ่มทำงานวิจัยและอยากประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ และยังไม่มี mentor ก็ให้รีบหา mentor ซะนะครับ
 
จากบทสนทนาของท่านอาจารย์หมอ คงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมท่านถึงมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ …ความทุ่มเท มานะ อุตสาหะ และมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยเพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่ดีคงไม่เพียงพอ หากแต่ท่านนั้นจะต้องมีคุณธรรม และจริยธรรมของการเป็นนักวิจัยที่ดี และมีความสม่ำเสมอในการทำงานวิจัยด้วย ความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวังไว้ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

แหล่งที่มา : ประชาคมวิจัย    ฉบับที่ : 107    หน้าที่ : 23    จำนวนคนเข้าชม : 1055   คน