การเก็บอวัยวะที่ขาดให้ถูกวิธีก่อนมาโรงพยาบาล

เมื่อเกิดอุบัตเหตุที่ทำให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งขาด สิ่งแรกควรตั้งสติให้ดีและรีบปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บดังนี้

1. โทร. เรียกรถพยาบาล หรือสายด่วน 1669 จากนั้นควรห้ามเลือดให้เร็วที่สุด โดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซจำนวนมาก ๆ ปิดบาดแผล

2. หากเลือดบริเวณบาดแผลยังไม่หยุดไหล ให้ใช้ผ้าสะอาดกดซ้ำให้แน่น เพื่อห้ามเลือด

3. คอยสังเกตอาการผู้บาดเจ็บอย่างใกล้ชิด พยายามอย่าให้กินอะไร เพื่อเตรียมตัวในการผ่าตัด แต่หากปวดบาดแผลมาก สามารถจิบน้ำเล็กน้อยเพื่อกินยาแก้ปวดได้

4. ในการห้ามเลือดไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัด หรือพยายามหลีกเลี่ยงการขันชะเนาะ เนื่องจากอาจทำให้รัดประสาทหลอดเลือดจนเนื้อเยื่อส่วนนั้นขาดเลือดได้

5. หากมีเนื้อเยื่อบางส่วนติดกันอยู่ (ระหว่างร่างกายและอวัยวะที่ขาด) ให้พยายามประคองส่วนที่ขาดไม่ให้ถูกดึงรั้งไป-มา เพื่อป้องกันอันตรายไม่ให้มากไปกว่าที่เป็นอยู่

6. เมื่อให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ให้โทร. สอบถามโรงพยาบาลที่จะส่งตัวผู้บาดเจ็บก่อนว่า สามารถผ่าตัดต่ออวัยวะที่ขาดของผู้บาดเจ็บได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในการส่งตัวไปรักษาต่อโรงพยาบาลอื่น

วิธีเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดอย่างถูกต้อง

ไม่ว่าจะเป็นกรณีนิ้วขาด แขนขาด เท้าขาด ขาขาด หรือมือขาด ควรเก็บรักษาอวัยวะที่ขาดดังวิธีต่อไปนี้

1. เก็บชิ้นส่วนของอวัยวะที่ขาด หากมีน้ำสะอาดให้ล้างอวัยวะด้วยน้ำเพื่อกำจัดเศษฝุ่นหรือสิ่งสกปรกออกบางส่วน

2. นำชิ้นส่วนที่ขาดใส่ถุงสะอาด มัดปากถุงให้แน่น และสำรวจให้แน่ใจว่าถุงไม่มีรอยรั่วให้น้ำหรืออากาศเข้าได้

3. นำถุงหรือถังใส่น้ำแข็ง เติมน้ำเล็กน้อย แล้วนำถุงที่ใส่ชิ้นส่วนอวัยวะลงไปแช่ทั้งถุง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการแช่ชิ้นส่วนอวัยวะจะอยู่ที่ประมาณ 4 องศาเซลเซียส

4. รีบนำผู้บาดเจ็บพร้อมทั้งชิ้นส่วนอวัยวะที่ขาดส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

การเก็บรักษาชิ้นส่วนอวัยวะที่ขาดด้วยวิธีเบื้องต้น จะทำให้ส่วนนิ้วทนการขาดเลือดได้นานถึง 24 ชั่วโมง ส่วนแขน ขา และมือจะทนการขาดเลือดได้นาน 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด

 

Cr. ร้านยาดรัก สแควร์ ชุมชนสุขภาพดี ให้ความรู้แก่ชุ่มชน โดยหมอและเภสัชกร ร้านยาเพื่อสุภาพและความงาม (drugsquare.co.th)