การดูแลเฝือกที่บ้าน

โดย สายฝน   สงฆ์อุทก

       การใส่เฝือกมีวัตถุประสงค์เพื่อดามกระดูกที่จัดเข้าที่แล้วไม่ให้เคลื่อนออกจากกัน เป็นการแก้ไขความพิการที่เป็นมาแต่กำเนิด และให้กระดูกหรือข้อที่ได้รับอันตรายได้พักผ่อน ทำให้ลดความเจ็บปวดและหายเร็วขึ้น

การปฏิบัติตัวหลังได้รับการใส่เฝือก

  • เมื่อเฝือกยังไม่แห้งต้องเปิดไว้ให้โล่ง เฝือกจะแห้งเองภายใน 24-48 ชั่วโมง
  • ยกอวัยวะที่ใส่เฝือกให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
  • ออกกำลังกายอวัยวะที่อยู่นอกเฝือกและภายในเฝือกเสมอ โดยการเกร็งกล้ามเนื้อภายในเฝือกและขยับข้อที่อยู่นอกเฝือกบ่อยๆ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อลีบและข้อติดแข็ง
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อบำรุงกระดูก ได้แก่ นม ผักใบเขียว งาดำ ปลาตัวเล็กๆ ที่กินได้ทั้งตัว อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้
  • ถ้ามีอาการคันในเฝือกให้หยดด้วยแอลกอฮอล์  75 % บริเวณที่คัน ใช้ลมเย็นๆ ช่วยเป่า หรือเกร็งกล้ามเนื้อมากๆ แล้วคลายทันที

ข้อห้ามขณะใส่เฝือก

     ห้ามตัดเฝือกออกเอง ห้ามเอาสำลีที่รองเฝือกออก เพราะจะทำให้เฝือกหลวมไม่กระชับ และสำลียังป้องกันไม่ให้ใบเลื่อยถูกผิวหนังขณะเอาเฝือกออกด้วย ห้ามล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ ถ้าสกปรกให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดได้ ห้ามถูกของแข็งหรือของมีคม ห้ามเอาวัสดุใดๆ แหย่ลงไปในเฝือก  ถ้าเป็นเฝือกขาห้ามเดินลงน้ำหนักเต็มที่จนกว่าแพทย์จะอนุญาต

การมาพบแพทย์ก่อนวันนัดโรงพยาบาล

     เมื่อรู้สึกปวด กินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา ร้อน บวมตึง เฝือกคับ ปลายอวัยวะข้างที่ใส่เฝือก ซีด เย็น สีคล้ำ และเคลื่อนไหวได้น้อยลง มีไข้ น้ำเหลือง น้ำหนอง ซึมออกมา มีกลิ่นเหม็น