ทำไมเมื่อบาดเจ็บไขสันหลังถึงเป็นอัมพาต ?

โดย ศุภาพร รัตนสิริ
หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หญิง 2 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

     การบาดเจ็บของกระดูกสันหลังโดยเฉพาะกระดูกคอนั้นยังผลให้เกิดอาการและความสูญเสียหน้าที่ของไขสันหลัง จากอาการน้อยไปหามาก โดยผสมผสานกันคือ อาการปวดต้นคอ เนื่องจากกล้ามเนื้อและเอ็นหุ้มกระดูกถูกกระชากอาจถึงขั้นฉีกขาด เมื่อแรงกดรุนแรงกระดูกถึงจะหักและเคลื่อนมาทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท รวมทั้งมีอาการชามือ แขนและนิ้ว ร่วมกับอัมพาตของกล้ามเนื้อที่แขน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจระบบประสาทอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ทราบตำแหน่งของได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับการตรวจทางเอ็กซเรย์และคอมพิวเตอร์ต่อไป

     ถ้ามีการกดทับไขสันหลังจะทำให้เกิดอาการอัมพาตของลำตัว ขาทั้งสองข้าง พร้อมทั้งสูญเสียการควบคุมการกลั้นและถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ และสูญเสียความรู้สึกของผิวหนัง และข้อต่างๆ ส่วนล่างของร่างกาย ไขสันหลังอาจจะเพียงได้รับการกระทบกระเทือนไม่มาก หน้าที่ของมันจึงอาจจะฟื้น ได้ตามส่วน ถ้ามีสภาพช้ำ บวม หน้าที่ของมันอาจจะฟื้นคืนไม่หมด ถ้ามีสภาพช้ำมากถึงขาด หน้าที่ก็อาจไม่กลับฟื้นมาอีกเลย ซึ่งถ้าเกิดภาวะนี้ขึ้นจะทำให้ครอบครัวและผู้ป่วยสิ้นหวัง แต่เมื่อยังมีส่วนของสมองที่ยังไม่ถูกกระทบกระเทือน ยังสามารถที่จะทำสมาธิ คิดบวก และสู้ต่อไปได้

     สาเหตุของการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งถ้านั่งในรถยนต์แล้วมีรถคันอื่นมาชนหลัง จะทำให้ศีรษะสะบัดไปด้านหลังและด้านหน้า ตอนแรกไม่รู้สึกเจ็บ หลังจกนั้นประมาณ 1-5 ชั่วโมง เราจะรู้สึกปวดคอ เคล็ด จะหายไปเองภายใน 3-7วัน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่พบอาการชา อ่อนแรงของแขน-ขา ต้องอาศัยยาแก้ปวด และแก้อักเสบไม่แนะนำให้นวดหรือดึง หรือตอกเส้น แต่อาจจะใช้ปลอกคอแบบอ่อนใส่เสริมได้

      แต่ถ้าอุบัติเหตุที่ได้รับความรุนแรงเช่น ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซต์แฉลบล้ม เป็นต้น การบาดเจ็บของกระดูกคอส่วนบนๆ ได้แก่ ระดับที่ 1-2-3 นั้น ถ้ารุนแรงจะทำให้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หรือก่อนถึงโรงพยาบาล เนื่องจากเกิดอันตรายต่อไขสันหลังซึ่งเป็นที่อยู่ของศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม สำหรับผู้ป่วยทีมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ได้แก่ระดับที่ 4-5-6-7 โดยผู้ป่วยจะยังสามารถหายใจเองได้ ส่วนกล้ามเนื้อชายโครงจะเป็นอัมพาต ถ้ารักษาไม่ถูกต้องจะทำให้ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจในระยะแรก

เมื่อมาถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่พยาบาลและแพทย์ที่ห้องฉุกเฉิน จะทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. เข้าในห้องฉุกเฉินเท่านั้น
  2. ตรวจดูชีพจร ความดันโลหิต โดยเฉพาะการหายใจ พร้อมทั้งช่วยแก้ไขภาวะสัญญาณชีพที่ผิดปกติให้กลับเป็นปกติก่อน
  3. ทำการตรวจเพื่อประเมินระบบประสาท ทั้งการเคลื่อนไหว และรับความรู้สึก เพื่อประเมินระดับที่ได้รับบาดเจ็บ
  4. ทำการถ่ายเอกซเรย์ กระดูกสันหลัง เพื่อประเมิน เมื่อไม่พบอาจจะต้อง ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตามลำดับ

     เมื่อพบความผิดปกติของกระดูกจากเอกซเรย์แล้ว จะต้องพักกระดูกส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนที่ โดยการดึงกระดูกคอด้วยการแขวนน้ำหนัก ที่เหมาะสม ซึ่งแรงดึงจะทำให้กระดูกส่วนที่เคลื่อนนั้นกลับสู่แนวปกติ หรือบางรายจำเป็นต้องใส่ปลอกคอ ชนิด Philadelphia collar ไว้เสมอ

     การผ่าตัดนั้นไม่จำเป็นต้องรีบด่วน โดยต้องดูความพร้อมของผู้ป่วยในด้านของสัญญาณชีพก่อน และการผ่าตัดจะช่วยให้ยึดกระดุกให้เข้าที่ เพื่อความสะดวกในการทำกายภาพบำบัดเท่านั้น การผ่าตัดไม่ได้ทำให้ไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บแล้วสามารถฟื้นขึ้นมาได้

    การดูแลผู้ป่วยขณะนอนนั้น จำเป็นต้องให้ความสนใจในเรื่องของ แผลกดทับ ตามปุ่มกระดูกต่างๆ เช่น กระดูกก้นกบ ส้นเท้า สะโพก เอว และสะบัก เป็นต้น การพยาบาลที่ดีที่สุดคือการพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง ซึ่งยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด การหายใจสะดวก ไม่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบติดเชื้อได้อีกด้วย

    การดูแลเรื่องระบบขับถ่ายปัสสาวะ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถบังคับให้ตัวเองขับถ่ายได้เหมือนปกติ เพราะระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและหูรูด หยุดทำงาน จึงจำเป็นต้องคาสายสวนปัสสาวะไว้ก่อน ถ้ามีความพร้อมจึงจำเป็นต้องฝึกการขับถ่ายในระยะต่อไป

    การดูแลเรื่องระบบขับถ่ายอุจจาระ ผู้ป่วยไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้เอง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องผูก หรืออุจจาระเล็ดราดได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสวนอุจจาระ หรือการล้วงอุจจาระวันเว้นวัน เพื่อทำให้อุจจาระไม่คั่งค้าง

    การฟื้นตัวของไขสันหลังที่ยังดีนั้น ใช้เวลาตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี ฉะนั้นไม่สามารถบอกได้ว่า ผู้ใดจะฟื้นตัวได้ขนาดไหน และใช้เวลาเท่าใด ฉะนั้นการรอคอยเป็นสิ่งสำคัญ แต่ให้คิดว่าเราทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเป็นพอ