เปรียบเทียบผลของการใช้ความเย็นและไม่ใช้ความเย็นในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทาง ออร์โธปิดิกส์ต่ออาการปวดภายหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์

โดย บุปผา จันทรจรัส , ธีรนันท์   สิงห์เฉลิม , เจษฎาพร พิชัยยา , อธิฐาน สุมามาลย์ , ปรานอม เลาหะวีร์ , นพ. ชนะการ พรพัฒน์กุล , นพ. ประสิทธิ์ วงศ์ตรีรัตนชัย

หอผู้ป่วยออร์โธฯชาย 1,หอผู้ป่วยออร์โธฯหญิง 1, หอผู้ป่วยออร์โธฯชาย 2 , หอผู้ป่วยพิเศษ 8, หอผู้ป่วยพิเศษ 8 , ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ ,ภาควิชาออร์โทปิดิกส์

บทคัดย่อ
ความเป็นมา: การผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ส่งผลให้ผู้ป่วยประสบกับอาการปวด ทุกข์ทรมาน ทำให้การทำกายภาพบำบัดมีความล่าช้า บางรายพบว่ามีอาการบวม ผิวหนังบริเวณแผลเย็บดำ ส่งผลต่อการรักษา การลดอาการปวดหลังการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพจึงสามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสภาพได้อย่างเหมาะสมและลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ซึ่งการประคบเย็นเป็นวิธีลดอาการปวด และอาการบวมที่ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีกระดูกหักก่อนการผ่าตัด   ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการประคบเย็นในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์

วัตถุประสงค์
: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้ความเย็นและไม่ใช้ความเย็นต่ออาการปวด อาการบวม ผิวหนังบริเวณแผลเย็บดำ ( skin necrosis )และความพึงพอใจในการดูแลภายหลังการผ่าตัดกระดูกหักในผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์

รูปแบบการศึกษา
: การวิจัยเชิงทดลอง (Intervention research) แบบมีกลุ่มควบคุม

สถานที่ศึกษา : โรงพยาบาลพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตั้งแต่ กรกฎาคม2552 – มิถุนายน 2553

วิธีการศึกษ : กลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นผู้ป่วยกระดูกหักแบบปิด (closed fracture)บริเวณแขน ต้นขา หน้าแข็งและข้อเท้า ไม่มีข้อห้ามในการใช้ความเย็น จำนวน 60 คน เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 คน แบ่งโดยการจับฉลาก (simple randomization) และได้รับยาลดอาการปวดหลังการผ่าตัดเหมือนกัน ในกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับการประคบเย็นเป็นเวลา 20 นาที พัก 1 ชั่วโมง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง ประเมิน pain score ทุก 4 ชั่วโมง

ผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุต่ำกว่า 60 ปี มากกว่าร้อยละ 80 ไม่มีโรคประจำตัวและได้รับการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกภายในแบบเปิด โดยมีกระดูกหักบริเวณ tibia femur forearm และ ankle ตามลำดับ นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการ block ในการผ่าตัดและใช้เวลาในการผ่าตัดมากกว่า 60 นาทีและไม่มีประสบการณ์ในการผ่าตัด ผู้ป่วยที่ได้รับการประเย็นมี อาการปวด การอับเสบ การบวม และ skin necrosis บริเวณแผลผ่าตัด น้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการประคบเย็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .004 .001 .016 และ .005 ตามลำดับ ส่วนระดับความพึงพอใจ ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มส่วนใหญ่มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและมากที่สุดแต่ไม่มีความแตกต่างกัน

สรุปและข้อเสนอแนะ : การใช้ความเย็นมีผลดีต่อการดูแลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ภายหลังการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกภายใน โดยสามารถลดอาการปวด การบวม การอักเสบ และป้องกัน skin necrosis ของแผลผ่าตัดได้ ดังนั้นจึงควรประยุกต์ใช้การใช้ความเย็นในการดูแลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ภายหลังการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกภายใน โดยจัดทำแนวทางในสหสาขาวิชาชีพ

คำสำคัญ : การประคบเย็น   การผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์   อาการปวดหลังการผ่าตัด

ได้รับรางวัลดีแด่นอันดับ 2 การนำเสนอผลงานวิชาการ ของชมรมเครือข่ายวิจัยโรงพยาบาลเขตภาคเหนือ 20-22 ก.ค. 54