การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
โดย บุปผา   จันทรจรัส

การหกล้มหรือลื่นล้ม หมายถึง การเปลี่ยนตำแหน่งของร่างการโดยไม่ได้ตั้งใจหรือควบคุมไม่ได้
สถานการณ์การลื่นล้ม

ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง ร้อยละ40 ของการลื่นล้มทำให้กระดูกตะโพกหัก ร้อยละ 20 ของการบาดเจ็บเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต การลื่นล้มมักเกิดขึ้นในที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในห้องน้ำ/บันได

              หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะมีผู้ป่วยกระดูกหักจากการลื่นล้มที่บ้านเข้ารับการรักษาทุกเดือนประมาณเดือนละ 3-4 ราย และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีโรคประจำตัวซึ่งได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจ บางรายมีไตวายเรื้อรัง ดังนั้นจึงทำให้การดูแลรักษาซับซ้อนมากขึ้น และขณะอยู่ในโรงพยาบาลก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ปอดบวม ติดเชื้อในระบบต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการลื่นล้มเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องทราบสาเหตุของการลื่นล้ม

สาเหตุของการลื่นล้ม ความเจ็บป่วย , สิ่งแวดล้อม
            สาเหตุทางกาย การทรงตัวไม่ดี ขาอ่อนแรง ชา อ่อนเพลีย หน้ามืด มีปัญหาด้านสายตาและ การได้ยิน
รับยาที่มีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต เป็นโรคกระดูกพรุน
          สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม พื้นลื่น เปียก มีหยดน้ำ พื้นผิวขรุขระ ของใช้รก มีขั้นสูงต่ำ เป็นเนินพรมหนา ขอบไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ อุปกรณ์ของใช้ไม่มั่นคงชำรุด ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไม่เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าไม่พอดี ทำงานเสี่ยง

การป้องกันการลื่นล้ม

ห้องน้ำ/สุขา

วัสดุที่ใช้ปูพื้นเป็นชนิดไม่ลื่น มีราวเกาะข้างฝาและบริเวณที่ต้องลุกอย่างมั่นคงใช้โถส้วมแบบชักโครก ห้องอาบน้ำมีที่นั่งขณะอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้า จัดวางของใช้ให้หยิบจับง่าย ในระดับข้อศอก

ห้องนอน/ห้องนั่งเล่น
         จัดของใช้ให้เป็นระเบียบ หยิบจับง่าย ไม่มีของเกะกะ ตามพื้นห้องโดยเฉพาะสายไฟ สายโทรศัพท์ พิจารณาใช้โทรศัพท์ไร้สาย
จัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอโดยเฉพาะทางเดินไปห้องน้ำ ไม่มีสิ่งกีดขวาง ทางเดินในห้องนอนและห้องน้ำให้โล่ง ไม่มีหยดน้ำตามทางเดิน เคลื่อนไหวหรือลุกจากเตียงอย่างช้าๆ

ห้องครัว
           จัดของข้าว/เครื่องปรุงให้ง่ายต่อการใช้ เก็บของใช้ที่หนักไว้ในที่ต่ำ เช็ดหยดน้ำ น้ำมันทันที เลี่ยงการขัดเงาที่พื้นห้อง หากมีความไม่ปลอดภัยในการทำงานให้ทำการแก้ไข
บันได
         เลี่ยงการใช้บันได ถ้าจำเป็นต้องใช้บันไดต้องมีความมั่นคง มีความกว้างพอดี ถอดแว่นตา งดอ่านหนังสือทุกครั้งขณะ ขึ้น/ลงบันได   ไม่รีบขึ้น/ลงบันได

พื้นทั่วไป
            ดูแลทางเดินให้โล่ง ไม่มีหยดน้ำ /สิ่งของกีดขวางทางเดิน ทางเข้า-ออกสะดวก มีสว่าง เพียงพอ   ไม่เก็บของใช้ในการทำสวน /ทำงานไว้ในตามทางเดิน
การดูแลสุขภาพ
         รับประทานอาหารให้เพียงพอ เน้นผักและผลไม้ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและต้านทานโรค ไม่ควรงดอาหาร ทำให้อ่อนเพลีย มึนงง มีการเคลื่อนไหวทุกวันเดิน/ออกกำลังกายตามวัย เช่น ไทจี๋ เพื่อรักษาความหยืดหยุ่นของข้อและสมดุลของร่างกาย เข้าสู่โปรแกรมการออกกำลังกาย ตรวจสายและการได้ยินเป็นประจำสม่ำเสมอถ้าพบ ปัญหาควรใช้อุปกรณ์ช่วย สอบถามแพทย์/เภสัชทุกครั้งที่รับยาถึงผลข้างเคียงของยา ถ้ารับยาที่มีผลทำให้ง่วงซึม หลับ ต้องปรับเปลี่ยนการทำกิจวัตรประจำวันเพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ห้ามผสมยากับแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นสาเหตุของการลื่นล้ม ไม่อายที่จะใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน จะทำให้เราปลอดภัย ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยเดินให้มีความสูงเหมาะสม มั่นคง ปลายมียางหุ้ม
เมื่อประสบกับการลื่นล้ม
พยายามเอาส่วนที่หนาหรือมีอุปกรณ์นุ่มรองลงสู่พื้น หลังลื่นล้มไม่ควรรีบลุกให้สำรวจการบาดเจ็บก่อน ไม่ต้องกลัวลื่นล้มซ้ำแต่ให้วิเคราะห์สาเหตุแล้วแก้ไข