การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลเพื่อป้องกันการพลัดตก หกล้ม : แนวปฏิบัติฯ สู่งานประจำ

โดย บุปผา จันทรจรัส และคณะ

แนวคิด รายงานอุบัติการณ์การพลัดตก หกล้มเป็นตัวชี้วัดด้านผลลัพธ์ ของคุณภาพทางการพยาบาล ซึ่งฝ่ายการพยาบาลได้ให้ความสำคัญจึงได้กำหนดแผนกลยุทธ์ปี2555 ให้การพลัดตก หกล้มเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ โดยกำหนดผลลัพธ์ไว้คือ 1) ลดจำนวนอุบัติการณ์/อัตราการพลัดตก หกล้มโดยรวม (D-I) อย่างน้อย 50 % 2) ลดจำนวนอุบัติการณ์/อัตราการพลัดตก หกล้มในระดับ E-I ให้เท่ากับ 0 โจทย์สำคัญของงานนี้คือ จะวางแผนอย่างไรดี เพราะที่ผ่านมาก็อบรมมามากมาย เรียกได้ว่า “อบจนเหี่ยว” มีเสียงบ่นว่า “คนก็น้อย ต้องไปฟังการอบรมอีก” โครงการนี้ ผู้ทำจึงได้ตั้งปณิธานว่า“ต้องทำให้ดีที่สุด”เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายและคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปกับการเข้าร่วมประชุม

เรื่องเล่า  แต่เดิมผู้นำโครงการมักพูดแบบไม่ต้องคิดว่า “ไม่ชอบ KM” โดยที่ยังไม่ได้เรียนรู้อย่างจริงจัง ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม KM 1-2 ครั้งก็เกิดประกายความคิดว่า “จะใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ได้จากโครงการนี้มาใช้กับโครงการการพลัดตก หกล้ม ของเราได้หรือไม่” ซึ่งแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก เพื่อป้องกันการพลัดตก หกล้ม จัดเป็น Hard KM นอกจากนี้ผู้ทำโครงการยังมีความกังวลเกี่ยวกับคำศัพท์ต่างๆ จึงเกิดความไม่แน่ใจในการกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จัดเป็น Soft KM ว่าจะสามารถนำมาใช้ในโครงการการพลัดตก หกล้ม นี้ได้หรือไม่ จึงตัดสินใจร่างกิจกรรมที่วางแผนไว้ และขอคำปรึกษาจากคุณคนึงนิจก่อนที่จะเริ่มโครงการ นอกจากจะได้รับคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์มากมายแล้ว ยังได้รับความมั่นใจว่าเรามาถูกทางและสามารถทำได้ จึงขอขอบพระคุณคุณคนึงนิจไว้ ณ ที่นี้ด้วย  กระบวนการจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2554-กรกฎาคม 2555 รวมพบกัน 8ครั้ง

สิ่งที่ได้เรียนรู้  แนวคิดที่สอดแทรกและดำเนินไปพร้อมกิจกรรม ได้แก่ การเสริมพลังให้ทีมและผู้ร่วมงานร่วมมือกันอย่างจริงจังและมีความสำคัญในความสำเร็จบนพื้นฐานว่า“ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติการณ์ Fall” การให้เกียรติซึ่งและกัน มีกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ไม่ตัดสินใครผิดถูก เปิดใจรายงานอุบัติการณ์เพื่อแก้ไขปัญหา แสดงความจริงใจในการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีและลดการใช้กลไกป้องกันตนเอง แสดงออกที่อยากให้ทีมมี Positive Thinking และในการพบปะกันแต่ละครั้งต้องมีประเด็นที่สรุปร่วมกันและนำไปสู่พื้นที่ฝึกปฏิบัติ และนำมาแลกเปลี่ยนกันในแต่ละครั้ง เมื่อพบกันได้ 3-4 ครั้ง ก็พบว่า ทีมได้นำความรู้ที่ทบทวนกัน พร้อมสื่อในการให้ความรู้ไปสู่ผู้ปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆ มีการใช้กลยุทธ์เพื่อให้ความรู้สู่การปฏิบัติ มีการสร้างนวตกรรม คู่มือในหอผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และมีการทำ RCA ร่วมกับทีมในหอผู้ป่วยที่มีอุบัติการณ์และนำมาแลกเปลี่ยนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นที่น่าตื่นเต้นคือ สามารถลดอุบิตการณ์ในระดับ E-I ได้ หลังจากพบกันได้ 3 เดือน และลดจำนวนอุบัติการณ์ในระดับ D-I ได้เป็นลำดับ ที่สำคัญที่สุดทีมแสดงออกถึงความยินดีที่ได้ทำงานร่วมกันและอยากทำงานร่วมกันอีก

——————————————————————————————————————————————————

บุปผา จันทรจรัส และคณะอนุกรรมการโครงการการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลเพื่อป้องกันการพลัดตก หกล้ม: แนวปฏิบัติฯ สู่งานประจำ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

โครงการนี้ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในกิจกรรม Show&Share 2012 Knowledge Management Facuty of Pharmacy Chiang Mai University ในวันที่ 24 สิงหาคม 2555 และได้รับรางวัลชนะเลิศ “ The Best Practice”