ไปทำวิจัยในภูฏาน (4)

วันที่ 11 ส.ค. ตื่นแต่เช้าเช่นเคยเพราะเตรียมตัวออกเดินทางต่อไป เมือง Phuentsholing (เขต Chhukha) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนติดกับแคว้น West Bengal ของอินเดีย วันนี้ต้นขาเริ่มปวดระบบทั้งสองข้างเดินลงบันไดลำบาก นิ้วหัวแม่เท้ามีเล็บขบอักเสบยังไม่หาย คนดูแลที่พักซึ่งเป็นผู้ชายคล้ายแขกเกิดใจดีอะไรไม่ทราบไม่คิดตังค่าที่พัก คิดแค่ค่าอาหารที่ทำให้กินวันก่อนสองร้อยกว่าแค่นั้น มารู้ทีหลังว่ากินเหล้าถูกคอกับคนขับรถและกลายเป็นเสี่ยวกัน  อย่างนี้ก็มีแฮะ

เช้าวันนั้นเราถูกเชิญจากเจ้าหน้าที่อนามัยให้ไปทานอาหารเช้าที่บ้าน แม้จะเป็นบ้านหลังเล็กๆ ทำด้วยวัสดุหลากหลายแบบสมถะ แต่ช่างมีน้ำใจกันจริงๆ ของที่ขาดไม่ได้คือ ชาใส่นม รสชาติออกจะมีขิงปนนิดๆ ไปที่ไหนจะเป็นรสนี้ประจำ อาหารเด็ดวันนั้นเป็นกระเพาะวัวผัดแปลกๆ  ทีแรกคิดว่าจะเหนียวเหมือนบ้านเรา แต่ว่าอร่อยและนุ่ม เสียดายที่มารยาทดีไปหน่อยตักมานิดเดียว อีกอย่างคือปลาทอด เป็นปลาที่พบในลำธารแถวนั้น ก้างเยอะกินไม่ถนัดเลย ไปบ้านไหนก็จะมีแต่ปลาแบบนี้ และสุดท้ายพริกต้มกับเนย อาหารประจำชาติ ทานเสร็จก็ออกเดินทาง ไต่ไปตามภูเขาที่สูงคดเคี้ยวและแคบเหมือนเดิม ประมาณสองชั่วโมงจึงลงเขาสู่ Phuentsholing เมืองที่ราบ ดูมันช่างวุ่นวาย มีแต่แขกเต็มไปหมดเพราะเป็นชายแดนติดกับแขก กั้นกันแค่คลอง รถก็เยอะ ถนนก็มีแต่ฝุ่น และร้อนสาหัส เพิ่งเข้าใจแล้วล่ะว่าทำไมคนบนดอยถึงไม่อยากอยู่ที่ราบ หากใครคิดจะย้ายแม้วลงมาในเมืองเลิกคิดได้เลย พอไปถึงก็ต้องตรงไปพบเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาล คุยกันพักใหญ่ก็ไปหาโรงแรม ได้มาที่หนึ่ง 800 nu/คืน  แต่พวกไปตั้งเต๊นท์นอนนอกเมืองเพราะไม่อยากเสียค่าโรงแรม ตอนค่ำก็ขับรถข้ามด่านไปเดินเล่นเมืองแขก เห็นมีแต่ร้านขายเสื้อผ้าและของใช้ส่วนใหญ่ ถนนหนทางก็มีแต่การก่อสร้าง ที่ไม่เคยเสร็จสักที มีเสียงแตรรถดังลั่นหนวกหูตลอด ไม่รู้จะบีบกันไปถึงไหน ในโลกนี้คงมีแต่เมืองที่มีแขกอยู่เยอะๆที่ชอบบีบแตร แม้แต่จักรยานและมอเตอร์ไซด์ เหมือนที่เคยเจอที่รัฐปันจาบหลายปีก่อน พวกต้องให้เราเดินตรงกลางเหมือนไข่ในหินกลัวแขกจะมาทำอะไร เพราะมันมักจะมีการล้วงกระเป๋าหรือกรรโชกทรัพย์ ไว้ใจไม่ได้เลย และมันก็ืมืดๆทั้งคนทั้งถนนน่ากลัวจริงๆ ไม่น่าสนใจเลย ไปเดินดูได้ไม่นานก็กลับดีกว่า เข้ามาในเขตภูฏานก็ไม่มีอะไรให้ดูเหมือนกัน ของก็มาจากแขกส่วนใหญ่ มีของจากเมืองไทยให้เห็นบ้างเหมือนกัน ถนนหนทางในเมืองนี้ก็แย่พอๆ กับฝั่งอินเดีย มีแต่หลุมบ่อ ไม่ค่อยสะอาด ไม่น่าอยู่เลยขอบอก

วิวเมือง Phuentsholing

ถนนในตัวเมือง Phuentsholing

ฝั่งเมืองแขก

สถานที่สวดมนต์กลางเมือง (ตอนนี้ผิวดำขึ้นเยอะ)

วันที่ 12 ส.ค. ย้ายโรงแรมไปที่ใหม่เพราะที่เก่าไม่ได้เรื่อง ตอนสายออกไปสำรวจยุงลาย ยิ่งทำให้เห็นบ้านเมืองเขา และชีวิตความเป็นอยู่ได้ทุกซอกทุกมุม รับรองว่าพวกที่มาทัวร์ภูฏานไม่มีทางได้เห็นสภาพอย่างที่เราเห็น คนภูฏานมีหน้าตาหลายแบบเพราะมีหลายเผ่า เหมือนคนไทย ญี่ปุ่น ธิเบต จีน แม้ว และแขก  ประชากร 90% (มีทั้งหมดประมาณ 7 แสน) กระจายอยู่กันตามภูเขาสูงห่างไกล ใครที่ชอบเมารถไม่ต้องมาเลยขอบอก เพราะจะรู้สึกอยากกลับตั้งแต่ออกสนามบิน ภูฏานเป็นประเทศที่ต่อต้านการสูบบุหรี่ ไม่ให้มีร้านขายบุหรี่ แต่ก็มีการแอบขายกันหลังร้าน ใครจะสูบก็ไม่ว่าแต่ห้ามสูบในอาคาร (ตอนนี้ห้ามสูบในประเทศเด็ดขาด) นอกจากนี้ยังต่อต้านการใช้ถุงพลาสติก จะไม่ค่อยเห็นถุงหิ้วแบบบ้านเรา ซื้ออะไรก็ใส่ถุงกระดาษ ไปตลาดก็เอาตะกร้าไป สองอย่างนี้ก้าวหน้ากว่าบ้านเรา

วันที่ 13 ส.ค. ตอนเช้าไปสอนให้เจ้าหน้าที่ที่นี่รู้จักแยกชนิดลูกน้ำและตัวยุงลายบ้านและยุงลายสวน น่าแปลกที่โรคไข้เลือดออกระบาดมาตั้งแต่ปี 2003 จนบัดนี้ยังไม่รู้จักหน้าตายุง พูดไม่ออกจริงๆ ส่วนคนที่เขาเรียกว่า Entomologist ของที่นี่ก็มีเพียงคนเดียวไม่ได้มาด้วย แต่เท่าที่ดูไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนัก แถมยังไม่สอนให้ลูกน้องรู้และยังติดเหล้าเสียอีก ให้มันได้อย่างงี้สิ สงสัยเราคงต้องถูกเชิญมาอีก (เสียวๆ อยู่) ถามหากล้องดูยุงว่ามีป่าว ปรากฏว่ามีเหมือนกัน รีบเอามาให้ดู ดูมันเก่ายังไงชอบกล และก็เสียใช้ไม่ได้จริงๆ ไม่ได้ถามว่าใช้กันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ วันนั้นเลยเปิด course ย่อยๆ ทำหน้าที่อาจารย์สอนการทำสไลด์และวิธีดูยุง  ดีที่เราขนอุปกรณ์ทุกอย่างไปจากเมืองไทย รวมทั้งกล้องดูแมลงตัวจิ๋วที่ได้มาจากนางาซิกิตอนไปอยู่เมื่อปี 1989

ตอนบ่ายไปสำรวจลูกน้ำ และดูเขาพ่นหมอกควันฆ่ายุงลาย เป็นที่สนใจต่อเด็ก ๆ ที่นี่มาก วิ่งเข้าไปในกลุ่มควันเหมือนเป็นของเล่น ห้ามก็ไม่ฟัง ส่วนเราก็หนีควันเพราะเหม็นและหายใจไม่ออก

วันที่ 14 ส.ค. ตอนเช้าไปพบนายกเทศมนตรี แนะนำวิธีควบคุมโรคไข้เลือดออก แล้วไปสำรวจยุงในเมืองต่อ ตอนเย็นไปจับยุงในป่า เจอกระท่อมหลังหนึ่ง เลยขอเขานั่งจับยุง ที่นั่นมีคนรับจ้างเฝ้าสวนส้มนอนอยู่กับวัวมายี่สิบปี เพิ่งป่วยเป็นมาลาเรียเมื่อเดือนก่อน ไม่มีครอบครัว ชีวิตมันช่างเรียบง่ายจริงๆ ไม่ต้องเสียค่าน้ำค่าไฟ เพราะน้ำต่อท่อมาจากลำธาร ไฟก็ก่อเอาจากฟืน ก่อนมืดไม่รู้จะทำอะไรเลยแหย่ทากเล่นอย่างที่เห็นในรูป ตัวนี้ถือว่าใหญ่แล้วเมื่อเทียบกับเมืองไทย พอเดินออกมาอีกหน่อยเจอใหญ่เท่านิ้วก้อย สีมันยังกับปลิงควายดีๆ นี่เอง  เขาบอกว่าบางแห่งตัวโตเท่านิ้วชี้ยาวเป็นคืบ ที่นี่เรียกว่า ทากช้าง ไม่รู้่ว่าโม้ป่าว เคยมีกะเหรี่ยงบอกว่าถ้าทากกินเลือดม้าแล้วมันจะตายเพราะเลือดมันร้อน แต่คนที่นี่บอกว่าไม่เห็นมันตายสงสัยโดนกะเหรี่ยงหลอกมานาน คนที่นี่เขาเล่าว่าเอาทากมาดูดเลือดวัวให้เต็มอิ่ม ตากแห้งแล้วเอาไปทอด อร่อยมาก ฟังแล้วน่ากินเนอะ คืนนั้นฝนไม่ค่อยเป็นใจ ตกตลอด เลยไม่ได้ยุง

 

ทำหน้าที่อาจารย์

กระท่อมคนหรือกระท่อมวัวก็ไม่แน่ใจ

ว่างๆ ก็เล่นกับทาก

วันที่ 15 ส.ค. พักผ่อนอยู่ในห้องแทบทั้งวัน แต่มียุงต้องดูแลและทดสอบยาฆ่าแมลงเต็มไปหมด ห้องนอนกลายเป็นห้องเลี้ยงยุงไปแล้ว พวกมากระซิบว่าเมืองนี้มักมีผู้หญิงอินเดีย โดยเฉพาะจากแคว้นสิขิม มาหาลำไพ่พิเศษช่วงปิดเทอม เออ มาบอกเราทำไม

วันที่ 16 ส.ค. ออกเดินทางตอนเช้าไปเมือง Samtse ซึ่งอยู่ทางตะวันตกสุดของภูฏาน เป็นเมืองชายแดนเหมือนกัน การจะไปต้องผ่านเข้าทางอินเดีย รถของภูฏานสามารถไปได้ทั่วอินเดียและไม่ต้องตรวจหนังสือเดินทาง เราก็คอยดูอยู่่ว่าจะให้ปั๊มพาสปอร์ตที่ไหน เห็นป้ายเหมือนกันแว๊บๆ บอกให้คนต่างด้าวไปแสดงหนังสือเดินทาง แต่ห้องทำงานเล็กๆดูโทรมๆ ไม่น่าเข้า และไม่เห็นกวดขันอะไร จึงผ่านเลยตามเลย ฝนซึ่งตกมาตั้งแต่ตอนกลางคืนทำให้การเริ่มออกเดินทางลำบากขึ้น แต่ก็รู้สึกตื่นเต้นนิดๆ ที่ได้นั่งรถชมบ้านนอกของอินเดีย แถบนี้เป็นที่ราบ สองข้างทางมีสวนชาเต็มไปหมด ถนนก็มีหลุมมีบ่อตลอด เราว่าความตื่นเต้นมันคงมาจากสิ่งแปลกหูแปลกตามากกว่าความสวยงามของบ้านเมือง ตอนไปบ้านนอกที่ลาวก็ทีหนึ่งละ หากไปยุโรปหรือญี่ปุ่นก็อีกแบบอีกอารมณ์ เขาบอกว่าเขตนี้แต่ก่อนเป็นของภูฏานแต่อังกฤษมาแบ่งเอาไปเป็นของอินเดีย และเหลือแต่ภูเขาส่วนใหญ่ให้ชาวภูฏานอยู่  ผ่านไปชั่วโมงแวะกินข้าวเช้าที่ร้านข้างทาง เขาทำแป้งสาลีเป็นแผ่น เรียกว่า จาปันตี (คล้ายโรตี) เลยเข้าไปแวะดู มื้อนั้นได้เอามากินกับแกงกะหรี่ไก่และปลาทอด พวกบอกว่าร้านนี้ทำสะอาดกว่าที่ือื่นแต่อย่าดื่มน้ำฟรีในขวดที่วางไว้ให้เพราะมันไม่สะอาด ฟังแล้วเริ่มงง ต้องดื่มน้ำขวดที่ขายอย่างเดียว กินกันห้าคนกับน้ำหนึ่งขวดหมดไปเกือบสามร้อยรูปี แพงเหมือนกัน

ไร่ชาในอินเดีย

ครัวทำจาปันตี

จาปันตีกับกระทะปลาทอด (ไม่น่าสั่งปลาเลย)

พักเมือง Samtse (อยู่ห้องขวามือ) ทางเข้าเป็นตะไคร่ดูเหมือนพรม

มาถึง Samtse เกือบเที่ยง แวะโรงพยาบาลและไปพบผู้ว่า เสร็จแล้วเข้าที่พัก คืนละ 400 เป็นบ้านพักรับรองน่าอยู่เชียว พรรคพวกไปนอนอีกเรือน อัดกันสี่คน ส่วนเราครองห้องเดี่ยวใหญ่ ไม่มีแอร์ ไม่มีมุ้งลวด มีแต่พัดลม วันนั้นห้องข้างๆ มีเลขาฯ กษัตริย์จิกมี มาพักด้วย ได้คุยกันนิดหน่อยดูท่าทางเก่งพอสมควรแม้อายุยังไม่มาก รอบๆที่พักก็เงียบๆ บริเวณกว้างขวางน่าอยู่ไม่น้อย ติด ๆ กันเป็นเรือนรับรองราชวงค์ บ้านนอกเล็กๆ อย่างนี้อย่าได้อยู่โรงแรมเลยเพราะสภาพแย่มาก เมืองนี้คล้ายๆ Gelephu แต่เล็กและสงบกว่า มีอีกาเต็มไปหมด อีกาที่นี่ตัวไม่ดำสนิท คอและอกเป็นสีเทาๆ ส่งเสียงดัง ชอบมารอกินของที่เราทิ้ง

ตอนบ่ายๆ ก็ไปสำรวจยุงลาย ตอนค่ำหัวหน้าโรงพยาบาลที่นี่เชิญไปกินข้าวที่บ้าน กว่าจะได้กินก็ร่วมสามทุ่มเพราะมัวแต่กินเหล้ากันก่อน เจ้าของบ้านก็ช่างพูดจัง เหล้าเบียร์ที่ภูฏานมีขายตลอด รสชาติดี แถมยังมีเหล้าทำเองคล้ายเหล้าเถื่อนบ้านเรา แต่ที่นี่รับรองไม่ได้ใส่สารเร่งการเมา(ยาฆ่าหญ้า) เหมือนบ้านเรา

วันที่ 17 ส.ค. เมื่อคืนนอนสบายมาก อากาศกำลังดี ไม่มียุง แม้จะเปิดหน้าต่าง วันนี้ไม่ได้ออกไปไหน อยู่ทดสอบยาฆ่าแมลงกับยุงลายจาก Phuentsholing ตอนสายๆ พวกให้คนเอาเนื้อวัวมายี่สิบกิโล หั่นเป็นชิ้นยาวๆ หมักเหล้าแล้วตากผึ่งให้แห้ง เสียดายที่ไม่มีแดด จึงต้องผึ่งลมในร่ม กะเอาไว้กินกันตลอดทาง ขณะนั่งหั่นอีกาก็มารอดูเป็นฝูงใหญ่ส่งเสียงดังตลอดเวลา คนภูฏานไม่ฆ่าสัตว์ ใครเคร่งมากแม้แต่ยุงยังไม่ตบ ไม่รู้เหมือนกันว่าไปเอาเนื้อวัวมาจากไหน เขาว่าต้องแอบฆ่าตีสองตีสาม เอามาส่งตอนเช้ามืด จะหิ้วผ่านอินเดียคงถูกแขกไล่เตะเพราะแขกเป็นฮินดูไม่กินเนื้อวัว

วันที่ 18 ส.ค. ตอนสายๆ ออกเดินทางไปเมือง Sipsu เทียบแล้วน่าจะเท่ากับอำเภอของบ้านเรา ใช้เวลาชั่วโมงกว่าก็ถึง เมืองนี้อยู่ติดกับเขตอินเดียเช่นกัน มีเพียงแม่น้ำสายใหญ่กั้น บ้านเมืองก็อยู่ห่างๆ กันเงียบสงบดี เขาให้ไปพักที่โรงพยาบาล มีเตียงนอนสบายแต่ห้องอาบน้ำไม่มี จึงต้องไปอาบในห้องส้วมแทน น่าสังเวชจัง แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อาบเหมือนตอนกางเต็นท์นอนนะ ส่วนพรรคพวกนอนบ้านหลังเล็กแยกออกไป

บ่ายวันนั้นฝนตกและมีลมแรง ตอนเย็นฝนหยุดจึงออกไปจับยุง อยู่ห่างตัวเมืองนิดหน่อยเดินเข้าไปประมาณสิบกว่านาที เขาชงนมใส่เนยมาให้ดื่ม บอกว่าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ รสเลี่ยนๆ แต่ก็ฝืนดื่มจนหมด พอหมดเขาก็ยกมาให้อีกแก้วคงเห็นเราชอบ ซวยเลยตูคราวนี้ ต้องไล่แจกพรรคพวก อยู่จนสองทุ่มกว่าไม่มียุงสักตัวเพราะลมแรงจึงกลับ ชาวบ้านเดินออกมาส่งเพราะแถวนั้นมีช้างเกเรชอบออกมากินพืชชาวบ้าน เคยเหยียบชาวบ้านแถวนั้นตายมาแล้ว ชาวบ้านแถวนี้จึงมักขึงสายไฟกันช้างเข้าสวน ฟังแล้วสยอง แต่ช้างมันก็เอางวงจับกิ่งไม้ฟาดสายไฟขาดก่อนเข้ามา ดูมันสิ พอเดินพ้นเขตช้างก็ส่องไฟเดินกลับตามถนน เห็นกระต่ายป่าวิ่งไปมา เขาบอกว่าแถวนี้กระต่ายป่าเยอะ หากเป็นบ้านเราคงสูญพันธุ์ไปหมด ที่นี่ไม่เห็นใครมีปืนแก๊ปเหมือนบ้านเรา สัตว์่ป่าจึงอุดมสมบูรณ์ ถามว่าถ้าจะจับกระต่ายทำยังไง เขาบอกว่าให้ส่องไฟนิ่งๆใส่หน้ามัน แล้วให้อีกคนเดินไปข้างหลังมันเอาไม้ทุบหรือเอามือจับ ฟังดูง่ายดีเนอะ คืนนั้นกว่าจะได้กินข้าวเย็นก็ล่วงไปเกือบสี่ทุ่ม มียุงก้นปล่องมากัดถึงในห้องหลายตัวเลยนั่งจับกันแถวนั้น อุตส่าห์ไปหามันแถบตาย รู้งี้รอมันที่นี่ดีกว่า ก่อนนอนพวกถามว่าไม่กลัวผีเหรอจะให้ใครนอนเป็นเพื่อนหรือไม่ ให้มันได้อย่างงี้สิ ดันมาถามตอนนี้ คืนนั้นเลยสวดคาถาก่อนนอนหลายจบ

วันที่ 19 ส.ค. ตอนเช้าไปกินข้าวที่บ้านป้าของเจ้าหน้าที่ และไปแวะดูตลาดสดวันอาทิตย์ ดีใจที่เจอผลไม้เพราะที่ผ่านมาหาผลไม้กินยากมาก วันนั้นเลยได้มะเขือเทศ ลูกแพร ส้มเกลี้ยงและลูกทับทิมมาอย่างละโลสองโล ส่วนของอย่างอื่นก็มีผักไม่กี่อย่างและของใช้ เสื้อผ้า ตอนสายไปสำรวจลูกน้ำยุงลายในตัวเมือง มีนายอำเภอมาแจมด้วย เสร็จแล้วก็มายืนดื่มน้ำกันใต้ต้นไม้ใหญ่สองต้น เขาบอกว่าต้นทางขวามือในรูปเป็นผู้ชาย ใบคล้ายใบโพธิ์ ทางซ้ายเป็นผู้หญิงลำต้นคล้ายกันแต่ใบไม่เหมือนกัน สองต้นนี้แต่งงานกัน มีเรื่องเล่าว่าเคยมีคนเห็นผู้หญิงบนต้นไม้นี้ ฟังแล้วเหมือนบ้านเราเลย

ตอนบ่ายนายอำเภอเลี้ยงข้าวที่โรงพยาบาลหน้าห้องที่เรานอน ใครดันเปิดก๊อกห้องน้ำทิ้งไว้ไม่รู้เพราะน้ำไม่ไหลตอนเช้า กลับมาน้ำนองเต็มหน้าห้องนอนเรา กว่าจะได้กินข้าวต้องช่วยกันเอาน้ำออกเสียก่อน ทานเสร็จก็ไปเมือง Tendru ห่างไปประมาณชั่วโมงกว่า เป็นเขาอีกเช่นเดิม ระหว่างทางเจอเด็กๆ ชาวภูฏานออกมาปิกนิก นั่งกินข้าวกันใหญ่ น่ารักดี คิดถึงหลานๆ เมืองไทยจัง

ตลาดสดเมือง Sipsu

เขาด้านหลังเป็นเขตอินเดีย มีแม่น้ำกั้น

ตัวเมือง Sipsu มีแค่นี้จริงๆ

ต้นไม้ขวามือคือต้นโพธิ์ผู้ชาย ซ้ายมือเป็นโพธิ์ผู้หญิง

เด็กๆ กำลังหม่ำกัน เล่นใช้มือกันอย่างเดียว น่ารักจัง

เมือง Tendru เป็นเมืองเล็กๆ อยู่บนเขา เดินสำรวจลูกน้ำทั่วหมู่บ้าน วันนั้นกำลังมีการแข่งฟุตบอล 7 คน ระดับหมู่บ้านเชียวนา มีคนดูสักห้าร้อยคน ไม่รู้มาจากไหน เชียร์กันอย่างสนุกสนาน สนามกว้างสักครึ่งหนึ่งของสนามจริง มีแต่โคลนและเอียงลาดไปทางหนึ่ง คงจะหาที่เรียบได้แค่นี้ เสาประตูทำด้วยไม้ไผ่ แต่ก็มีตาข่ายนะขอบอก เสียดายที่กล้องเราดันติดไปกับรถที่เจ้าหน้าที่มันแอบไปกินเบียร์ที่ไหนไม่รู้ กลับมาอีกทีเขาแข่งกันเสร็จแล้ว ก่อนค่ำจึงรีบกลับเพราะฝนเริ่มตก ถนนอาจถูกดินถล่มมาปิดได้เสมอ กลัวจะแย่งลิงกินข้าว ขากลับแวะเก็บตัวหนอนริ้นดำที่น้ำตกข้างถนน คุนซังบอดี้การ์ดแรงดี เสียงดี เพราะแกชอบพูดและร้องเพลง อาสาไปเอาแต่กลัวเสื้อผ้าเปียกเลยต้องแก้ผ้าไปเอาอย่างที่เห็นในรูป

คุนซัง บอดี้การ์ด กับน้ำตกข้างทาง(ดูแล้วเหมือนใครที่ทำงานบางคนแฮะ)

วันที่ 20 ส.ค. กินข้าวเช้าเสร็จก็เดินทางกลับไป Samtse ระหว่างทางแวะไปสอบสวนโรคไข้เลือดออกที่หมู่บ้าน Ghathia ก่อนถึง Samtse มีร้านทำขนมไข่ใส่องุ่นแห้งแบบโบราณทำมาสามสิบกว่าปี ใช้เตาอบดิน เผาด้วยฟืน คนทำเป็นแขก อร่อยมากชิ้นเล็กเท่าถ้วยข้าวต้ม ชิ้นละ 15 nu แล้วมาพักที่พักเดิม คืนนี้พักผ่อน

วันที่ 21 ส.ค. เดินทางไปเมือง Gomtu เป็นเมืองชายแดนเหมือนกัน ใช้เส้นทางผ่านเมืองแขก นั่งรถชั่วโมงกว่า ที่นี่มีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของภูฏาน เขาติดต่อได้ห้องพัก VIP ของบริษัท อยู่ฟรี แอร์เย็นฉ่ำ แถมเลี้ยงข้าวสามมื้ออีกต่างหาก สบายจริงๆ อยู่ที่นี่สองคืน

ที่ห้องโถงพบภาพเขียนผนังใหญ่ๆ พบได้ทั่วไปในภูฏานแต่เล็กกว่า เลยเอามาให้ดู

ภาพนี้มีความหมายว่า “สันติสุข” ในภาพมีนก กระต่าย ลิง ช้าง ป่า ผลไม้ แสดงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก อาหารสมบูรณ์

วันที่ 23 ส.ค. ไปไหว้พระบนเขาแต่เช้า อากาศมัวๆ เพราะฝนตก ในวัดมีพระพุทธรูป อยู่ตรงกลาง ทางภูฏานเขานับถือพุทธศาสนาวัชรยานและเชื่อว่าพระพุทธเจ้าแบ่งพระภาคมาเกิดเป็นกูรูอีกองค์ทีหลัง (ขวามือของพระพุทธรูป) ส่วนซ้ายมือเป็นนักบวชผู้รวบรวมดินแดนภูฏาน ราว 4 ร้อยปีก่อน ดังนั้นวัดส่วนใหญ่ของที่นี่มักจะมีสามองค์นี้เสมอ

ไหว้พระเสร็จก็ออกเดินทางย้อนกลับมานอนที่ Phuentsholing พรุ่งนี้จะไปเมือง Samdrupjongkhar ทางตะวันออกสุดเดินทางหลายชั่วโมง ส่วนจะเป็นยังไงต่อ โปรดคอยติดตามครับ…………

วัดบนเขาที่ Gomtu

นั่งนับวันผ่านไปได้เกือบเดือนแล้ว ไวเหมืือนกันแฮะ จำไม่ค่อยได้ว่าไปไหนมามั่งเพราะไม่ค่อยได้พักเลย เดินทางตลอด มีอะไรให้ทำแต่ละวันจึงทำให้เวลาผ่านไปเร็ว คนภูฏานก็ใจดีนะ ไม่ค่อยมีเรื่องมีราวกับใคร ขับรถด้านซ้ายเหมือนเราและก็ค่อยทีค่อยอาศัยเพราะถนนแคบ สวนกันทีต้องหลบให้กัน จะแซงกันก็ต้องบีบแตรแล้วจะจอดให้แซง ทำให้คนที่นี้ขับรถแบบไม่ต้องใจร้อน เพราะขืนใจร้อนก็คงตกเขาแน่ ทำให้นึกถึงบ้านเราจัง มีถนนกว้างแต่ใจคนขับรถแคบ แต่ที่แปลกคือเวลาจอดรถข้างถนนเขาจะเปิดไฟกระพริบด้านขาว ของเรากระพริบด้านซ้าย เวลาถอยก็เคาะตัวถังดังๆ เป็นบ้านเราจะเป็นสัญญาณบอกให้หยุด งงเหมือนกัน ป่าเขาที่นี่ก็ยังสมบูรณ์ดีอยู่ สัตว์ป่าก็เยอะ เขาสูงบางแห่งมีต้นเมเปิ้ลแบบญี่ปุ่นด้วย ฤดูใบไม้ร่วงจะแดงเต็มเขา ยังมาชวนเราให้มาดูอีก(ยังกะมาง่ายนัก) ……………….