หมอนสำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระดับสูงที่ดึงถ่วงน้ำหนักกะโหลกศีรษะต้องนอนแอ่นคอ

 

ชื่อเจ้าของนวัตกรรม นางจุไรรัตน์   วรรณสมพร
ชื่อหน่วยงาน/สังกัด  หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หญิง 2 งานการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์
ที่ปรึกษาโครงการ       นางสาวอารยา   สุขประเสริฐ

ที่มาของการทำนวัตกรรม

เนื่องด้วยหอผู้ป่วยหนักออร์โธปิดิกส์หญิง 2   รับผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังทุกระดับ ในปี พ.ศ. 2547 หอผู้ป่วยรับผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระดับคอจำนวน   57 ราย โดยระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ   เช่น ระยะเวลาการได้รับบาดเจ็บจนถึงได้รับการรักษา ตำแหน่งกระดูกสันหลังและไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บ กลไกและความรุนแรงของการบาดเจ็บกระดูกสันหลังและไขสันหลังระดับคอท่าที่พบ ได้แก่ ท่างอคอ ( Neck Flexion )   ทำให้มีการฉีกขาดของเอ็นด้านหลังของกระดูกสันหลัง (posterior ligamentous ) ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนมาทางด้านหน้าอย่างรุนแรงและท่าแอ่นคอ ( Neck extension ) ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังและเอ็นด้านหน้าของกระดูกสันหลัง ( anterior longitudinal ligament   )   ฉีกขาด       แนวทางการรักษาที่ได้รับได้แก่   การผ่าตัด / การดึงถ่วงน้ำหนัก   ในผู้ป่วยบางรายที่มีการบาดเจ็บในท่างอคอ หลังจากแพทย์ได้ทำการจัดกระดูกให้เข้าที่แล้วจะได้รับการรักษาแบบประคับประคองด้วยการดึงถ่วงน้ำหนักกะโหลกศีรษะร่วมกับการจัดท่านอนแอ่นคอเพื่อดำรงแนวกระดูกสันหลัง แล้ว X-Ray ก่อนและหลังนอนท่าแอ่นคอดูว่าอยู่ในตำแหน่งดีหรือไม่   เดิมทางหอผู้ป่วยได้จัดท่าการนอนแอ่นคอโดยการใช้ผ้าปูที่นอนม้วนขนาดตามความโค้งของคอ และใช้ผ้าปูที่นอนอีกผืนรองไหล่ทำให้เกิดความไม่สุขสบายเนื่องจากผ้าปูแข็ง มีการเลื่อนหลุดจากตำแหน่งที่จัดไว้ นอกจากนี้ในการจัดท่านอนตะแคงทำให้แนวของกระดูกสันหลังไม่อยู่ในท่าแอ่นคอได้ตามแผนการรักษา   ทางผู้จัดทำได้เล็งเห็นปัญหาในประเด็นนี้ จึงได้คิดและทดลองประดิษฐ์หมอนสำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระดับสูงที่ดึงถ่วงน้ำหนักกะโหลกศีรษะ และต้องนอนแอ่นคอขึ้น

หลักการและแนวคิด

การประดิษฐ์หมอนยึดแนวคิดของกลไกการเคลื่อนไหว ( dynamic body mechanism ) ของกระดูกสันหลังระดับคอตามหลักกายวิภาคและสรีระวิทยาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับคอในภาวะปกติสามารถเกิดขึ้นได้หลายทิศทาง ได้แก่ ท่างอ   สามารถเคลื่อนไหวได้มุม 0 – 40 องศา, ท่าแอ่น สามารถเคลื่อนไหวได้ 0 – 60   องศา , ท่าเอียงข้าง เกิดจากการเคลื่อนไหวของกระดูกไขสันหลังระดับคอที่ 2 -7 ( C2- C7 Vertebral ) ได้ 0-40 องศาทั้งสองข้าง, ท่าหมุนรอบศีรษะ( rotation ) ได้ 50 องศาทั้ง และท่าหมุนรอบวงกลม ( circumduction) (ก่อกู้ เชียงทองและ ปรีชา ชลิดาพงศ์ ,2536 ) เมื่อเกิดอุบัติเหตุ กระดูกสันหลังได้รับแรงกระแทกอย่างแรง ทำให้เกิดหัก เคลื่อน หรือยุบได้ กลไกการบาดเจ็บ ( mechanism of injury ) ของกระดูกสันหลังระดับคอมีหลายลักษณะขึ้นอยู่กับแรงที่มากระทำ เช่น การบาดเจ็บกระดูกสันหลังในท่างอ (Forward Flexion injury) เกิดจากอุบัติเหตุที่มีแรงเร่ง – เฉื่อย ( Acceleration – deceleration force ) มากระแทกผลักให้ศีรษะแอ่นอย่างแรง แล้วเหวี่ยงศีรษะกลับไปด้านหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นด้านหลังของกระดูกสันหลัง และกระดูกสันหลังเคลื่อนมาทางด้านหน้าอย่างรุนแรง     ,Force Extension : Hyperextension พบในอุบัติเหตุที่ทำให้ หน้าหรือคางกระแทกกับวัตถุ ทำให้คอแอ่นอย่างรุนแรง หมอนรองกระดูกสันหลังและเอ็นด้านหน้าของกระดูกสันหลังฉีกขาด
แนวทางการรักษาของแพทย์หลังจากการจัดกระดูกที่มีการหักหรือเคลื่อนให้เข้าที่แล้ว ในบางรายจะได้รับการรักษาแบบประคับประคองด้วยการดึงถ่วงน้ำหนักกะโหลกศีรษะไว้ ร่วมกับการจัดท่านอนแอ่นคอตามแนว body alignment กระดูกสันหลังระดับคอในภาวะปกติ คือ 50-60 องศา เพื่อดำรงแนวกระดูกสันหลังให้อยู่ในตำแหน่งที่แพทย์ได้จัดเข้าที่แล้ว เป็นเวลา 6 สัปดาห์ แล้วติดตามผลการ X-Ray ว่ากระดูกอยู่ในตำแหน่งดีหรือไม่  เดิมทางหอผู้ป่วยหนักออร์โธปิดิกส์หญิง 2 ได้ประยุกต์ใช้ผ้าปูที่นอนรองไหล่   1 ผืนให้คออยู่ในท่าแอ่น และใช้ผ้าปูที่นอนอีก 1 ผืนม้วนรองใต้ต้นคอ พบว่าวิธีดังกล่าว ในขณะผู้ป่วยนอนหงาย ผ้าปูมักจะเลื่อนออกจากตำแหน่งที่จัดและในท่านอนตะแคงผ้าปูที่นอนที่ม้วนรองไว้ ไม่สามารถโค้งงอตามท่านอน ตำแหน่งคอและศีรษะจึงเลื่อนหลุดออกจากที่จัดแอ่นคอไว้ ทำให้ไม่เป็นไปตามแผนการรักษา และอาจทำให้กระดูกสันหลังไม่ติดได้       นอกจากนี้การนอนบนผ้าปูที่นอนมีลักษณะแข็ง ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดความไม่สุขสบาย ปวดบริเวณศีรษะและลำคอ เนื่องจากบริเวณนี้จะมีเส้นใยประสาท trigeminal ที่รับความรู้สึกต่างๆสู่สมอง   มี 3 ตำแหน่ง ( ดังรูป )ได้แก่
1.descending fifth tract ( large solid straight arrow ) ที่ผ่านเข้าไปในไขสันหลังระดับคอส่วนบน
2. occipital nerve ( curved solid arrow ) ประกอบด้วยใยประสาทบริเวณคอส่วนบน กะโหลกศีรษะ และ
intracranial dura ผ่านเข้าไปยังไขสันหลังระดับคอส่วนบน เพื่อรวมกับเส้นใยประสาท trigeminal
3. แนวกระดูกและเอ็นตามแกนกลางของร่างกาย ( small solid straight arrow )

แคลลิเอท ( Cailliet , 1991) รายงานว่าการใส่เครื่องดึ่งถ่วงน้ำหนักกะโหลกศีรษะสามารถที่ทำให้แนวกระดูกสันหลังระดับอยู่ในตำแหน่งที่ส่งเสริมการติดของกระดูกที่หักและไม่เกิดอันตรายต่อไขสันหลังในขณะเปลี่ยนท่าทาง ร่วมกับเพิ่มความสุขสบายให้ผู้ป่วยด้วยโดยอาศัยหมอนหนุนลำคอแอ่น cervical pillow

         รูปแสดงหมอนหนุนลำคอที่มีส่วนโค้งแนบตามความโค้งของลำคอ ( cervical lordosis ) ทำให้ลำคอยืดแอ่นทำมุม 50 องศา ด้านข้างของหมอนเอียงลาดทั้งสองข้างกันศีรษะเอียงไปด้านข้าง ( lateral flexion) และหมุนลงด้านข้าง ( rotation )
การประดิษฐ์หมอนหนุนลำคอแอ่น ( cervical pillow ) อาศัยการคำนึงถึงหลักการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังในภาวะปกติดังกล่าว   โดยมีส่วนประกอบได้แก่   ฐานกว้าง 25 x 30 เซนติเมตร สูง     2.5 เซนติเมตร , ส่วนแอ่นคอมีฐานล่างกว้าง 10 เซนติเมตร ทำมุม 50 องศา สูงขึ้นไป 5.5 เซนติเมตร มีความกว้างด้านบน 7 เซนติเมตร , ด้านข้างที่ป้องกันป้องกันการเอียงข้างและหมุนไปด้านข้างกว้าง 5 เซนติเมตร สูง 3.5 เซนติเมตร

วัตถุประสงค์ในการประดิษฐ์

                1. เพื่อให้กระดูกสันหลังระดับคอที่หักติดตามกายวิภาคปกติของผู้ป่วยในระยะเวลาที่กำหนด

               2. เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายขณะรับการรักษาด้วยการจัดท่านอนและดึงถ่วงน้ำหนัก

วันที่เริ่มต้นทำนวัตกรรม   1 สิงหาคม 2547

ระยะเวลาดำเนินการ         1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2547

ขั้นตอนในการดำเนินงาน

  1. รวบรวมปัญหาที่เกิดจากภาวะไม่สุขสบายจากการจัดท่าขณะดึงถ่วงน้ำหนักและการรักษา
  2. ค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยกระดูกสันหลังหักระดับคอที่ไม่ผ่าตัด
  3. ประดิษฐ์อุปกรณ์ดังกล่าวโดยเริ่มจากการวัดขนาดของความสูงและความโค้งของลำคอบุคคลขนาดมาตรฐานปกติทั่วไป และนำมา เปรียบเทียบกับ ผ้าที่ใช้รองที่ใช้อยู่เดิม แล้วนำมาออกแบบตามที่ต้องการ จากนั้นทำการประดิษฐ์อุปกรณ์ตามแบบที่กำหนด
  4. ทดลองและศึกษาผลการใช้
  5. ปรับรูปแบบให้เหมาะสม และสรุปประเมินผลการใช้

งบประมาณ

1. ค่าฟองน้ำ   30 บาท / ชิ้น         2. ค่าหุ้มหนัง 120 บาท / ชิ้น

ประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายจากการผ่าตัด ระยะยาวผู้ป่วยไม่มีการจำกัดการก้มเงย

ประเมินผลลัพธ์

  1. ผู้ป่วย 4 รายมีกระดูกติดในตำแหน่งที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาคและสรีรวิทยา ภายใน 6 สัปดาห์ ,ไม่มี neurological worsening
  2. ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการรักษา 100%

การขยายผลของนวัตกรรม

              มีการขยายผลไปใช้ในโรงพยาบาลอื่น ๆ
สรุปผลการดำเนินการ

1. ปัญหาและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน   ไม่มี

2. กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดปัญหาจากการทำงานแล้วนำมาหาแนวทางแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดการพัฒนางานขึ้น

3. แผนการที่จะพัฒนาต่อเนื่องต่อไป    ปรับรูปทรงนวัตกรรมให้สวยงาม น่าใช้ และเหมาะสมกับผู้ป่วยยิ่งขึ้น