การส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีนกับการหายของแผลกดทับในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลัน

Promoting Nutritional Status by Increasing Protein Intake and Pressure Ulcer Healing in AcuteSpinal Cord Injured Patient

พว.กัลยา ชื่นใจ หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หญิง 2 งานการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์
ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

บทคัดย่อ

ความเป็นมา : แผลกดทับเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่พบในผู้ป่วยอัมพาตไขสันหลัง ถึงแม้ว่าการป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก็ตาม แต่ในผู้ป่วยที่มีปัญหาภาวะโภชนาการ การป้องกันแผลกดทับอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้แผลกดทับหายในระยะเวลาอันสั้นได้ การส่งเสริมภาวะโภชนาการของผู้ป่วยที่เกิดแผลกดทับจึงเป็นบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งที่พยาบาลและทีมสหสาขาวิชาชีพต้องตระหนักและลงมือกระทำ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการดูแลที่ดีแก่ผู้ป่วย

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของการจัดการภาวะโภชนาการโดยการส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับได้รับโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ ต่อระยะเวลาการหายของแผลกดทับ

รูปแบบการศึกษา : การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (operational research)

สถานที่ศึกษา : หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หญิง 2 โรงพยาบาลพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตั้งแต่ เดือนกันยายน 2552 ถึงเดือน สิงหาคม 2554

วิธีการศึกษ : กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันและมีแผลกดทับ ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หญิง 2 ในระหว่างเดือนกันยายน 2552 ถึงเดือน สิงหาคม 2554 โดยแบ่งเป็นกลุ่มก่อนมีการส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีนและกลุ่มหลังมีการส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีน โดยกลุ่มก่อนมีการส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีนได้รับการดูแลตามปกติ ส่วนกลุ่มหลังมีการส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีนจะมีการคำนวณความต้องการโปรตีนในผู้ป่วยที่มีแผลกดทับแต่ละราย และส่งเสริมให้ได้รับโปรตีนในปริมาณครบถ้วนตามที่ได้คำนวณไว้ ส่วนการดูแลแผลกดทับของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับการดูแลโดยใช้แนวปฏิบัติในการป้องกันและดูแลแผลกดทับที่พัฒนาขึ้นโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ติดตามระยะเวลาการหายของแผลกดทับโดยการถ่ายรูปและการบันทึกในแบบบันทึกและติดตามความก้าวหน้าแผลกดทับ

ผลการศึกษา : ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลัน ทั้งหมด 20 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด อายุระหว่าง 48 – 75 ปี มีแผลกดทับระดับ 2 บริเวณ ก้นกบ ก้นย้อย หลัง และส้นเท้า ตามลำดับ คะแนน Braden score อยู่ระหว่าง 9 ถึง 11 คะแนน คะแนน PUSH tool แรกรับตั้งแต่ 7 ถึง 16 คะแนน จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มก่อนมีการส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีน จำนวน 11 ราย มีระยะเวลาการหายของแผลกดทับระหว่างเฉลี่ย 18 วัน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มหลังมีการส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีน จำนวน 9 ราย มีระยะเวลาการหายของแผลกดทับเฉลี่ย 8 วัน

สรุปและข้อเสนอแนะ : การส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายขณะเกิดแผลกดทับ ส่งผลดีต่อการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันที่มีแผลกดทับ โดยสามารถลดระยะเวลาในการหายของแผลกดทับได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการส่งเสริมภาวะโภชนาการโดยการเพิ่มโปรตีนให้แก่ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับจึงเป็นสิ่งจำเป็น

คำสำคัญ : ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลัน แผลกดทับ โภชนาการ