การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการจัดการด้านโภชนาการในผู้ป่วยบาดเจ็บ ไขสันหลังระยะเฉียบพลัน โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่

Development of Clinical Practice Guidelines for Nutritional Management in Patients with Acute Spinal Cord Injury, Maharaj Nakorn Chiang Mai Hospital

พว.กัลยา   ชื่นใจ พย.ม.*     Kanlaya   Chunjai M.N.S.*

อัจฉรา   สุคนธสรรพ์ Ph.D.** Achara Sukonthasarn Ph.D.**

สุภารัตน์   วังศรีคูณ Ph.D.*** Suparat Wangsrikhun Ph.D.***

บทคัดย่อ

          ภาวะทุโภชนาการเป็นปัญหาทางคลินิกที่พบบ่อยในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลัน การจัดการด้านโภชนาการที่ไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการรักษา การศึกษาเชิงพัฒนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการจัดการด้านโภชนาการในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลัน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยใช้กรอบแนวคิดในการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติประเทศออสเตรเลีย (National Health and Medical Research Council [NHMRC], 1999) ขั้นตอนในการพัฒนาแนวปฏิบัติ ประกอบด้วย การสืบค้นหลักฐานความรู้เชิงประจักษ์ จัดระดับคุณภาพของหลักฐาน จัดทำแนวปฏิบัติ และตรวจสอบคุณภาพเชิงเนื้อหา และผ่านการนำไปใช้ในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันจำนวน 3 ราย เพื่อเป็นการยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ ทำการศึกษา 13 สัปดาห์ระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ.2553 ถึงเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2553 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือบันทึกรายงานการประชุมทีมพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก และแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์กระบวนการการพัฒนาแนวปฏิบัติ ด้วยวิธีสรุปเชิงเนื้อหา

ผลการศึกษา

          พบว่าแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการจัดการด้านโภชนาการในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลัน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีสาระแบ่งเป็น 4 หมวดตามรูปแบบการจัดการด้านโภชนาการของสมาคมอาหารแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แก่ 1) การประเมินภาวะโภชนาการ 2) การวินิจฉัยภาวะโภชนาการ 3) การดูแลและส่งเสริมภาวะโภชนาการ และ 4) การประเมินผลลัพธ์ด้านโภชนาการ รวมข้อเสนอแนะจำนวน 27 ข้อ เมื่อนำไปทดลองใช้ในหน่วยงานพบว่ากลุ่มประชากรผู้ใช้แนวปฏิบัติทั้ง 18 คน สามารถปฏิบัติตามแนวปฏิบัติได้ถูกต้องและครบถ้วน ผู้ป่วยทั้ง 3 รายที่ถูกทดลองใช้แนวปฏิบัติได้รับพลังงานและโปรตีนครบตามความต้องการของร่างกาย และมีความพึงพอใจต่อแนวปฏิบัติการจัดการด้านโภชนาการ

          ผลการศึกษาครั้งนี้ยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการที่จะนำแนวปฏิบัติทางคลินิกที่พัฒนาขึ้นไปใช้ในการดูแลภาวะโภชนาการในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ให้เกิดประสิทธิผล และเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาคุณภาพการดูแลอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันต่อไป