โปรแกรมคำนวณพลังงานและโปรตีน

ชื่อเจ้าของนวัตกรรม  พว.กัลยา   ชื่นใจ
ชื่อหน่วยงาน/สังกัด  หอผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์หญิง 2 งานการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์
ที่ปรึกษาโครงการ      พว.อารยา   สุขประเสริฐ

ที่มาของการทำนวัตกรรม
          ภาวะทุโภชนาการเป็นปัญหาทางคลินิกที่พบบ่อยในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีปัญหาด้านโภชนาการแตกต่างกันในแต่ละบุคคลทั้งด้านความต้องการ และการจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการ โดยประเด็นหลังเป็นประเด็นสำคัญในผู้ป่วยกลุ่มนี้และเป็นบทบาทที่โดยตรงของทีมสหสาขาวิชาชีพ เพราะการจัดการด้านโภชนาการที่ไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ในที่สุด โปรแกรมคำนวณพลังงานและโปรตีนเป็นนวัตกรรมที่คิดขึ้นเพื่อคำนวณความต้องการพลังงานและโปรตีนในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันแต่ละรายให้เกิดความง่าย รวดเร็ว และสามารถใช้สื่อสารในทีมสหสาขาวิชาชีพได้ เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการจัดการด้านโภชนาการในผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันของหอผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

หลักการและแนวคิด

         การใช้นวัตกรรมให้เกิดผลดี จะต้องคำนึงถึง ประสิทธิผลของการใช้ ความสะดวก ความยากง่ายของการใช้งาน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมเป็นแนวคิดที่ดีและนิยมใช้ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้เข้าถึงง่าย และเกิดความรวดเร็ว มีรูปแบบที่ทันสมัย น่าใช้งาน

วัตถุประสงค์ในการประดิษฐ์

1.เพื่อให้เกิดความสะดวก ง่าย และมีความเหมาะสมในการคำนวณความต้องการพลังงานและโปรตีนในผู้ป่วย
แต่ละราย
2.เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลด้านโภชนาการอย่างทั่วถึง

วันที่เริ่มต้นทำนวัตกรรม   1 มกราคม 2553

ระยะเวลาดำเนินการ         1 มกราคม 2553 – 28 กุมภาพันธ์ 2553

ขั้นตอนในการดำเนินงาน

  1. ออกแบบการคำนวณความต้องการพลังงานและโปรตีน ให้สอดคล้องตามสมการพลังงานของ
    แฮริส- เบเนดิคส์ประยุกต์ (modified harris-benedict energy equation, [HBEE])
  2. จัดทำโปรแกรมความต้องการพลังงานและโปรตีนโดยใช้โปรแกรม excel
  3. ทดสอบความเที่ยงตรง แม่นยำของโปรแกรมและทดลองใช้โปรแกรมกับพยาบาลผู้ปฏิบัติ
  4. ปรับปรุงให้เหมาะสมและง่ายต่อการใช้ และประกาศใช้
  5. ศึกษาความพึงพอใจในการใช้โปรแกรม

วิธีการใช้งานสำหรับนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์

  สำหรับผู้ป่วยแรกรับทุกรายให้ปฏิบัติดังนี้
1. ใส่ข้อมูลของผู้ป่วยตามคำอธิบายการใช้โปรแกรม ได้แก่ น้ำหนัก ส่วนสูง และอายุ
2. เมื่อได้ข้อมูลทั้งพลังงานและโปรตีนของผู้ป่วยแต่ละรายลงใน chart
3. ส่งเวรแก่พยาบาล และแพทย์ที่จะทำการสั่งอาหารแก่ผู้ป่วย
4. ส่งข้อมูลด้านโภชนาการของผู้ป่วยแต่ละรายทางระบบสารสนเทศให้โภชนากร

งบประมาณ ไม่มี

ประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันทุกรายได้รับการคำนวณความต้องการพลังงานและโปรตีน และได้รับการจัดการด้านโภชนาการให้ครบถ้วนตามเป้าหมายตามที่คำนวณได้จากโปรแกรม

ประเมินผลลัพธ์

1. พยาบาลผู้ใช้โปรแกรมในการคำนวณ 10 ราย มีความพึงพอใจต่อการใช้โปรแกรมร้อยละ 100 (ง่าย สะดวก รวดเร็ว)

2. ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระยะเฉียบพลันได้รับการคำนวณความต้องการพลังงานและโปรตีน ร้อยละ 100

การขยายผลของนวัตกรรม

              ยังใช้ในหอผู้ป่วย

สรุปผลการดำเนินการ
1. ปัญหาและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน   ไม่มี
2. กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดปัญหาจากการทำงานแล้วนำมาหาแนวทางแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดการพัฒนางานขึ้น
3. แผนการที่จะพัฒนาต่อเนื่องต่อไป   ดำเนินการปรับรูปแบบโปรแกรมให้สวยงามน่าใช้มากขึ้น