web analytics

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการบริจาคโลหิต

ผู้บริจาคโลหิตทุกท่าน โปรดศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งตัวท่านเอง และผู้ป่วยที่ต้องรับโลหิต

          การบริจาคโลหิต เป็นการเจาะโลหิตออกปริมาตร 450 มิลลิลิตร ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริจาค เนื่องจากร่างกายมีการสร้างเม็ดโลหิตและส่วนประกอบของโลหิตมาทดแทนส่วนที่เสียไป ในปัจจุบันยังไม่สามารถคิดค้นสิ่งใดมาใช้ทดแทนโลหิตได้ จึงจำเป็นต้องมีการบริจาคโลหิต เพื่อให้ได้มาซึ่งโลหิตสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วย

โลหิตที่ได้จากการบริจาค จะถูกนำไปปั่นแยกเป็น 3 ส่วนประกอบ ซึ่งส่วนประกอบแต่ละส่วน จะมีความสำคัญที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • เม็ดโลหิตแดง (Packed Red Cells) มีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย ใช้รักษาผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตจากการอุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดจากการคลอดบุตร ผู้ป่วยที่มีภาวะซีด หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเม็ดโลหิตแดง เช่น ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
  • พลาสมา (Plasma)  มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลือง ประกอบไปด้วยโปรตีนต่างๆ ได้แก่ อัลบูมิน โกลบูลิน อิมมูโนโกลบูลิน ปัจจัยการแข็งตัวของโลหิต เป็นต้น ใช้รักษาผู้ป่วยที่ขาดโปรตีน ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากการขาดน้ำ ผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • เกล็ดโลหิต (Platelet) มีหน้าที่ช่วยทำให้โลหิตแข็งตัว และช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นโลหิต ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาโลหิตออกไม่หยุดจากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้บริจาคโลหิต

  • มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป (น้ำหนัก 53 กิโลกรัมขึ้นไป กรณีบริจาค ณ หน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่)
  • อายุ 17-70 ปี (กรณีอายุ 17 ปี ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องได้รับการเซ็นยินยอมจากผู้ปกครอง , กรณีบริจาคครั้งแรก อายุต้องไม่เกิน 60 ปี)
  • มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เป็นไข้ หวัด ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ หรือท้องเสีย
  • ไม่เป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง หรือมีภาวะโลหิตออกง่ายและหยุดยาก
  • ไม่เป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบ
  • ไม่เป็นไข้มาลาเรียใน 3 ปี หรือเข้าไปในเขตที่มาลาเรียชุกชุมใน 1 ปี
  • ไม่มีประวัติผ่าตัดใหญ่ คลอดหรือแท้งบุตรใน 6 เดือน
  • สุภาพสตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • ไม่สัก ลบรอยสัก เจาะหู หรือเจาะส่วนอื่นๆของร่างกายในระยะเวลา 4 เดือน
  • ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติดทุกประเภท

* ในขั้นตอนของการคัดกรองผู้บริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตต้องตอบคำถามด้วยความจริง เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งผู้ป่วย และผู้บริจาคโลหิตเอง

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควรรับประทานอาหารมาก่อน ทานอาหารให้ครบมื้อ ไม่อดอาหาร
  • เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ของทอด อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาค 24 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาค 1 ชั่วโมง
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 3-4 แก้วก่อนบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันอาการวิงเวียน หน้ามืด และเป็นลมหลังบริจาคโลหิต
  • นำบัตรประชาชนมาติดต่อบริจาคโลหิตทุกครั้ง
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่สบายๆ ไม่อึดอัด ให้สามารถดึงแขนเสื้อขึ้นได้ง่าย

ขั้นตอนการบริจาคโลหิต

 

1. ลงทะเบียนผู้บริจาคโลหิต
    ผู้บริจาคโลหิตลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนที่จุดลงทะเบียนบริเวณหน้าห้อง กรอกข้อมูลส่วนตัว และตอบคำถามสุขภาพ

2. วัดความดันโลหิตและชีพจร
    ผู้บริจาคต้องมีความดันโลหิตและชีพจรอยู่ในระดับปกติ จึงจะสามารถบริจาคโลหิตได้

3. คัดกรองผู้บริจาคโลหิต
    เจ้าหน้าที่ซักประวัติสุขภาพเพิ่มเติม ตรวจหมู่โลหิต และวัดความเข้มข้นของโลหิต

4. เจาะเก็บโลหิต
    ใช้เวลาเจาะเก็บประมาณ 5-10 นาที ผู้บริจาคต้องนอนพักหลังเจาะเก็บอย่างน้อย 5 นาที เพื่อป้องกันอาการวิงเวียนศีรษะ

5. พักรับประทานอาหารว่าง
    ผู้บริจาครับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่จัดเตรียมไว้ให้

6. วัดความดันโลหิตและชีพจรหลังบริจาค
    ทำการวัดความดันโลหิตและชีพจรอีกครั้ง ผู้บริจาคต้องมีความดันโลหิตและชีพจรอยู่ในระดับปกติ และไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ จึงจะสามารถกลับได้

ข้อควรปฏิบัติหลังบริจาคโลหิต

  • นอนพักบนเตียงหลังบริจาคโลหิตอย่างน้อย 5 นาที ห้ามลุกจากเตียงทันที ให้รอเจ้าหน้าที่มาทำแผล และประเมินอาการหลังบริจาคโลหิต
  • ทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่จัดเตรียมให้
  • งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ เช่น ยกของหนัก เพื่อป้องกันการบวมช้ำบริเวณรอยเจาะ
  • หากมีโลหิตซึมออกบริเวณที่เจาะ ให้ใช้นิ้วกดลงบนผ้าก็อซค้างไว้ให้แน่น
  • งดการออกกำลังกายทุกประเภท
  • งดการปฏิบัติงานในที่สูง
  • ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติหลังบริจาค
  • ทานยาเสริมธาตุเหล็กที่แจกให้ หรือทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ ตับ ธัญพืช ผักใบเขียว เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
  • หากมีปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์หลังจากบริจาคโลหิต ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที