web analytics

การบริจาคเกล็ดโลหิต ด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบของโลหิตอัตโนมัติ

          เกล็ดโลหิต (Platelet) เป็นชิ้นส่วนหนึ่งของเม็ดโลหิตขาวชนิด Megakaryocyte ที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เกล็ดโลหิตมีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกล็ดโลหิตมีบทบาทสำคัญในกระบวนการห้ามเลือด (Hemostasis) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้โลหิตหยุดไหลเมื่อเกิดบาดแผล โดยปกติเกล็ดโลหิตเมื่อถูกเจาะออกมานอกร่างกายแล้วจะมีอายุเพียง 7 วันเท่านั้น

 

          ในร่างกายเราจะมีเกล็ดโลหิตประมาณ 140,000 – 400,000 ตัวต่อโลหิต 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร หากร่างกายมีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำ (Thrombocytopenia) จะทำให้โลหิตออกง่ายกว่าปกติ พบจุดเลือดออกหรือรอยช้ำตามร่างกาย โดยมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดโลหิตต่ำ ดังนี้
          1. ร่างกายมีการสร้างเกล็ดโลหิตที่น้อยลง เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว การได้รับการรักษาด้วยรังสี หรือเคมีบำบัด
          2. ร่างกายมีการทำลายเกล็ดโลหิตที่มากขึ้น เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โรคติดเชื้อบางชนิด
          3. การกระจายตัวของเกล็ดโลหิตที่ผิดปกติ

sdp
pltdonation

การบริจาคเกล็ดโลหิต (Plateletpheresis)

 

          ผู้บริจาคจะถูกเจาะโลหิตจากแขนข้างหนึ่งผ่านเข้าเครื่องแยกส่วนประกอบของโลหิตอัตโนมัติ ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Blood cell separater) เพื่อแยกเกล็ดโลหิตออกจากส่วนประกอบของโลหิตอื่นๆ เมื่อได้เกล็ดโลหิตแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆจะถูกคืนกลับเข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลาในการบริจาคใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยปริมาณเกล็ดโลหิตที่ได้จะมีปริมาณมากกว่าการบริจาคโลหิตทั่วไปถึง 8-16 เท่า

คุณสมบัติในบริจาคเกล็ดโลหิตเหมือนกับผู้บริจาคโลหิตทั่วไป แต่มีข้อกำหนดพิเศษดังนี้

  • เป็นเพศชาย (เนื่องจากเพศหญิงมีปัจจัยด้านระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ผู้ป่วยที่รับเกล็ดโลหิตไป เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการเติมเกล็ดโลหิตได้)
  • น้ำหนัก 55 กิโลกรัมขึ้นไป
  • อายุ 18 – 60 ปี กรณีบริจาคเกล็ดโลหิตครั้งแรก อายุต้องไม่เกิน 50 ปี
  • เส้นโลหิตบริเวณข้อพับแขนมีขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
  • เป็นผู้ที่เคยบริจาคโลหิตมาอย่างสม่ำเสมอ
  • มีจำนวนเกล็ดโลหิตไม่น้อยกว่า 250,000 ตัวต่อโลหิต 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
  • ไม่ทานยาแก้ปวดแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ขมิ้นชัน และน้ำมันปลา ในระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนมาบริจาค
  • งดรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมาก่อนบริจาค อาทิ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู อาหารที่ปรุงด้วยการทอด ผัด และอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ
  • ก่อนบริจาคให้เลี่ยงการทานชาและกาแฟ
  • การบริจาคเกล็ดโลหิตใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ผู้บริจาคควรทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนบริจาค
  • ไม่ควรงอหรือพับแขนข้างที่เจาะขณะบริจาค
  • หากมีอาการผิดปกติขณะบริจาค อาทิ ปวดบริเวณที่เจาะ ใจสั่น หรือมีอาการชาทั่วใบหน้า ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
  • หลังบริจาค ให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ เพื่อป้องกันการบวมช้ำ
  • สามารถบริจาคเกล็ดโลหิต หรือบริจาคโลหิตได้อีกครั้ง เมื่อครบ 1 เดือน
  • ผู้บริจาคไม่สูญเสียเม็ดเลือดแดงหลังบริจาค ลดความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์หลังบริจาค อาทิเช่น เวียนหัว หน้ามืด หรือเป็นลม
  • ได้ปริมาณเกล็ดโลหิตมากกว่าการบริจาคแบบทั่วไป ลดปัญหาเกล็ดโลหิตไม่เพียงพอ
  • ผู้ป่วยได้รับเกล็ดโลหิตที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากใช้เครื่องอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์
  • ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยในการติดเชื้อจากผู้บริจาคโลหิต เนื่องจากเกล็ดโลหิตที่ได้มาจากผู้บริจาครายเดียว แต่ได้ปริมาณเทียบเท่าการบริจาคโลหิตแบบทั่วไป 8-16 คน ทำให้อัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้บริจาคลดลง 8-16 เท่า
  • มีระบบลดการปนเปื้อนของเม็ดเลือดขาว ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยในการเกิดปฏิกิริยาจากการรับโลหิตที่มีเม็ดเลือดขาวปน

หากสนใจบริจาคเกล็ดโลหิต

 

ต้องเคยบริจาคโลหิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มาก่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้

  • กรณีที่เคยบริจาคโลหิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มาภายใน 12 เดือน สามารถติดต่อห้องรับบริจาคเกล็ดโลหิต เพื่อทำการเจาะตรวจดูปริมาณของเกล็ดโลหิต หากผ่านเกณฑ์ จึงจะสามารถนัดคิวบริจาคเกล็ดโลหิตได้
  • กรณีที่เคยบริจาคโลหิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มาเกิน 12 เดือน ต้องบริจาคโลหิตอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ขณะบริจาคสามารถแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจดูปริมาณของเกล็ดโลหิต หากผ่านเกณฑ์ จึงจะสามารถนัดคิวบริจาคเกล็ดโลหิตในครั้งถัดไป

ห้องรับบริจาคเกล็ดโลหิต (Apheresis)

 

เปิดทำการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30 – 16.00 น.

รับผู้บริจาคที่นัดคิวแล้วเท่านั้น วันละ 2 ช่วงเวลา ช่วงเช้า เวลา 8.30 น. และช่วงบ่าย เวลา 13.00 น.