พระราชกำหนด ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 19 เมษายน 2563 ได้มีการออกประกาศพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137 ตอนที่ 30 ก หน้าที่ 20-23 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ซึ่งพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 มีสาระสำคัญในมาตราดังต่อไปนี้

มาตรา 5 พระราชกำหนดนี้ไม่ใช้บังคับแก่
(1) การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
(2) การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(3) การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น
รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
(4) การประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 6 การประชุมตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุม นอกจากจะดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับแล้ว ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมจะกำหนดให้จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้มีผลเช่นเดียวกับการประชุมตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ห้ามมิให้ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 7 การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนด

มาตรา 8 การส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุม จะส่งโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในการนี้ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน โดยจะจัดเก็บในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

มาตรา 9 ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้อง (1) จัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนร่วมการประชุม (2) จัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งการลงคะแนนโดยเปิดเผยและการลงคะแนนลับ (3) จัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ (4) จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณี ของผู้ร่วมประชุมทุกคน ตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ (5) จัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน

มาตรา 10 ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากมีกรณีที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทนไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างใดให้แก่ผู้ร่วมประชุม ให้จ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนนั้นให้แก่ ผู้ร่วมประชุมซึ่งได้แสดงตนเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย

มาตรา 11 ให้ถือว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดนี้เป็นการประชุม โดยชอบด้วยกฎหมาย และห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดนี้ เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้หมายเหตุท้าย พ.ร.ก.นี้ ได้ชี้แจงเหตุผลที่ออกประกาศพระราชกำหนดนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการออกประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 34/2557 เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2557 อยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ

1. คำสั่ง คสช กำหนดกรอบให้ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1 ใน 3 อยู่ในสถานที่เดียวกัน พระราชกำหนดนี้ จึงปรับแก้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถประชุมอยู่ต่างสถานที่กันได้ทั้งหมด

2. คำสั่ง คสช กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้แต่จำกัดให้ต้องอยู่ภายในราชอาณาจักรเท่านั้น พระราชกำหนดนี้ จึงปรับแก้ให้สามารถประชุมจากนอกราชอาณาจักรได้

สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0020.PDF

 

อรรถพร ถาน้อย
ผู้เขียนบทความ
19 เมษายน 2563

MTEC