แนะนำไมโครโฟนสำหรับการใช้งานในระดับเบื้องต้น

แนะนำไมโครโฟนสำหรับการใช้งานในระดับเบื้องต้น

ไมโครโฟนนั้นถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่งที่สามารถช่วยให้การติดต่อสื่อสารและการผลิตสื่อที่มีเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องมีความน่าสนใจมากขึ้นเทียบเท่าหรือมากกว่าภาพกราฟิก

โดยปกติแล้วคุณภาพเสียงนั้นมีความสำคัญมากและควรมีคุณภาพสูงกว่าภาพเสมอเพราะเสียงจะส่งผลต่อประสาทรับการสื่อสารโดยตรง หากเสียงไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
ผู้ชมอาจจะเกิดอาการล้า ขาดสมาธิหรือไม่สนใจได้

แน่นอนว่า ปัจจุบันนี้มีไมโครโฟนให้เลือกใช้หลายยี่ห้อ หลายรุ่น แต่สิ่งที่ควรรู้อันดับแรกคือ

“ไม่มีอุปกรณ์ชิ้นไหนที่ดีที่สุด มีเพียงแต่อุปกรณ์ที่เหมาะสมเท่านั้น”

ฉะนั้นการเลือกไมโครโฟนที่เหมาะสมต่อการใช้งาน นอกจากช่วยในเรื่องทรัพยากรแล้วยังสามารถเพิ่มคุณภาพของการรับส่งสาร ไม่ว่าจะเป็นในการประชุม การจัดการเรียนการสอน
รวมไปถึงการผลิตสื่อได้อีกเช่นเดียวกัน


Internal กับ External microphone คืออะไร

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับรูปแบบของไมโครโฟนทั้งสองประเภทหลักๆก่อน

Internal microphone คือไมโครโฟนที่ถูกติดตั้งมาพร้อมกับอุปกรณ์ที่สามารถใช้สำหรับการสื่อสาร เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ แลปทอป สมาร์ทโฟน แทบเลต หูฟัง กล้องเว็บแคม เป็นต้น
ไมโครโฟนประเภทนี้สามารถเปิดใช้งานพร้อมอุปกรณ์นั้นๆได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้ External microphone

ข้อเสียของไมโครโฟนประเภทนี้คือคุณภาพที่มีทั้งดีและแย่ โดยราคาของอุปกรณ์ที่มีไมโครโฟนติดตั้งอยู่นั้นไม่สามารถการันตีคุณภาพของไมโครโฟนที่ติดตั้งมาด้วยได้เสมอไป
ยกตัวอย่างเช่น หูฟังบางรุ่นให้คุณภาพเสียงที่ดีแต่คุณภาพไมโครโฟนแย่ ในขณะที่บางรุ่นให้คุณภาพเสียงและไมโครโฟนที่ดีได้ เป็นต้น

External microphone หรือรู้จักในชื่อ “ไมค์แยก” เป็นไมโครโฟนที่เป็นอุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงโดยเฉพาะและต้องทำการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ที่จะใช้ในการสื่อสารเพื่อเปิดใช้งาน
ซึ่งมีหลายชนิดและหลายราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นและมากกว่านั้น ส่วนมากแล้วไมโครโฟนประเภทนี้จะมีคุณภาพตามราคา โดยรุ่นที่มีราคาสูงอาจจะมีฟังก์ชั่นเสริม
เช่น มีปุ่มควบคุม ตัดเสียงรบกวน แยกทิศทาง เป็นต้น

ข้อเสียของไมโครโฟนประเภทนี้คือ ใช้พื้นที่สำหรับการพกพามากพอสมควรและผู้ใช้งานต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงที่รองรับไมโครโฟนรุ่นนั้นๆด้วยเช่นเดียวกัน


ไมโครโฟนยอดนิยมตามท้องตลาด

ไมโครโฟนนั้นมีหลากหลายชนิดและแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและตอบสนองการใช้งานที่แตกต่างกัน ในบทความนี้ขอยกมาสองชนิดที่เป็นที่นิยมกันในหมู่สตรีมเมอร์ ครีเอเตอร์และคนทำพอดแคส ซึ่งก็คือไมโครโฟนแบบ condenser และ dynamic

ในสถานการณ์การใช้งานจริงนั้น ผู้ใช้งานสามารถเลือกแบบไหนก็ได้ตามความถนัดและทรัพยากร ไมโครโฟนราคาสูงอาจจะไม่สามารถให้เสียงที่ได้คุณภาพตามที่หวัง ทั้งนี้อยู่ที่การจัดตำแหน่งและการปรับแต่งเพิ่มเติมจนกว่าผู้ใช้งานได้คุณภาพเสียงที่พึงพอใจที่สุด


สิ่งที่ควรคำนึงก่อนเลือกซื้อไมโครโฟน

ข้อควรคำนึงทั้งสามข้อนี้จะช่วยคัดกรองตัวเลือกให้กับผู้ใช้ได้หาไมโครโฟนที่เหมาะสมได้เป็นอย่างมาก

ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ 1 : คุณเอต้องการใช้ไมโครโฟนเพื่อประชุมและติดต่องานในองค์กร โดยปกติใช้อุปกรณ์พกพาทั้งแลปทอปและแทปเล็ตเป็นหลัก

สถานการณ์ดังกล่าวสามารถกำหนดขอบเขตได้ว่า คุณเอต้องการไมโครโฟนใช้สื่อสาร พกพาสะดวกและใช้กับอุปกรณ์พกพาชิ้นอื่นๆ
ดังนั้น ชุดหูฟังมีสายหรือไร้สายขนาดเล็กที่มีไมโครโฟนติดตั้งมาด้วยจะเหมาะสมกว่าไมโครโฟนแยกเพราะไมโครโฟนแยกอาจเกิดเสียหายขณะพกพาและใช้พื้นที่ทำงานพอสมควร

ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ 2 : คุณเอต้องการใช้ไมโครโฟนเพื่อทำสื่อการสอนให้กับนักศึกษา ปกติใช้อุปกรณ์พกพาทั้งแลปทอปและแทปเลตเป็นหลัก

สถานการณ์ดังกล่าวสามารถกำหนดขอบเขตได้ว่า คุณเอต้องการไมโครโฟนใช้ทำสื่อ ดังนั้นต้องใช้ไมโครโฟนที่สามารถเก็บรายละเอียดเสียงที่ดีและชัดเจน
External microphone จึงเหมาะอย่างยิ่งเพราะการอัดเสียงนั้นต้องทำในห้องปิดไร้เสียงรบกวนไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย
หรือหากจำเป็น External microphone ขนาดเล็กก็ยังเป็นอีกตัวเลือกที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน

อีกหนึ่งข้อที่ควรคำนึงอย่างยิ่งคือเรื่อง อุปกรณ์ต่อพ่วงที่รองรับ เนื่องจากมีหลายกรณีที่ผู้ใช้งานซื้อไมโครโฟนแล้วไม่สามารถใช้งานได้เพราะช่องเสียบไม่ตรงกับสายของไมโครโฟน
ทำให้เข้าใจผิดว่าไมโครโฟนเสียหาย ดังนั้นผู้ใช้งานต้องทำการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ที่ใช้งานนั้นมีช่องเสียบประเภทใดบ้างและไมโครโฟนนั้นต้องเชื่อมต่อในรูปแบบใด
โดยสามารถตรวจสอบบนกล่องผลิตภัณฑ์นั้นๆ ปัจจุบันนี้ขอแนะนำไมโครโฟนแบบ USB เนื่องจากสะดวกต่อการใช้งานมากกว่าแบบ AUX3.5


ไมโครโฟนที่เชื่อมต่อด้วยสายแจ๊คควรเลือกใช้แบบไหนดี?

สายเชื่อมต่อไมโครโฟนนั้นมีหลากหลายชนิดจนทำให้ผู้ใช้สับสันได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นสายเชื่อมต่อแต่ละชนิดยังแบ่งรูปแบบของหัวอีกหลายรูปแบบ ในบทความนี้จึงขอยกมาเพียงสาย AUX 3.5 หรือที่เรียกกันว่าสายแจ๊ค 3.5 mm ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในไมโครโฟนที่จัดจำหน่ายในร้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นหลัก
สาเหตุที่จำเป็นต้องยกสายแจ๊ค 3.5 มาก่อนเพราะว่ามีหลายกรณีที่ผู้ใช้งานซื้อหูฟังหรือไมโครโฟนที่มีหัว 3.5 สามารถต่อเข้าอุปกรณ์ได้ แต่เสียงไม่ออกลำโพงหรือไมโครโฟนไม่ทำงาน ทำให้เข้าใจหัวไมโครโฟนที่ซื้อมานั้นไม่มีคุณภาพหรือเสียหาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้สายแจ๊ค 3.5 จะดูเหมือนกันและเชื่อมต่อได้พอดี แต่ถ้าหากสังเกตให้ละเอียดแล้วจะพบว่า หัวเสียบนั้นมีจำนวน pole หรือบั้ง (ส่วนที่เป็นโลหะถูกแบ่งด้วยปล้องที่ไม่ใช่โลหะ) ดังภาพ

ในทางเทคนิคแล้ว Pole หรือบั้งที่กล่าวไปข้างต้นนั้นมีชื่อเรียกเฉพาะตามตำแหน่ง
ทำให้แจ๊ค 3.5 มีชื่อเรียกแยกย่อยอีกเป็น TS, TRS, TRRS, TRRRS เป็นต้น
โดยส่วน T หมายถึง Tip ส่วนหัว
R หมายถึง Ring ส่วนที่อยู่ระหว่าง T กับ S
S หมายถึง Sleeve ส่วนท้าย

ทั้งนี้เพื่อป้องกันความสับสน ในบทความนี้จึงขอเรียก T R S แทนด้วยจำนวน Pole
เช่น ตัวอย่างภาพข้างต้น TRS คือ 3 Pole และ TRRS คือ 4 Pole

เลือกใช้สายแจ๊คแบบไหนดี?

ในบทความนี้จึงขอยกวิธีสังเกตความแตกต่างและคุณสมบัติของแจ๊ค 3 Pole และ 4 Pole เป็นหลัก เนื่องจากเป็นหัวเสียบที่พบเห็นในขอบเขตการทำงานในสำนักงานเป็นส่วนใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.zoundlab.com/knowledge/how-to-choose-connectors-2/


MTEC