มองแผลผ่านภาพ

ชื่อผู้ประดิษฐ์ นางสาว ธัญญา   บุราพันธ์ ,    นางสาว พิมพรรณ    ภู่ปะวะโรทัย

สถานที่ทำงาน  หอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก        งานการพยาบาลผู้ป่วยศัลยศาสตร์

ปีที่เริ่มใช้ 2549

หลักการและเหตุผล

หอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก    ให้การดูแลผู้ป่วยที่มีแผลไหม้ชนิดต่างๆ ได้แก่ แผลไฟลวก  น้ำร้อนลวก ไฟฟ้าดูด  รวมทั้งแผลไหม้จากสารเคมีต่างๆ  และในกรณีที่ผู้ป่วยมีแผลไหม้ที่มีความรุนแรงมาก ( major burn injury )    บางรายมีปัญหาซับซ้อนหลายระบบ    จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา (multidisciplinary  team )  ได้แก่ ศัลยแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง ( Plastic surgery ) อายุรแพทย์ด้านต่างๆ  เช่น แพทย์สาขาโรคติดเชื้อ  ระบบการหายใจ  โรคไต    แพทย์ออร์โธปิดิกส์    เวชศาสตร์ฟื้นฟู     กุมารแพทย์        และจิตแพทย์ เป็นต้น    มักพบว่าเมื่อแพทย์เฉพาะทางที่ได้รับใบขอรับคำปรึกษา (consult )ต้องการทราบลักษณะแผลของผู้ป่วย  แต่เดิมจะต้องมีการเปิดแผลเพื่อให้แพทย์ได้ประเมินแผลก่อนให้การรักษา ซึ่งทำให้รบกวนเวลาพักผ่อนของผู้ป่วย  เพิ่มความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของแผลเพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาล ต้องสิ้นเปลือง วัสดุ อุปกรณ์ในการทำแผล (ชุดทำแผล ผ้ากอซ น้ำยาต่างๆ ครีมยาปฏิชีวนะเฉพาะที่  เสื้อคลุม หมวก ผ้าปิดปากและจมูก)  บุคลากรพยาบาลต้องทำงานเพิ่มขึ้น แพทย์ต้องเสียเวลาในการรอเปิดแผล   ผู้ป่วยอาจไม่พึงพอใจที่จะให้เปิดทำแผลอีกครั้งและบางครั้งอาจต้องนัดแพทย์ให้มาดูแผลในวันถัดไป ทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจสั่งการรักษา อาจเกิดผลเสียต่อผู้ป่วย   อีกทั้งในการประเมินแผลแต่เดิมจะต้องมีการระบุ ตำแหน่งของแผล ขนาดของแผล( อาจใช้ไม้บรรทัดวัดความกว้าง ความยาว ความลึก หรือใช้แผ่นพลาสติก วางทาบบนแผลแล้วใช้ปากกาวาดตามเส้นขอบแผล) บอกลักษณะของพื้นแผลว่ามีเนื้อตายหรือเป็นgranulation tissueโดยระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ บอกลักษณะขอบแผล สภาพผิวหนังรอบแผล สิ่งขับหลั่งจากแผล ซึ่งการประเมินจากสายตาของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไป   หอผู้ป่วยจึงได้คิดค้นนวัตกรรมการถ่ายภาพแผลผู้ป่วยโดยใช้กล้องดิจิตอลแล้วเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ แยกตามรายชื่อผู้ป่วยแต่ละราย    โดยเรียงลำดับภาพตามวัน เวลาที่ถ่ายภาพ       เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็นต้องประเมินแผลของผู้ป่วยก่อนตัดสินใจสั่งการรักษา โดยแพทย์และผู้เกี่ยวข้องจะสามารถเข้าดูภาพถ่ายของแผลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรบกวนผู้ป่วย    ซึ่งภายหลังการดำเนินการช่วงเวลาหนึ่ง พบว่าเป็นที่ยอมรับและพึงพอใจของแพทย์โดยเฉพาะ อายุรแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ  กุมารแพทย์ จิตแพทย์  แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และ ศัลยแพทย์ สาขาศัลยกรรมตกแต่ง   เป็นต้น     นอกจากนี้ยังทำให้ทีมผู้รักษาได้เห็นความก้าวหน้าการหายของแผล    รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของแผลกรณีที่แผลติดเชื้อ   ทำให้ทีมสามารถวางแผนการรักษาได้ทันที     ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและที่สำคัญเป็นความพึงพอใจของผู้ป่วยเองที่ยินยอมให้มีการถ่ายภาพเก็บไว้ให้แพทย์ดู แทนการต้องเปิดทำแผล

12-10-2549
13-9-2549
21-10-2549
3-10-2549