ขาตั้งสู้

ชื่อผู้จัดทำ                นางสาวอรณิชา ศิริวรรณ์                  ผู้ช่วยพยาบาล

นายชูฤทธิ์ ชัยดา                            ผู้ช่วยพยาบาล

ชื่อหน่วยงาน            หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมอุบัติเหตุ งานการพยาบาลผู้ป่วยศัลยศาสตร์

รายละเอียดเกี่ยวกับผลงานนวัตกรรม

         1.จุดเริ่มต้นหรือที่มาของการจัดทำหรือคิดค้นนวัตกรรม

หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมอุบัติเหตุ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รับดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทุกระบบในภาวะวิกฤต จำนวน 46-64 รายต่อเดือน ในจำนวนนี้มีจำนวนอย่างน้อย 5-10 ราย มีบาดแผลขนาดใหญ่บริเวณขา ทั้งบาดแผลที่ได้รับจากอุบัติเหตุและบาดแผล fasciotomy ซึ่งต้องการการทำแผลทุกวัน บ่อยครั้งต้องใช้เวลาในการทำแผลเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 15 นาทีขึ้นไป ตั้งแต่การยกขาผู้ป่วย ใช้กะละมังรองรับน้ำเกลือและสิ่งคัดหลั่งไว้ใต้แผล จากนั้นแพทย์จะเปิดแผล ล้างแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล ปิดแผล และพันแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้ายืดพันแผล นอกจากนี้ต้องให้ผู้ช่วยเหลือ 1 คนมาช่วยยกขาผู้ป่วย ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นคง ผู้ช่วยเหลือมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดหลัง จึงได้จัดทำนวัตกรรม “ขาตั้งสู้” เพื่อใช้สำหรับวางขาผู้ป่วยขณะทำแผล เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น

2.ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดทำนวัตกรรม

มกราคม – มีนาคม พ.ศ.2558

3.ลักษณะผลงานนวัตกรรม

เป็นสิ่งที่คิดค้นขึ้นใหม่ โดยดัดแปลงจากวัสดุเดิม ได้แก่ เสาน้ำเกลือ และที่วาง Ambu bag ชนิดทำจากสแตนเลสที่ไม่ใช้แล้ว นำมาตัดบางส่วนและเชื่อมติดกัน ให้มีฐานรองรับเพื่อให้สามารถวางตั้งไว้บนเตียง มีความสูงตั้งแต่ฐานถึงถาดรองรับข้อเท้า 20 และ 32 เซนติเมตร และส่วนบนของนวัตกรรมมีถาดรองรับข้อเท้าของผู้ป่วย ช่วยให้สามารถยกส่วนปลายขาสูงขึ้น ทำแผลได้สะดวก ไม่เกิดการปนเปื้อน และประหยัดพลังงาน

เป้าหมาย

เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยในการยกขาผู้ป่วยขณะทำแผลให้กับผู้ป่วยทุกรายที่มีบาดแผลที่ขา

หลักการและขั้นตอนในการพัฒนานวัตกรรม

1.เสาน้ำเกลือที่ไม่ใช้แล้ว นำมาตัดส่วนต้น และส่วนปลายออกให้เหลือความยาวตามที่ต้องการ โดยเก็บส่วนที่หมุนล็อคเสาน้ำเกลือไว้ เพื่อให้สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ ดังภ

ภาพที่ 2 แสดงเสาน้ำเกลือส่วนที่นำมาใช้

ภาพที่ 3 แสดงที่วาง Ambu bag

2.ที่วาง Ambu bag ที่ไม่ใช้แล้ว นำมาตัดให้ได้ขนาดกว้าง X ยาว = 9 X 15 เซนติเมตร
3.เตรียมแผ่นสแตนเลสขนาด 12 X 30 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นฐานรอง
4.นำข้อ 1, 2 และ 3 มาเชื่อมต่อกัน โดยนำที่วาง Ambu bag มาเชื่อมบริเวณส่วนบนของเสาน้ำเกลือ และแผ่นสแตนเลสมาเชื่อมต่อบริเวณส่วนล่างของเสาน้ำเกลือเพื่อใช้เป็นฐาน ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 3 แสดงการใช้นวัตกรรม “ขาตั้งสู้”

 

ตัวชี้วัด/ผลลัพธ์

1.ลดการใช้พลังงาน และภาระงานขณะทำแผล ทั้งจากการยกขาผู้ป่วยและเปลี่ยนผ้าเปื้อนขณะทำแผล

2.บุคลากรไม่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดหลังจากการทำงาน

3.ผู้ใช้ผลงานมีความพึงพอใจในระดับดีมาก ร้อยละ 90 ในระดับดี ร้อยละ 10 และผู้ใช้มีข้อเสนอแนะว่าสูงไป จึงได้นำไปปรับปรุงและตัดให้สั้นลงเพื่อความสะดวกและเหมาะสมสำหรับการดูแลผู้ป่วยแต่ละราย

งบประมาณที่ใช้

1.เสาน้ำเกลือ และที่วาง Ambu bag ไม่มีค่าใช้จ่าย

2.ค่าเชื่อมเหล็ก500 บาท ต่อนวัตกรรม “ขาตั้งสู้” 2 อัน

ประโยชน์ที่ได้รับจากผลงานนวัตกรรม

1.สามารถทำแผลได้โดยสะดวก แม้จะใช้เวลานาน

2.ลดภาระงาน และความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการทำงานของบุคลากร เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดหลัง เป็นต้น