แพทย์ มช. เตือน อากาศร้อนจัด! เสี่ยงเป็นโรคลมแดด อันตรายถึงตาย!

ในชีวิตประจำวันเราย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอแสงแดด โดยเฉพาะช่วงนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูง ทำให้อากาศร้อนจัดอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่อการปรับสภาพของร่างกาย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลและปกป้องร่างกาย หากอยู่ในสภาวะ Heat Stroke หรือโรคลมแดด

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “โรคลมแดด หรือที่เรียกว่า ฮีทสโตรค (Heat Stroke) มาจากอุณหภูมิของร่างกายเราสูงมากจนไม่สามารถที่จะขับอุณหภูมิออกได้ โดยปกติร่างกายคนเราจะมีระบบสมองที่คอยควบคุมให้ร่ายกายของเราไม่ให้มีอุณหภูมิที่สูงมากจนเกินไป ซึ่งร่างกายนั้นจะปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ ระหว่าง 36.5-37 องศาเซลเซียส ถึงแม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะหนาวมากหรือร้อนมากก็ตาม สมองเราจะสั่งร่างกายทันทีให้มีการปรับอุณหภูมิให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับตัวเรา หากร่างกายปรับได้ไม่ทันจะส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมองเกิดความผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ร่างกายรับไม่ไหว จึงเกิดปฏิกิริยาการตอบสนอง การหายใจล้มเหลวได้

โดยสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคลมแดด คือ อุณหภูมิที่ร้อนถึงร้อนจัด และร่างกายถูกแสงแดดมากเกินไป หรืออยู่ในที่อากาศร้อนอบอ้าว อากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวก และสวมใส่เสื้อผ้ามากชิ้นเกินไป เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ไม่ดี หรือการหักโหมออกกำลังกายอย่างหนักทำให้กล้ามเนื้อสร้างความร้อนมากก็อาจทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การหายใจล้มเหลวได้ อาการของโรคมีอาการตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น อ่อนเพลีย กระหายน้ำ มีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ปวด มึนศีรษะ หน้าแดง ไปจนถึงมีอาการมากและเป็นอันตราย ได้แก่ อาการกระสับกระส่าย เหงื่อแห้ง ผิวแห้ง เนื่องจากร่างกายขาดน้ำมาก จนนำไปสู่อาการหมดสติ อาการชักและความดันโลหิตต่ำ ในขั้นสุดท้ายอาจเกิดผลต่อสมอง ระบบหัวใจ ไตวายและเสียชีวิตได้ หากรักษาได้ไม่ทันท่วงที

สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้นำผู้ที่มีอาการเข้าในร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดเสื้อผ้า ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณ ใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน หากผู้ป่วยยังมีสติให้ดื่มน้ำเย็น ในกรณีหมดสติหลีกเลี่ยงการป้อนน้ำเพราะจะทำให้คนไข้เกิดอาการสำลัก หลังจากนั้นนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

โรคลมแดดสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่มีโอกาสเกิดกับกลุ่มเสี่ยงมากกว่า ได้แก่ ผู้สูงวัยและเด็ก กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว นักกีฬา หรือผู้ที่มีอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมแดด เพื่อเตรียมตัว ป้องกันและช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ตนเองและคนรอบข้าง ทั้งนี้เราสามารถป้องกันโรคลมแดดได้ โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ควรให้ได้วันละประมาณ 8 แก้วต่อวัน หรือประมาณวันละ 2 ลิตร หลีกเลี่ยงอากาศร้อนและที่ๆอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อนโดยการอาบน้ำ เปิดแอร์ เปิดพัดลม ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หากรู้สึกเหนื่อยมากควรรีบพักทันที ควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย และสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวธัญญลักษณ์ สดสวย
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/12009/