ตะขอแขวนถุงอาหารสำหรับให้ทาง jejunostomy tube

ชื่อเจ้าของผลงาน   นางสาว สุทธิรา ฟูคำ และ นายพีระพงศ์ พรหมปัน

หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย 2 งานการพยาบาลผู้ป่วยศัลยศาสตร์ ฝ่ายการพยาบาล โทรศัพท์ 35992

สรุปผลงานโดยย่อ: การใช้ตะขอแขวนถุงอาหารสำหรับให้ทาง jejunostomy tube สามารถทำให้อัตราการไหลของอาหารเป็นไปตามความต้องการ

เป้าหมาย: เพื่อนำนวัตกรรมตะขอแขวนถุงอาหาร มาช่วยปรับระดับการแขวนถุงให้อาหารให้มีอัตราการไหลตามต้องการ

ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ: ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางอาหารส่วนต้น แพทย์จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดให้อาหารทางทางลำไส้เล็กส่วนกลาง (Jejunostomy tube) ขณะอยู่ในโรงพยาบาลผู้ป่วยจะได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำ (Total parenteral nutrition) พร้อมกับการให้อาหารทางลำไส้เล็กส่วนกลาง โดยใช้เสาน้ำเกลือแขวนร่วมกัน อัตราการไหลของสารอาหารทางหลอดเลือดดำจะควบคุมโดยใช้เครื่อง Infusion pump และมีปุ่มปรับควบคุมอัตราการไหลให้สม่ำเสมอได้ แต่อัตราการไหลของอาหารที่ให้ทางลำไส้เล็กส่วนกลาง ต้องให้ช้าๆภายในเวลา 3-4 ชั่วโมง เนื่องจากลักษณะและโครงสร้างของลำไส้เล็กไม่สามารถที่จะขยายตัวและรองรับอาหารที่มีปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดการดูดน้ำจากผนังลำไส้เล็กส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ ปวด แน่นท้อง หรือถ่ายเหลวได้ (Dumping Syndrom) และผู้ป่วยต้องใช้มือในการปรับควบคุมอัตราการไหลของอาหารต้องใช้เวลาดูแลตลอดการให้อาหารในแต่ละครั้งคืออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง และจำนวน 5 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระในการดูแลและสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ดูแล และผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ   การควบคุมอัตราการไหลของชุดสารให้อาหารนี้ไม่สามารถควบคุมโดยใช้เครื่อง Infusion pump ได้เนื่องจากอาหารมีความหนืด

ดังนั้นการใช้ตะขอแขวนถุงอาหารสำหรับให้ทาง jejunostomy tube ในการปรับลดระดับความสูงของถุงอาหารลงเป็นวิธีการที่สามารถช่วยปรับอัตราการไหลของอาหารให้ช้าลงและให้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้

จากการเห็นภาพผู้ป่วยที่กลับไปอยู่บ้านได้ใช้ไม้แขวนเสื้อแขวนถุงอาหาร กับราวผ้าม่าน ทำให้เกิดแนวคิดประดิษฐ์ตะขอแขวนถุงอาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ โดยคำนึงถึงสะดวกใช้ สามารถพกพาและปรับความยาวได้

ขั้นตอนการดำเนินงาน

  •  โดยใช้เหล็กที่ดัดงอได้ ตัดให้ได้ความยาว 48 เซนติเมตร
  •  หุ้มด้วยพลาสติกสายอากาศของชุดให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ ช่วยลดความแหลมคมของเหล็ก ดัดปลายโค้งเพื่อใช้แขวนถุงอาหาร และแขวนกับเสาน้ำเกลือ

ขณะใช้งาน

การวัดผลและผลของการเปลี่ยนแปลง: เริ่มดำเนินการ 6 เดือน ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ โดยสอบถามผู้ป่วยและญาติ 20 รายที่ใช้ตะขอแขวนถุงอาหารสำหรับให้ทาง jejunostomy tube มีระดับความพึงพอใจ 100 %

บทเรียนที่ได้รับ: การพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้ ช่วยลดระดับความสูงของถุงอาหารเพื่อช่วยลดอัตราการไหลของอาหารตามแรงโน้มถ่วงของโลก ช่วยให้อาหารไหลช้าลง ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการได้รับอาหารเร็วเกินไป   ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาจากความหนืดของอาหารมีทำให้มีการตกตะกอนและหยุดไหล ต้องมีการเขย่าถุงอาหารเป็นระยะ หรือมีการปรับความสูงใหม่ บางครั้งไม่สามารถความคุมได้ในเวลาที่กำหนดที่แน่นอน ดังนั้นจึงได้นำปัญหานี้ปรึกษาทีมสหสาขาวิชาชีพจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างและประดิษฐ์เครื่องมืออยู่

 

การติดต่อเจ้าของผลงาน นางสาว สุทธิรา ฟูคำ เบอร์โทรศัพท์ 086-6593665 E-mail address   l   sutthiraf@gmail.com