เยียวยาด้วยแนววิถีพุทธ

สมบูรณ์ เงาส่อง หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตศัลยกรรมทั่วไป 2 งานการพยาบาลผู้ป่วยศัลยศาสตร์

 

ความเจ็บป่วยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤติทางศัลยกรรมทั่วไป 2 (Trauma)มีขอบเขตความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุในภาวะวิกฤตทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ซึ่งส่วนมากเป็นอุบัติการณ์ไม่คาดฝัน จึงทำให้ทั้งผู้ป่วยและญาติขาดความพร้อมในการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อที่จะเผชิญภาวะวิกฤตให้ผ่านไปอย่างเหมาะสม ผลที่ตามมาก็คือก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล สับสน และซึมเศร้าปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ พยาบาลในฐานะบุคลากรในทีมสุขภาพที่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยและญาติมากที่สุดจึงมีบทบาทสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและครอบครัว โดยเฉพาะในด้านการดูแลช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย แต่จากประสบการณ์จริงที่ได้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้มานานมากกว่า 20 ปี พบว่าวัฒนธรรมในการดูแลผู้ป่วยมักจะมุ่งเน้นเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่าการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ตามแนวทางวิถีพุทธ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลแบบองค์รวม

การดูแลแบบองค์รวมโดยใช้กระบวนการบูรนาการแนวคิดทางศาสนาสอดประสานเข้ากับแนวคิดทางสุขภาพ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว”เป็นการเชื่อมโยงให้เห็นและตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายว่าไม่สามารถแยกออกจากกันได้  เมื่อใดกายป่วยจิตใจก็ป่วยไปด้วย เมื่อจิตป่วยความพร้อมในการรับข้อมูลต่างๆ ย่อมลดน้อยถอยลง ส่งผลให้กิจกรรมการดูแลรักษาที่ให้ไม่ได้ผลเต็มประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นการดูแลผู้ป่วยเฉพาะทางด้านร่างกายอย่างเดียวจึงถือว่ายังไม่เป็นการเพียงพอสำหรับภาวะปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมโดยบูรนาการณ์
วิถีพุทธเพื่อสอดประสานกับวิถีการดูแลทางสุขภาพจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งนับว่าน่าสนใจยิ่ง

การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองตามแนวทางวิถีพุทธ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพวกเราชาวทีมสุขภาพ โดยเฉพาะทีมดูแลผู้ป่วยของทีม PCT ศัลยศาสตร์ ผมอยากบอกว่าที่วอร์ดผมปฏิบัติกันเป็นปกติจนกลายเป็นงานประจำซึ่งนำไปสู่งานวิจัย (R2R) แล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธนะครับว่าพวกเราส่วนมาก ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆ แต่ก็ล้วนแล้วแต่เข้าใจในศาสนาพุทธไม่มากก็น้อย ศาสนาพุทธศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย มีความสำคัญต่อวัฒนธรรม ความเชื่อ ความหวัง และเป็นที่พึ่งทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ ภาวะวิกฤติ หรือการเจ็บไข้ได้ป่วย ดังนั้นในบทบาทของพยาบาลผมจึงได้บูรนาการใช้วิถีพุทธในการดูแลผู้ป่วยกันเป็นประจำ ซึ่งขอตัวย่างที่ได้ทำบางส่วนดังนี้

 

การช่วยให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งดีงาม

การแนะนำให้ผู้ป่วยและ/หรือญาติ นึกถึงสิ่งดีงามช่วยให้จิตใจเป็นกุศลและบังเกิดความสงบ ทำให้ความกลัวคุกคามจิตได้น้อยลง และสามารถเผชิญกับความเจ็บปวดได้ดีขึ้น ซึ่งวิธีหนึ่งทีมเรามักแนะนำให้ผู้ป่วยและ/หรือญาติปฏิบัติเสมอ คือการระลึกถึงและมีศรัทธามั่นในพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

การจัดให้มีหิ้งพระ ในวอร์ด

ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถจัดให้มีห้องพระได้ทีมของเราก็ได้จัดให้มีหิ้งพระและอาราธนาพระพุทธรูปประดิษฐานไว้เพื่อให้คนไข้และญาติกราบไหว้ สร้างขวัญและกำลังใจ ทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งคลายความวิตกกังวลจากการเข้ารับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้หนักที่อยู่ในภาวะวิกฤตและ/หรือระยะสุดท้ายของชีวิต

การอ่านหนังสือธรรมะชนะความทุกข์

หนังสือธรรมะ เรามีหนังสือธรรมะไว้ประจำไว้ที่วอร์ดครับ มีทั้งให้ญาติผู้ป่วยอ่านที่วอร์ด บางครั้งก็มอบให้ไปอ่านที่บ้าน พบว่าคนไข้และญาติบางคนสามารถใช้จรรโลงจิตใจ ผ่อนคลายและง่ายต่อการปรับตัวยิ่งขึ้น เพราะเรื่องจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวมันแยกจากกันไม่ออก ถ้าภาวะทางจิตดีทางกายก็มักดีด้วยเสมอ

โครงการพระเยี่ยมไข้

ชาวพุทธนิยมทำบุญ ยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็อยากพบพระ โครงการพบพระชำระใจช่วยได้มากครับ คนไข้และญาติมีความพึงพอใจมาก เท่าที่สังเกตผ่านๆมา ชาวพุทธเชื่อว่าการพบพระ ช่วยทำให้จิตใจแจ่มใส บางคนก็จะถือโอกาสนี้ทำบุญด้วย เพราะเชื่อว่าการทำบุญ ผลบุญจะส่งผลให้พ้นเคราะห์ ประสบแต่ความสุขความเจริญ

การทำบุญให้แก่ผู้ป่วยที่เสียชีวิต

ทุกปีจะมีผู้ป่วยเสียชีวิตในหอผู้ป่วยไม่น้อย การทำบุญให้แก่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจะช่วยให้ทั้งบุคลากรและญาติผู้ป่วยรู้สึกดี ที่วอร์ดทำเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้นยังมีการทำต่อที่งานการพยาบาลผู้ป่วยศัลยศาสตร์ด้วย โดยที่เราได้ขอรายชื่อญาติผู้ป่วยทุกคนที่เสียชีวิตและจะโทรฯแจ้งให้ญาติรับทราบทุกครั้งที่มีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ป่วย ซึ่งในแต่ละปีมีญาติผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มาร่วมทำบุญด้วยกับเรา

การขอขมาและส่งวิญญาณคนไข้ระยะสุดท้าย

การทำกิจกรรมทุกอย่าง เป็นเรื่องของความหวังดี แต่ก็มีเรื่องไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้เสมอ กล่าวคือเราต้องการรักษาแต่ว่าบางครั้งก็ทำให้ให้คนไข้ได้รับบาดเจ็บ ถ้ามองในมุมของกฎหมายก็ถือว่าเป็นการละเมิดอย่างหนึ่งนะครับ คนไข้ระยะสุดท้ายเป็นความทุกข์ทั้งตัวคนไข้และญาติ การจัดกิจกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของคนไข้และญาติในโรงพยาบาลที่เรียบง่าย และไม่รบกวนคนอื่น การขอขมาและแสดงความเคารพคนตาย เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทำให้คนไข้จากไปด้วยความสงบ ญาติคลายความทุกข์โศกไปได้ค่อนข้างมากครับ และในขณะเดียวกันพวกเราเองก็สบายใจ จะได้คิดว่าไม่ติดค้างอะไรอีก

ที่กล่าวมาเป็นประสบการณ์ที่ปฏิบัติจริงแต่ก็อิงหลักฐานความรู้เชิงประจักษ์อยู่บ้างพอสมควร ถึงไม่นับว่าเป็นกิจกรรมการพยาบาลที่ดีเลิศ แต่ก็เกิดประโยชน์ถ้านำไปปฏิบัติจริง ซึ่งหลังจากที่เราได้นำไปใช้แล้ว ต่อยอดโดยการเก็บข้อมูลเชิงวิจัยซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าประทับใจ นับได้ว่าเป็นการหมุนเกลียวความรู้อย่างต่อเนื่องซึ่งข้อมูลที่ได้ดังกล่าวถ้ามีเวทีใหม่ก็จะขออาสานำเสนอต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสพัฒนาที่จะตามมาได้ไม่ยากนัก และสำหรับท่านที่สนใจแนวคิดนี้ก็ไม่มีสงวนลิขสิทธิ์ สามารถศึกษา ต่อยอดและนำไปปฏิบัติได้ตามบริบทของแต่ละหน่วยงาน ก่อนจากขอฝากหลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่พยาบาลเราต้องมีและคำนึงถึงเสมออย่าลืมนะครับ ต้องมีให้และให้มี คือสิ่งเหล่านี้ครับ  สะอาด สื่อสาร สบาย สั่งเสีย สงเคราะห์และก็ ศักดิ์ศรีอย่าลืมนะครับ รับรองคุณภาพและความพึงพอใจไหลมาเทมาแน่นอน