นาฬิกาชีวิต

 

ผู้นำเสนอผลงานและที่อยู่ติดต่อ : จรินทร์ยา ทองบาล หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือด งานการพยาบาลผู้ป่วยศัลยศาสตร์

สิ่งที่ได้เรียนรู้

“… ถึงแม้เราจะช่วยให้ผู้ป่วยเอาชนะหัวใจที่ล้มเหลวไม่ได้ แต่เราก็ภูมิใจที่มีส่วนร่วมเสริมหัวใจที่เข้มแข็งให้กับญาติ ให้สามารถเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายนี้ไปได้อย่างสมศักดิ์ศรี และทำให้รู้ว่าการเผชิญกับความสูญเสียของญาติ ต้องการข้อมูล ต้องการกำลังใจจากทีมผู้ให้การรักษาพยาบาล ในขณะที่ทีมผู้ให้การรักษาพยาบาลเองในบางครั้งเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ก็ทำให้กำลังใจถดถอยได้ เราเองจึงต้องเสริมสร้างกำลังใจให้กันและกันอยู่เสมอเพื่อเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ดีให้แก่ผู้ป่วยและญาติต่อไป …”


รายละเอียด
10 ปีของชีวิตการทำงานในหอผู้ป่วยวิกฤตที่ให้การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ การทำงานทุกอย่างต้องรวดเร็วตามอาการของผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการหนักมากหรือมีการเปลี่ยนแปลงเร็วและทำการแก้ไขตามแผนการรักษาด้วยความรวดเร็วทันเวลาและแม่นยำ และเปิดโอกาสให้ญาติได้มาเยี่ยมผู้ป่วยเป็นเวลาเพียง 1 ชั่วโมงในช่วงกลางวันและอีก 1 ชั่วโมงในช่วงเย็น ทำให้ได้พูดคุยกับญาติน้อยมากไปด้วย ถึงแม้จะเปิดโอกาสให้ญาติโทรศัพท์ถามอาการได้ตลอด 24 ชั่วโมงก็ตาม การดูแลรักษานานๆทำให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยและญาติได้มาก มีการพูดคุยกันมากขึ้น ญาติจะเริ่มเข้าใจในระบบการทำงาน เกิดความคุ้นเคย ความใกล้ชิด และสัมพันธภาพเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสแสดงความเห็นใจ ดูแลด้านจิตใจผู้ป่วยและญาติ เป็นการดูแลโดยไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกบังคับโดยหน้าที่ แต่…สิ่งที่เราทำเป็นการทำด้วยใจ ทำด้วยจิตบริการ เป็นการกระทำที่เกิดจากความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในผู้ป่วยที่ต้องนอนนานๆในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง ทำงานแข่งกับเวลา ความเห็นใจในญาติที่ไม่สามารถอยู่เฝ้าบุคคลที่ตนรักได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ในวันที่ผู้ป่วยต้องย้ายออกจากหอผู้ป่วยหนัก ICU จะเป็นย้ายผู้ป่วยที่พวกเราชอบเรียกกันคือผู้ป่วยอาการดีขึ้น เราก็ดีใจกับผู้ป่วย เรามักจะเห็นรอยยิ้มและได้รับคำขอบคุณจากผู้ป่วยและญาติ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยอาการทรุดลงจนถึงวาระสุดท้ายซึ่งเป็นภาวะที่เราไม่อยากเจอแต่ก็เลี่ยงไม่ได้ไม่มีใครอยากเผชิญกับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตเพราะเป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความเศร้าโศก

เมื่อวันหนึ่งได้รู้จักคำว่า Palliative care และคำว่า Bereavement จึงทำให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ นี่เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนได้ทำกันมาโดยตลอด ทำโดยไม่ได้นึกว่าเป็นหน้าที่…แต่ทำจนเป็นสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของการทำงาน ในผู้ป่วยที่ต้องอยู่ใน ICU. นานๆผู้ป่วยและญาติก็จะรับรู้ได้ และทุกครั้งที่ทำก็ทำด้วยความรู้สึกเห็นใจในผู้ป่วยและญาติเสมอ และความภาคภูมิใจเหล่านั้นก็จะถูกเล่าต่อกันปากต่อปากถึงความซึ้งใจ ความประทับใจในcaseที่แต่ละคนได้ดูแลมาไม่ได้มีลายลักษณ์อักษรและไม่ได้ถูกจับด้วยทฤษฎีว่าสิ่งที่เราทำนั้นเรียกว่าอะไร

นับจากวันนี้สิ่งดีๆเช่นนี้จะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร สามารถอ่านได้ รับรู้ได้ แต่ทุกคนจะรับรู้ได้ถึงความภาคภูมิใจที่เราทำให้กับผู้ป่วยและญาติ ตามทฤษฎี Palliative care และ Bereavement แต่เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องราวต่างๆ ความซึ้งใจต่างๆจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเรามุ่งแต่จะดูแลเพียงอาการตามทฤษฎีและกฎระเบียบ แต่ไม่มีจิตบริการ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ และไม่ได้ให้ใจกับผู้ป่วยและญาติ

และนี่เป็นอีก case หนึ่งที่พวกเราจะจดจำไปอีกแสนนาน

ผู้ป่วยชาย อายุ 67 ปี ข้าราชการบำนาญที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจด้วย Diagnosis : Severe MR , 2 vessel disease , chronic AF with leakage หลังผ่าตัด MVR with CE perimount Magna No. 25 ,CABG x 2 ( 1. LIMA to LAD, 2. SVG to PDA ) Modified Cox.maze III e radiofrequency ablation เมื่อวันที่ 3 พ.ค 53 นอน ICU .CVT 4 วัน ย้ายไป Sub ICU .CVT วันที่ 7 พ.ค 53 ได้เพียงคืนเดียวก็เกิดอาการ heart failure, respiratory failure ใส่ ET. tube และย้ายกลับลงมา ICU. CVT เช้าวันที่ 8 พ.ค 53 น. on Invensive line , on Inotropic drugs หลายตัว, on Ventilator

ลักษณะของคุณตาเป็นคนขี้กลัว ท้อแท้ง่ายจึงทำให้คุณตาไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษามากนัก คุณตามักขอกระดาษมาเขียนประโยคที่เขียนบ่อยที่สุดคือคำว่า “ไม่ไหวแล้ว” ทำให้แพทย์เจ้าของไข้ คือ อาจารย์ธิติพงษ์, พยาบาล ICU. CVT, และเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมทั้งลูกของ คุณตาทั้ง 3 คน และภรรยาของคุณตา ต้องคอยพูดให้กำลังใจตลอดเวลา แต่คุณตาก็จะดีขึ้นเพียง ครู่เดียวแล้วก็จะเกิดความท้อแท้อีก อาการทางกายเริ่มดีขึ้น สามารถลดจำนวนของการให้ยาได้ระดับหนึ่ง และถอดท่อช่วยหายใจได้ คำแรกที่คุณตาเรียกอาจารย์ไปบอกก็คือคำว่า “ไม่ไหวแล้ว” อีกเช่นเคย ทำให้ทุกฝ่ายต้องให้กำลังใจคุณตาเพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะลูกทั้ง 3 คนของคุณตาและคุณยาย ซึ่งจะมาเยี่ยมคุณตาทุกวันทั้งเช้า กลางวันและเย็น คุณยายจะมาพร้อมลูกตั้งแต่เช้ามาเยี่ยมตามเวลา เมื่อหมดเวลาเยี่ยมคุณยายจะนั่งถักไหมพรมอยู่หน้าห้องผู้ป่วยหนักทั้งวัน ส่วนลูกสาวคุณตาจะมาเยี่ยมคุณตาในเวลากลางวันและตอนเย็น เพราะทำงานอยู่ใกล้ๆโรงพยาบาล ส่วนลูกชายทั้ง 2 คนจะเปลี่ยนกันมาเยี่ยมช่วงเย็น

หลายครั้งที่ลูกสาวและลูกชายคนโตของคุณตาจะบอกกับพยาบาลว่า “ทำไมตาไม่สู้เลย

พี่ให้กำลังใจพ่อจนหมดกำลังใจจะให้แล้วนะ” ทำให้ทุกคนต้องให้กำลังใจญาติอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากให้กำลังใจผู้ป่วย พวกเราจะคอยบอกอยู่เสมอว่าอย่าพึ่งท้อเพราะหมอกับพยาบาลก็ช่วยกันอย่างเต็มที่ อาจารย์ธิติพงษ์ท่านทุ่มเทเต็มที่ มาดูอาการตลอด แม้ตีสองตีสามตื่นก็จะโทรศัพท์มาถามอาการตลอด ซึ่งก็ทำให้ญาติยิ้มได้และมีกำลังใจดูแลผู้ป่วยต่อไป

ผู้ป่วยถอดท่อช่วยหายใจได้แค่วันเดียวก็ไม่ไหว ไม่ยอมไอขับเสมหะออก ไม่ยอมนั่งฝึกหายใจ ทำให้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ เป็นแบบนี้ 2 ครั้ง ทำให้แพทย์ต้องเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจอาการของผู้ป่วยขึ้นๆลงๆแบบนี้ระยะหนึ่ง แพทย์ได้ให้การรักษาทุกวิถีทาง เจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยกันให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติควบคู่กันไปเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ผู้ป่วยเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน ปัสสาวะไม่ออก เข้าสู่ภาวะวิกฤคมากขึ้น ใส่เครื่องพยุงหัวใจ(IABP) ต้องทำการฟอกไตข้างเตียง ญาติมีความวิตกกังวลมากขึ้น พยายามทำทุกๆอย่างให้ผู้ป่วย ติดตามถามอาการมากขึ้นและยังคงมาเยี่ยมสม่ำเสมอเช่นเดิมไม่เคยขาด ระยะหลัง จะมีน้ำมนต์ ด้ายสายสิญจน์ พระเครื่องและดอกพุทธรักษาใส่ถุงเล็กๆมาให้ผู้ป่วยทุกวัน

ด้านอาจารย์และพยาบาลเจ้าของไข้จะแจ้งอาการให้ญาติทราบทุกวัน ทุกครั้งที่ญาติเข้าเยี่ยม ทำให้ญาติทราบแผนการรักษา และความก้าวหน้าของโรคไปพร้อมๆกันอยู่เสมอด้วยความหวังว่าอยากให้ผู้ป่วยดีขึ้นและขอให้ทำการรักษาทุกทางรวมถึงการขอให้ปั๊มหัวใจเมื่อหัวใจหยุดเต้น ซึ่งทีมผู้ให้การรักษาทุกคนก็รับทราบและเคารพการตัดสินใจของญาติ

ญาติทุกคนของผู้ป่วยเอาใจช่วยผู้ป่วยเต็มที่ แพทย์เจ้าของไข้ก็รวมถึงทีมการรักษาทุกคน ให้กำลังใจ ดูแลทั้งผู้ป่วย ญาติ ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือน แต่อาการของผู้ป่วยกลับแย่ลงในขณะที่ให้การรักษาเต็มรูปแบบทุกอย่าง ผู้ป่วยต้องได้รับยานอนหลับ ญาติก็รับทราบและต้องการให้ผู้ป่วยได้พักหลับมากกกว่าตื่นมาแล้วมีอาการกระสับกระส่าย

จนกระทั่งวันที่ความดันโลหิตผู้ป่วยลดต่ำลงอย่างมาก ถึงแม้จะมีการให้ยาเค็มที่ ใส่เครื่องพยุงหัวใจ(IABP) ต้องทำการฟอกไตข้างเตียง รวมทั้งตัดสินใจแจ้งให้ญาติทุกคนทราบถึงวาระสุดท้ายของผู้ป่วย อนุญาตให้ญาติผู้ป่วยทุกคนอยู่เฝ้าอาการเพื่อดูแลผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต ตลอดเวรเช้าพยาบาลเจ้าของไข้และเจ้าหน้าที่ทุกคนคอยให้กำลังใจญาติด้วยการพูดคุย อำนวยความสะดวกในการประกอบกิจกรรมต่างๆตามความเชื่อของญาติแต่เนื่องจากปริมาณยาที่ให้ผู้ป่วยยังเหลืออยู่มาก ประกอบกับมีอุปกรณ์ช่วยการทำงานของหัวใจต่างๆอยู่ ตลอดเวรเช้าความดันโลหิตของผู้ป่วยจึงคงสภาพอยู่ที่ 40-50 mmHg อัตราการเต้นของหัวใจ 70-80 ครั้งต่อนาที ผู้ป่วยต้องได้รับยาเพื่อควบคุมให้อาการสงบ ส่วนญาติทุกคนอยู่เฝ้ารอบๆเตียงด้วยความเศร้าโศก และอิดโรย

เวรบ่ายของวันนี้ข้าพเจ้าได้รับมอบให้เป็นพยาบาลเจ้าของไข้ของคุณตา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ดูแลนี้ เพราะตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาพยาบาลทุกคนได้ผลัดเปลี่ยนกันดูแลคุณตากันทุกคน คนละหลายๆครั้ง จนทุกคนคุ้นเคยกับครอบครัวคุณตาเป็นอย่างดี แม้เจอกันข้างนอกคุณยายก็จะจำได้และทักทายกันดีเสมอ แต่ความรู้สึกในการดูแลคุณตาในวันนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา วันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตของคุณตา เป็นวันแห่งการสูญเสีย เป็นวันที่ความหวังทั้งหมดของญาติผู้ป่วยหมดลง

หลังจากเซ็นชื่อรับงานเวรบ่ายวันนี้แล้วรับรู้ได้ว่ามีงานหนักรออยู่ ไม่ใช่หนักกายแต่หนักใจ เพราะนี่คือภาระงานที่ทีมการรักษาทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าได้ให้การดูแลทั้งกายและใจแก่ผู้ป่วยและญาติเหมือนเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ครั้งหนึ่งเคยเปิดเพลงให้คุณตาฟัง มีเพลงๆหนึ่งเนื้อเพลงท่อนหนึ่งกล่าวว่า “…ใจสู้หรือเปล่า ไหวไม๊ บอกมา…”จึงถามคุณตาระหว่างดูแลคุณตาอยู่ด้วยประโยคนี้บางครั้งก็ถามสั้นๆว่า”..ไหวไม๊..” และทุกครั้งที่ดูแลคุณตาก็จะร้องท่อนนี้ถามคุณตาอยู่บ่อยๆ คุณตาจะตอบสั้นๆว่า “ ไหว”..ด้วยเสียงอันแผ่วเบา

แต่ก่อนหน้านี้ 2 วันได้เดินผ่านเตียงคุณตา คุณตากวักมือเรียกและ จับมือ ข้าพเจ้า บอกด้วยเสียงอันแผ่วเบาว่า “ไม่ไหวแล้ว” ตัวข้าพเจ้าทราบความก้าวหน้าของโรคอยู่แล้ว ได้แต่บอกตาว่า “ไม่ไหวไม่เป็นไรนะคะ ตานอนหลับพักผ่อนให้สบายดีกว่านะคะ” คุณตาพยักหน้าแล้วก็หลับตา ข้าพเจ้าคิดในใจว่านี่คงเป็นสิ่งที่เรียบง่าย สงบนิ่งที่สุดที่จะทำให้คุณตาได้

หลังจากรับเวรเสร็จ รับทราบแผนการรักษาทั้งหมดที่มาตลอดเวรเช้าแล้ว ประกอบกับท่าทางอันวิตกกังวล และอิดโรยของญาติแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ปรึกษาแนวทางการให้การพยาบาลกับอาจารย์แพทย์เจ้าของไข้ มีความเห็นตรงกันว่าขณะนี้หัวใจของผู้ป่วยอยู่ได้ด้วยยาและอุปกรณ์ต่างๆ ควรให้ข้อมูลแก่ญาติเพื่อหาแนวทางร่วมกันเรื่องการให้ยา ในกรณีที่ยาแต่ละตัวหมดลง ว่าจะให้ต่อยาไปเรื่อยๆหรือหยุดให้ยาเมื่อยาหมดลง ลูกสาวได้ไปปรึกษาญาติทุกคน หลังจากนั้นอีกประมาณครึ่งชั่วโมง ลูกสาวคุณตาเข้ามาถามข้าพเจ้าว่า “ยังไงวันนี้พ่อก็จะไปแล้วใช่ไม๊คะ” ข้าพเจ้าตอบว่า “ค่ะ..อาจารย์อธิบายให้ทราบแล้วใช่ไม๊คะ” ลูกสาวคุณตาจึงได้บอกกับข้าพเจ้าว่า “ ค่ะ พี่ปรึกษาแม่แล้ว ถ้ายาหมดก็ไม่ต่อแล้ว..จะได้ไม่ทรมาน” ระหว่างนั้น น้องสาวของคุณตาซึ่งยืนอยู่ข้างๆก็ถามว่า “ ถ้ายาหมดแล้วตาจะไปทันทีเลยไม๊…อยากให้ตาอยู่อีกซัก 2 ชั่วโมงเพราะมีญาติส่วนหนึ่งกำลังเดินทางมา” ข้าพเจ้าจึงอธิบายให้ญาติทุกคนทราบว่ายาแต่ละตัวให้ไม่เท่ากันและยาจะหมดไปทีละตัวไม่ได้หมดพร้อมๆกัน และกว่ายาจะหมดต้องใช้เวลาอีก สองสามชั่วโมง ซึ่งทำให้ญาติทุกคนมีสีหน้าผ่อนคลายลงบ้าง

ต่อจากนั้นข้าพเจ้าได้อธิบายถึงความจำเป็นในการใช้เครื่องฟอกไตข้างเตียงให้ญาติทุกคนรับทราบ ญาติเห็นตรงกันว่าให้หยุดการฟอกได้ ข้าพเจ้าจึงทำการหยุดเครื่องระหว่างขั้นตอนการหยุดเครื่องก็อธิบายให้ญาติรับทราบไปด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่เพื่อให้ญาติเข้าใจ ข้าพเจ้าไม่ได้นำเครื่องออกจากข้างเตียงทันทีเพราะไม่ต้องการให้ญาติรู้สึกว่าเราหยุดให้การดูแลไปโดยสิ้นเชิง

ช่วงเวลาสองสามชั่วโมงที่รออาการของผู้ป่วย ญาติได้เตรียมเสื้อผ้าสำหรับใส่กลับบ้านให้ผู้ป่วย เตรียมทรัพย์สินเงินทองใส่มือผู้ป่วยตามความเชื่อ และเฝ้าอยู่ไม่ห่าง ในขณะเดียวกันข้าพเจ้าได้ให้การดูแลไปตามอาการและดูแลความเรียบร้อยรอบๆเตียง พูดคุยกับญาติเป็นระยะๆ แต่สิ่งที่ไม่อยากได้ยินคือเสียง alarm เพราะนั่นหมายถึงยาที่ให้กำลังหมดไปทีละตัวๆ ไม่กี่นาทีความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ลูกสาวที่นั่งกุมมือคุณตาอยู่หันกลับมามองข้าพเจ้าแล้วถามว่า “(ความดัน)ลงจริงๆด้วย…ยังไงดีล่ะ..พี่..ต้องทำยังไงต่อดี” ความรู้สึกของข้าพเจ้าตอนนั้นเหมือนมีอะไรจุกคอ..จุกอก…แต่ก็พยายามควบคุมอารมณ์และน้ำเสียงให้เป็นปกติ แล้วบอกกับลูกสาวตาว่า “มีคนบอกว่าสัมผัสสุดท้ายที่เหลืออยู่ของคนเราคือ หู..พี่ลองพูด ลองบอกถึงสิ่งดีๆของพ่อให้ท่านฟัง คุณตาจะได้เดินทางไปในทางที่ดีนะคะ” ลูกสาวคุณตาพยักหน้าแล้วลุกขึ้นพูดข้างหูคุณตา ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ต่อด้วย ต้องรีบเดินออกมาเพราะรู้ตัวว่าในเวลานั้นน้ำตาเริ่มคลอเบ้า ต้องเดินออกมาก่อนที่น้ำตาจะไหลเพื่อเรียกสติในการทำหน้าที่ทีมให้การพยาบาลต่อไป ระหว่างนั้นญาติที่กำลังเดินมาตลอดจนเพื่อนๆรุ่นน้องของคุณตาเริ่มทยอยเปลี่ยนกันเข้ามาเยี่ยมและปลอบโยนให้กำลังใจญาติ

ถึงแม้จะเป็นเวลาเกือบหนึ่งทุ่มซึ่งหมดเวลาเยี่ยม และมีผู้ป่วยที่พึ่งผ่าตัดเสร็จทยอยออกจากห้องผ่าตัดย้ายเข้ามา แต่ทางหอผู้ป่วยก็อนุญาตให้ญาติอยู่เฝ้าได้ตลอดเวลา… ในเวลานั้นข้าพเจ้ามีความคิด ที่อยากจะเปิดซีดีธรรมะต่างๆที่หอผู้ป่วยเตรียมไว้สำหรับให้ผู้ป่วยฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ฟัง แต่ต้องเสียบหูฟังให้ผู้ป่วยฟัง จึงเข้าไปถามคุณยายภรรยาของผู้ป่วยว่าปกติคุณตาชอบฟังธรรมะ สวดมนต์หรือเปล่า คุณยายบอกว่าปกติคุณตาไม่ชอบฟังสวดมนต์ ไม่ต้องเอามาให้ก็ได้ ความตั้งใจของข้าพเจ้าจึงหยุดไว้เพียงเท่านั้น เปิดโอกาสให้ญาติเฝ้าอยู่อย่างเงียบๆต่อไป

จนกระทั่ง ความดันโลหิตของผู้ป่วยอยู่ที่ประมาณ 20 mmHg อัตราการเต้นของหัวใจประมาณ20-25 ครั้งต่อนาที ขณะนั้นผู้ป่วยใส่เครื่องพยุงหัวใจ(IABP) อยู่ จึงปรึกษาอาจารย์ธิติพงษ์ เห็นว่าเครื่องไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว อาจารย์จึงหยุดการใช้เครื่องพยุงหัวใจ สัญญาณชีพของผู้ป่วยเริ่มลดลงอีก ข้าพเจ้าอธิบายให้ญาติทราบว่าขณะนี้หัวใจผู้ป่วยเต้นช้าลงมาก ความดันโลหิตเหลือน้อยมาก เราจะบอกเวลาเสียชีวิตได้เมื่ออัตราการเต้นของหัวใจในเครื่องที่ติดตามสัญญาณชีพของผู้ป่วยเป็นศูนย์

จนกระทั่งในเวลา 21.30น. ผู้ป่วยก็ได้จากเราไป ญาติทุกคนพูดตามๆกันว่า “ เป็นศูนย์แล้ว..ตาไปแล้วใช่ไม๊..” ข้าพเจ้าบอกญาติรับทราบทั่วกันว่า “คุณตาไปแล้วนะคะในเวลา 21.30น.” ญาติทุกคนสงบลง…ไหว้คุณตา..บางคนร้องไห้..ลูกทั้งสามคนของคุณตาอยู่ในอาการที่ควบคุมสติได้เป็นอย่างดี สอบถามว่าขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าและเจ้าหน้าที่ในเวรได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบของโรงพยาบาลซึ่งญาติก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

หลังจากทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วยแล้ว สวมชุดที่ญาติเตรียมมาซึ่งเป็นชุดราชประแตน ข้าราชการขาว มีทั้งหมด 5 ชิ้น มีถุงเท้า รองเท้า ครบชุด ซึ่งแม้จะเป็นชุดที่ใส่ยากมากแต่พวกเราก็พยายามใส่ให้และได้เปิดโอกาสให้ลูกชายทั้งสองคนของคุณตามีส่วนร่วมในการแต่งกายให้ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งลูกชายทั้งสองของคุณตามีความมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นอย่างมาก หลังจากแต่งตัวให้คุณตาเรียบร้อยข้าพเจ้าแจ้งญาติทราบว่าจะมีการทำพิธีขอขมาแก่คุณตา เชิญแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และญาติทุกคนทำพิธีร่วมกัน ซึ่งทุกคนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งญาติก็ได้เตรียมน้ำส้มป่อยและมาลัยดอกมะลิมาร่วมวางด้วย ญาติแจ้งความประสงค์จะนำศพออกโรงพยาบาลในวันรุ่งขึ้นเพื่อตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดเจดีย์หลวง ข้าพเจ้าจึงให้คำแนะนำเรื่องขั้นตอนต่างให้ญาติรับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

สิ่งทีได้รับหลังจากที่ทุกสิ่งปิดฉากลง คือคำขอบคุณ และรอยยิ้มขอบคุณที่พยายามยิ้มให้บนใบหน้าที่เศร้าหมองและเปื้อนคราบน้ำตา ของใช้ทุกอย่าง เครื่องดื่ม ดอกไม้ของคุณตา ญาติมอบให้หอผู้ป่วยเพื่อมอบให้ผู้ป่วยคนอื่นๆได้ใช้ประโยชน์ สิ่งของมีค่าต่างๆที่ใส่ให้ผู้ป่วยก่อนเสียชีวิตได้เช็คคืนญาติทุกชิ้น เงินซื้อเตียงตามความเชื่อของญาติที่วางไว้ใต้เตียงจำนวน 500 บาท ญาติขอให้ทางหอผู้ป่วยนำไปถวายที่ตึกสงฆ์ซึ่งก็ได้ดำเนินการให้เป็นที่เรียบร้อย